posttoday

ลดน้ำหนักด้วย ‘เวลาในการกิน’

13 พฤศจิกายน 2561

แค่เรียนรู้เวลาในการกิน คุณก็อาจผอมได้ ปรับเปลี่ยนเวลากินอาหารมื้อเช้าช้ากว่าเดิม 1 ชั่วโมงครึ่ง

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

แค่เรียนรู้เวลาในการกิน คุณก็อาจผอมได้ ปรับเปลี่ยนเวลากินอาหารมื้อเช้าช้ากว่าเดิม 1 ชั่วโมงครึ่ง และกินมื้อเย็นให้เร็วกว่าเดิม 1 ชั่วโมงครึ่ง พิสูจน์แล้วว่าเพิ่มการเผาผลาญและลดไขมันส่วนเกินได้มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่กินเวลาเดิม ไม่เกิน 10 สัปดาห์เห็นผล!

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Intermittent Fasting (IF) มันคือหนึ่งในวิธีจัดการกับความอ้วนอย่างได้ผล ได้แก่ การจัดเวลาในการรับประทานอาหาร โดยแบ่งให้มีช่วงเวลาอด และเวลากินเป็นช่วงๆ ไป ไอเอฟกำลังเป็นเทรนด์ในต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าช่วยให้ร่างกาย
เผาผลาญไขมันส่วนเกินที่ร่างกายสะสมไว้

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และโภชนาการ เจอร์นัล ออฟ นิวตริชันแนล ไซนซ์ (29 ส.ค. 2018) โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอรเรย์ ประเทศอังกฤษ พวกเขาศึกษาเรื่องการปรับเวลาในการกินอาหารของคนปกติ (ไม่มีภาวะโรค)

สิ่งที่พวกเขาพบคือ การขยับเวลากินอาหารเช้าให้ช้าลงไปกว่าปกติเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง และปรับเวลากินอาหารมื้อเย็น หรือมื้อสุดท้ายของวันให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงครึ่งเช่นกันนั้น มีผลทำให้กลุ่มตัวอย่าง ลดไขมันส่วนเกินไปได้คิดเป็นอัตรากว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมให้กินอาหารตรงเวลาปกติของตัวเอง

ผลต่างของอัตราลดลงของไขมันในสองกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว วัดเปรียบเทียบกันหลังจบการวิจัย ซึ่งใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 10 สัปดาห์ เทียบกับก่อนเริ่มงานวิจัยของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ยังพบด้วยว่าการจัดเวลาใหม่ มีผลให้กลุ่มตัวอย่างรับปริมาณพลังงานจากอาหารเช้าเข้าสู่ร่างกายน้อยลงกว่าปกติ 25% ด้วย

โจนาธาน จอห์นสตัน หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า การวิจัยเกี่ยวกับการจัดเวลาในการกินอาหารแต่ละมื้อ แม้ว่าปัจจุบันยังเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก แต่ก็เริ่มได้ผลการศึกษาที่เป็นความหวังใหม่ๆ ในการปรับปรุงสุขภาพของคนเราให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่มากมายนัก

โจนาธานกล่าวต่อไปว่า กลุ่มทดลองที่ได้ขยับเวลากินมื้อเข้าและมื้อเย็น มีปริมาณไขมันในร่างกายลดลงมากถึง 2% ขณะที่กลุ่มที่ควบคุมไขมัน (ด้วยอาหาร) ลดลงเพียง 1% เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าปกติแล้วกลุ่มทดลองจะรับปริมาณพลังงานจากการรับประทานอาหารเข้าสู่ร่างกายเฉลี่ยที่ 2,091 แคลอรี/วัน

หากเมื่อเปลี่ยนเวลาการกิน พบว่าอัตราการรับพลังงานเข้าสู่ร่างกายของคนเหล่านี้ ลดลงไปอยู่เฉลี่ยที่ 1,553 แคลอรี/วัน ซึ่งผลการประมวลจากแบบสอบถามกลุ่มทดลองพบว่า พวกเขามีแนวโน้มรับประทานอาหารน้อยลง โอกาสในการกินก็น้อยลง การกินอาหารว่างก็น้อยลงด้วย

โจนาธานวิเคราะห์ให้ฟังว่า ทีมวิจัยเชื่อว่าที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะ 2 ปัจจัยหลัก กล่าวคือ ประการแรก น่าจะเป็นเพราะเวลามื้ออาหารเปลี่ยนในมื้อเช้าและมื้อเย็นนั้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับจังหวะในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และอีกประการหนึ่ง คือพอช่วงเวลากินทั้งหมดของวันเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้เวลาที่ร่างกายต้องอดอาหารนั้น ยืดออกไปโดยปริยาย

“เชื่อว่าน่าจะเป็นผลรวมกันของทั้งสองปัจจัยดังกล่าวนี้ ที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างในโปรแกรมเปลี่ยนเวลาการกิน ได้รับพลังงานเข้าสู่ร่างกายน้อยลง ไขมันส่วนเกินน้อยลง”

ทีมนักวิจัยยังกล่าวต่อไปว่า การศึกษาทดลองยังจำเป็นต้องมีการทำวิจัยที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ และลึกกว่านี้ เช่น ขยับเวลาการกินในช่วงที่แตกต่างกันออกไปให้หลากหลายกว่านี้ ก่อนที่จะสรุปข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ได้

ข้อด้อยของการเปลี่ยนเวลาในการกินมื้ออาหารนั้นพบว่า กลุ่มทดลอง 57% ยอมรับว่าพวกเขาไม่สามารถรักษาการเปลี่ยนเวลากินแบบนี้ในระยะยาวได้ เพราะวิถีชีวิต การกินข้าวกับครอบครัวหรือการเข้าสังคม เป็นต้น

“นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร การจัดเวลามื้ออาหาร ต้องกล่าวว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ขยับและถ่างเวลากินของมื้ออาหารแล้ว การเลือกชนิดและประเภทของอาหาร ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” โจนาธานเล่