posttoday

พรรษชล ฉัตรอุทัย ความตั้งใจนำสู่ความสำเร็จ

05 พฤศจิกายน 2561

เมื่อไม่นานมานี้ในเวทีการแข่งขัน “โครงการการจัดการประชุมนานาชาติ (International Seminar on Technology for Sustainabillity 2018) หรือไอเอสทีเอส 2018”

โดย...เรื่อง โยธิน อยู่จงดี

เมื่อไม่นานมานี้ในเวทีการแข่งขัน “โครงการการจัดการประชุมนานาชาติ (International Seminar on Technology for Sustainabillity 2018) หรือไอเอสทีเอส 2018” ซึ่งเป็นการแข่งขันระดมสมองของนักศึกษาระดับนานาชาติมีนักศึกษาจาก 5 ประเทศ ร่วมแข่งขันกว่า 30 ทีม

เพื่อคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจของภาคเอกชนและทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาครอง ได้แก่ ทีมลมพระยา 2 ซึ่งมีเด็กไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกคือ พรรษชล ฉัตรอุทัย สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมและเทคโนโลยีนานาชาติ และ พัชรธัญ สุทธิชาติ จากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกันสร้างผลงานกับเพื่อนๆ ชาวฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ได้อย่างน่าประทับใจ

พรรษชล อาสาเป็นตัวแทนเล่าถึงความสำเร็จในครั้งนี้ของเธอกับเพื่อนๆ ว่า โครงการนี้เป็นการแข่งขันที่มีนักศึกษาต่างประเทศเข้ามาร่วมทีม เริ่มต้นการแข่งขันด้วยการสุ่มสมาชิกในทีมเราจะไม่รู้เลยว่าใครจะมาอยู่ร่วมทีมกับเรา นอกจากสมาชิกในทีมจะเลือกไม่ได้แล้วโจทย์ที่ต้องทำก็เลือกไม่ได้ด้วยเช่นกัน

พรรษชล ฉัตรอุทัย ความตั้งใจนำสู่ความสำเร็จ

ซึ่งสมาชิกในทีมที่เป็นเพื่อนชาวต่างชาติ ได้แก่ นิโคล เบอร์นาเดตเต้ ออง ควินหลิง คณะไอที เทอมาเซก โพลีเทคนิค ประเทศสิงคโปร์ (Nicole Bernadette Ong Qianling : Information Technology, Termasek Polytechnic) ลี ลุง แทต คณะวิศวคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ออฟ โวเคชันแนล เอดดูเคชั่น (LI Lung Tat : Computer Engineering, Hong Kong Institute of Vocational Education) และเรียว ซูกายะ คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยโอยาม่า (Ryo Sugaya : Architecture, NIT, Oyama College)

“โจทย์การแข่งขันจะมีทั้งหมด 5 หัวข้อใหญ่ แล้วแต่ละหัวข้อก็จะมีโครงการย่อยลงไปอีก โดยโจทย์นั้นจะเป็นความต้องการจริงของบริษัทที่มาเข้าร่วมโครงการนี้ ความยากอันดับแรกอยู่ตรงที่ เราก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสื่อกลางระหว่างกัน แต่คนก็สื่อสารภาษาอังกฤษกันคนละสำเนียง พูดไปเข้าใจตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้างก็มี

ดังนั้น ภาษาจึงค่อนข้างที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการสื่อสาร ต่อมาก็คือพื้นฐานแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน บางคนไม่ได้เรียนจบทางด้านไอทีมาโดยตรง ก็ต้องมาปรับจูนกันว่าใครมีความสามารถทำอะไรด้านไหนมากที่สุด

การแข่งขันรายการนี้เราต้องเก็บตัวอยู่ที่พัทยา 7 วัน โจทย์ที่เราได้รับเป็นโจทย์ของบริษัท ลมพระยา ซึ่งเป็นบริษัทเรือนำเที่ยวในแถบ จ.ตรัง และกระบี่ เรือนำเที่ยวไปยังเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ ซึ่งเขาก็เป็นเจ้าตลาดอยู่ในแถบนั้น ความต้องการของเขาก็คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้า

พรรษชล ฉัตรอุทัย ความตั้งใจนำสู่ความสำเร็จ

ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นการตอบสนองทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ จะใช้เทคโนโลยีหรือระบบอะไรก็ได้เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจกับบริษัทของเขาสูงสุด”

หลังจากทีมได้รับโจทย์แล้วสมาชิกทุกคนต่างนำโจทย์มาตีความ โดยเริ่มจากค้นหาข้อมูลของบริษัทว่าทำอะไรบ้าง ค้นหาเสียงตอบรับของลูกค้า ค้นข้อมูลตามเว็บไซต์เกี่ยวกับบริษัทของเขาแล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาการบริการออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น สำหรับลูกค้าของบริษัท ลมพระยา โดยตรง ซึ่งลูกค้าของลมพระยาที่เข้ามาใช้บริการก็จะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ไปใช้ในรูปแบบโมบายแอพพลิเคชั่น ส่งเสริมการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวจบภายในแอพพลิเคชั่นเดียว

