posttoday

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้บริหารที่เชื่อหลัก 'ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา'

10 พฤศจิกายน 2561

เริ่มต้นใหม่อีกครั้งสำหรับ แมนพงศ์เสนาณรงค์

โดย บงกชรัตน์ สร้อยทอง ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี 

เริ่มต้นใหม่อีกครั้งสำหรับ แมนพงศ์เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา สำหรับนักวาณิชธนกิจมือฉมังอีกคนหนึ่งของวงการตลาดทุน

วงการตลาดทุน ถือว่าเขาไม่ใช่คนอื่นคนไกลเลย แต่เป็นคนใกล้และมีความผูกพันกันมานาน โดยเฉพาะงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำบริษัทเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

กว่าจะมาเส้นทางสายนี้อาจจะไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะมา เพราะเขาเลือกเอนทรานซ์ที่จะเรียนหมอเป็นอันดับ 1 แต่มาติดอันดับ 4 และเรียนบริหารธุรกิจ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ โดยเหตุผลที่เลือกการเงินมากกว่าการจัดการหรือการตลาด เพราะคิดว่าต้องเลือกเรียนอะไรที่มันต้องเป็นหลักเหตุผล ประหนึ่งว่าเป็นวิชาชีพที่แท้จริง

จบมาเริ่มทำเคาะกระดาน หรือเจ้าหน้าที่การตลาดที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย 1 ปี และตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ สาขา Finance & Quantitative จาก Cleveland State University สหรัฐอเมริกา จากเด็กที่เรียนปริญญาตรีเกรดเฉลี่ยแบบพอได้ กลับรู้สึกสนุกและชอบ จนเกรดปริญญาโทดีกว่ามาก เพราะชอบในเรื่องการทำกรณีศึกษาเป็นหลัก

กลับมาเริ่มทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กับงานวาณิชธนกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย ประกอบกับยุคนั้นเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น การปรับเปลี่ยนเป็นระบบสัมปทานของรัฐ และมีการวางโครงสร้างพื้นฐานและต้องใช้การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้บริหารที่เชื่อหลัก 'ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา'

“ตอนนั้นเรียกว่ามีโอกาสได้ทำตั้งแต่ขั้นพื้นฐานทุกอย่าง หาข้อมูล งานเอกสาร ทำหนังสือยื่นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเพิ่งเปิดได้มาเพียง 2 ปี จองหุ้น ทะเบียนหุ้น วางแผนโครงสร้างทางการเงินให้ลูกค้า และมีดีลหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากที่ภัทร”

จนภัทรจะตั้งหน่วยงาน Equity Capital Market (ECM) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างงานวาณิชธนกิจกับฝ่ายขาย และทำหน้าที่ให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ซื้อที่ต้องการของที่ถูกที่สุด และผู้ขายที่อยากขายสินค้าที่แพงสุด โดยต้องมีจุดยืนในราคาที่เหมาะสมไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ต้องเข้าใจในข้อมูลเพื่อสามารถดึงจุดขายออกมา ทำสำรวจราคาจากนักลงทุนสถาบัน (บุ๊กบิวดิ้ง) นำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนสถาบันฟัง วิธีการเพิ่มทุน การขายหุ้นไอพีโอ รวมทั้งได้เรียนรู้แบบครูพักลักจำมาจากพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ถือหุ้นที่เป็นโบรกเกอร์ต่างประเทศมากมาย

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 เขาเลือกออกจากบ้านเก่าที่อยู่มา 16 ปี ดีลไอพีโอตัวสุดท้ายคือการนำบริษัท เอสโซ่ เข้าตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะอยู่ที่ บล.ไทยพาณิชย์ เพราะเห็นว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น จากที่โบรกเกอร์ต่างประเทศต้องไปอยู่ภายใต้แบงก์ จึงมองว่าน่าจะสามารถผสมผสานทั้งตลาดทุนและตลาดเงินเข้าด้วยกันได้ เช่น การออกผลิตภัณฑ์ตราสารทุนในแบงก์ และตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่บริษัทลูกของเครือแบงก์กรุงไทย

ก่อนที่จะกลับมาในสายวาณิชธนกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งที่ บล.กสิกรไทย ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นช่วงที่ต่างประเทศมีปัญหาต่อเนื่องจากวิกฤตซับไพรม์ ทำให้เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่และเอเชียเป็นส่วนมาก และให้บริษัทต่างๆ ขายไอพีโอเพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ จนไอพีโอกลับมาฮอตหลังจากหายไปกว่า 4 ปี โดยจุดยืนของกสิกรไทยอย่างหนึ่งคือ การมองหาลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะและเป็นธุรกิจที่จะเติบโตในอนาคต

จนได้รับการชวนจาก ดร.ภากรปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. คนปัจจุบัน ให้ลองเปลี่ยนหมวกจากวาณิชธนากรมาเป็นผู้ที่ดูแลภาพใหญ่เรื่องการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) มาแล้ว
พร้อมกับโจทย์ให้ช่วยปรับกระบวนการทำงานในเรื่องการบริการที่เป็นแนวคิดเรื่องสายงานที่ปรึกษาให้กับ บจ.มากขึ้น

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้บริหารที่เชื่อหลัก 'ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา'

“โดยรวมคือมาปรับมากกว่าจะมาเปลี่ยนแปลงการทำงาน และสิ่งที่ต้องมุ่งไปคือ ‘คน’ ที่เป็นหัวใจหลักของงานตลาดทุนเพราะเป็นเรื่องของงานบริการ ทั้งหมดนี้เพื่อให้การปรับปรุงกระบวนการให้การบริการแบบ ‘วันสต็อปเซอร์วิส’
มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

หลักการทำงานของผู้บริหารที่เพิ่งเข้าวัย 50 ปี ยึดปฏิบัติมาตลอดคือ “เชื่อในรายละเอียด” เพราะแมนพงศ์เป็นคนไม่เชื่อการมองภาพใหญ่เพียงอย่างเดียว

“ผู้บริหารที่มองแต่ภาพใหญ่อย่างเดียวจะไม่เห็นรายละเอียดของเนื้องาน เพราะจากประสบการณ์ที่ทำงานกับต่างชาติมาไม่เคยเห็นผู้บริหารคนไหนไม่ใส่ใจในรายละเอียด ‘ไม่เชื่อว่าคนคนเดียวจะสามารถทำทุกอย่างได้’ ที่ผ่านมาลูกน้องในทีมต้องเก่งกว่าผมในสิ่งที่คุณทำและรับผิดชอบ เพราะมีเวลาดูดีลนั้น 24 ชั่วโมง ปกติให้ดูคนละ 3 ดีล ขณะที่ผมมีเวลาดูดีลหรือความลึกในรายละเอียดไม่เท่าเขา เพราะต้องดูทีมทุกคน แต่ถ้าดันไปรู้รายละเอียดที่มากกว่าเจ้าของดีล แสดงว่าปัญหากำลังจะเกิดแล้ว”

สำหรับมุมมองการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ แมนพงศ์ บอกว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณพ่อและคุณแม่

“เพราะเรื่องการเรียนกับการทำงานที่บ้านจะให้อิสระในการเลือกและตัดสินใจเองทุกอย่าง ส่วนแนวทางการใช้ชีวิตที่สำคัญมีอยู่ 3-4 ข้อ คือข้อแรก ‘มนุษย์ทุกคนต้องมีสัมมาชีพ’ ที่จะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยสุจริต และเลี้ยงชีพได้โดยที่ต้องไม่ไปเบียดเบียนใคร

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้บริหารที่เชื่อหลัก 'ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา'

ข้อสอง คือคำที่แม่สอนและเน้นย้ำเสมอ ‘ทำดีหรือทำชั่วอยู่ที่ตัวเราเอง’ ถ้าคุณทำดีคุณก็ควรได้รับสิ่งดีๆ จากการกระทำขณะเดียวกันถ้าทำชั่วมาก็ต้องยอมรับผลจากการกระทำเดียวกัน แล้วจะไม่ไปช่วยด้วยเช่นกัน

ข้อสาม ซึ่งเป็นคำที่แม่รับหน้าที่ในการถ่ายทอดจากคุณพ่อมาคอยสอนให้เขาตลอด เพราะคุณพ่อเสียชีวิตไปตั้งแต่เด็กนั่นคือ ‘คุณเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่คุณสามารถทำโลกให้ดีขึ้นได้’ การที่คิดจะเปลี่ยนทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือไม่มีใครสามารถทำได้ แต่การที่เราทำหน้าที่และรับผิดชอบตัวเราเอง และไม่เบียดเบียนใครก็มีส่วนช่วยทำให้โลกดีขึ้นได้

และข้อที่สี่ คือ ‘การแข่งกับตัวเองและต้องประเมินตัวเองตลอดเวลา’ ซึ่งทำให้ไม่มีความอิจฉาริษยาที่เป็นบ่อเกิดการทำลายล้างทั้งตัวเองและเพื่อนรอบข้าง”

ทั้งนี้ แมนพงศ์ บอกว่าจะเห็นได้ว่าแนวทางปฏิบัติการใช้ชีวิตทุกข้อจะมีการเชื่อมโยงกันหมด เพราะถ้าเรามีสัมมาชีพของตัวเอง รู้จักทำมาหากิน รู้จักปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราไม่อดตาย แล้วไม่ต้องไปเบียดเบียนหรือทำไม่ดีกับคนอื่น ขณะเดียวกันหากรู้จักประเมินตัวเองตลอดเวลาว่าเราทำดีทำชั่ว ไม่อยากได้หรืออิจฉาริษยาใคร เราก็จะไม่ต้องไปทำไม่ดีกับผู้อื่น

“ตลอดเวลาที่ทำงานมา ผมไม่เคยมีปัญหากับการบริหารจัดการเงินเดือนที่ได้รับ ไม่เคยมีเงินเดือนไม่พอใช้ ยังจำได้จนทุกวันนี้ เงินเดือนเดือนแรกหลังหักภาษีแล้วอยู่ที่ 3,953 บาท ก็ยังพอใช้ สิ่งที่ผมจะสุรุ่ยสุร่ายมีอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องการศึกษาของลูกเท่านั้น”

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้บริหารที่เชื่อหลัก 'ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา'

เขาบอกชัดเจนว่า แม้จะอยู่ในวงการการเงิน แต่ไม่เคยสอนเรื่องการบริหารเงินหรือสอนลูกในการสร้างความมั่งคั่ง แต่ทุกอย่างจะทำให้เขาเห็นเองว่า ถ้าอนาคตอยากจะสบายก็ต้องทำงานหาสัมมาชีพที่เลี้ยงชีวิตคุณได้

“ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศทั้งสองคน แต่ไม่เคยให้ลูกนั่งบิซิเนสคลาส แต่พ่อกับแม่นั่ง ซึ่งลูกก็ถามว่าทำไมเขาไม่ได้นั่ง ก็บอกชัดเจนว่า นั่นคือ เงินของพ่อ ซึ่งถ้าคุณอยากนั่งบิซิเนสคลาสคุณก็ต้องทำงานและใช้เงินของคุณเอง รวมถึงถ่ายทอดต่อคือการทำดีทำชั่วอยู่ที่ตัวคุณ เพราะถ้าคุณทำดี โอเคพ่อแม่ยินดีด้วย แต่ถ้าคุณไปทำสิ่งไม่ดีมาผลก็อยู่กับเธอ พ่อไม่ได้ช่วยนะ

สิ่งที่บอกเขาคือ พ่อให้สมบัติเรื่องการเรียนเท่านั้น เพราะจะเป็นสิ่งเดียวที่จะติดตัวคุณไปตลอดชีวิต ซึ่งถ้าเขาไม่จริงจังก็เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องรับผลเองในอนาคต พ่อมีแค่เงินส่งเรียนหนังสือให้มากสุด ถ้าไม่จริงจังแล้วเงินหมดก็คือหมด ตอนนี้ลูกสาวคนโตเรียนจบปริญญาตรี ด้านนักเขียนวรรณกรรมที่ใช้ภาษาอังกฤษ ถือว่าเขามีสัมมาชีพเองแล้ว เปิดกว้างให้เขาเลือกใช้ชีวิตและเป้าหมายที่เขาตั้งไว้เอง

ส่วนลูกชายกำลังเรียนปริญญาตรีที่ให้อิสระทางความคิดเขาเลือกเรียนเลือกทางเดินตัวเอง เพราะไม่อยากให้เขาคิดเหมือนพ่อ ชอบอะไรเลือกอะไรทำเลย เพราะไม่อยากมาได้ยินทีหลังว่า ก็เพราะพ่อให้เรียนด้านนี้ทำอันนี้สิ สุดท้ายคุณจะมาโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะให้โอกาสคุณเลือกเองแล้ว”

นี่คือคำทิ้งท้าย หลักการสอนลูกที่ผสมหลักการทำงานและแนวทางการใช้ชีวิต ด้านหนึ่งก็เปิดกว้างและอิสระ แต่ก็ไม่ควรทิ้งในรายละเอียดของการใช้ชีวิต สำหรับนักบริหารแวดวงตลาดทุนที่ชื่อ แมนพงศ์ เสนาณรงค์