“สิ่งแรกที่เราคิดว่าเป็นปัญหาของบริษัทที่ลูกค้าร้องเรียนมากที่สุดก็คือเรื่องของการดีเลย์ของเรือ เวลาที่เรือประสบปัญหาต้องเลื่อนการออกเรือ ทำให้ลูกค้าต้องเสียเวลามารอต่อคิวยาวโดยไม่ทราบสาเหตุ เราจึงออกแบบแอพพลิเคชั่นให้มีการแจ้งเตือนเรื่องการดีเลย์ให้กับลูกค้าเพื่อจะได้ไม่เสียเวลามาต่อคิวรอขึ้นเรือ ลูกค้ามีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับพนักงานเดินเรือ ลูกค้าไม่สามารถให้ฟีดแบ็กกับบริษัทได้ในทันที

ดังนั้น แอพพลิเคชั่นจึงมีการนำฟีเจอร์ที่มีประโยชน์กับนักท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน เป็นผู้ช่วยสำหรับนักท่องเที่ยวตลอดทริปการเดินทางของเขา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่นตั้งแต่ขั้นตอนการบุ๊กกิ้ง แจ้งเตือนผู้ช่วยสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีฟังก์ชั่นอย่างสมาร์ท ทรานสเลเตอร์เป็นผู้ช่วยในการแปลภาษาในรูปแบบต่างๆ เช่น นักท่องเที่ยวเห็นป้ายเป็นภาษาไทยอยากจะรู้ว่าความหมายคืออะไรก็เปิดแอพและใช้กล้องหลังถ่ายไปที่ภาพก็จะเห็นข้อความแปลภาษานั้นๆ ออกมา

มีระบบเออาร์ที่สามารถเปิดกล้องจับภาพโบรชัวร์แล้วจะเห็นโมเดลและข้อมูลที่สำคัญของแหล่งท่องเที่ยว มีเครื่องมือแปลงค่าสกุลเงิน มีแชตบอตสำหรับการถามข้อมูลง่ายๆ ด้วยระบบเอไอ มีระบบตารางเวลาการท่องเที่ยว ใช้ประโยชน์จากระบบเอไอ ประมวลผลและนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ในช่วงเวลาว่างของเขา เช่น กิจกรรมแอดเวนเจอร์ ร้านอาหาร ที่บริษัทสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากค่าโฆษณา ทุกอย่างครบจบในแอพเดียว”

ซึ่งเบื้องหลังบอกได้เลยว่าไม่ได้ทำออกมาง่ายๆ เพราะแต่ละคนต่างก็มีจุดยืนของตัวเอง การหาใครสักคนเข้ามาเป็นศูนย์กลางของทีม เพื่อให้ทิศทางของโปรเจกต์นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้นดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยยิ่งมีกำแพงด้านภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยแล้ว จึงนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของเหล่านักศึกษาจากต่างแดนที่จะต้องเข้ามาทำงานร่วมกันให้สำเร็จ

พรรษชล ฉัตรอุทัย ความตั้งใจนำสู่ความสำเร็จ

“แนวทางในการทำงานของเราคือ เราจะไม่ขัดกัน ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ แล้วค่อยมาดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เราเลือกวิธีการพูดคุยกันให้มากที่สุดว่าแต่ละคนมีความถนัดอะไรแล้วมีความต้องการอะไร บางคนถนัดด้านเอไอก็รับหน้าที่เขียนโปรแกรมแชตตอบในแอพพลิเคชั่น

บางคนมีความถนัดด้านโอซีอาร์ (โปรแกรมแปลงภาษาจากภาพ) ก็จะรับเขียนโปรแกรมทางด้านโอซีอาร์ ส่วนตัวเราเองมีความถนัดทางด้านการบริหารธุรกิจก็จะมองในภาพรวมว่าในธุรกิจลูกค้ามีความต้องการด้านไหนมากที่สุดแล้วสิ่งไหนที่จะเป็นประโยชน์กับลูกค้าบ้าง

เราจึงต่างนำความรู้ความสามารถของแต่ละคนนำมารวมกัน ไม่มีการขัดว่าตรงไหนห้ามทำ อยากจะทำอะไรก็ใส่เข้าไปได้เลย ซึ่งเราจะเลือกคนให้ตรงกับงาน ใครเก่งด้านไหนให้เขาทำด้านนั้นแล้วงานจะออกมาดีแม้น้องในทีมบางคนเรียนด้านสถาปัตย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานด้านไอทีเลย เราก็ให้เขาทำหน้าที่เรื่องการออกแบบ ซึ่งเขาก็ทำออกมาได้สวยงาม แสดงให้เห็นว่าทำงานที่ตรงกับความสามารถของแต่ละคนไม่ว่าอย่างไรก็ทำออกมาได้ดีอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าเราจะจัดการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ในมืออย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผลออกมาก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจเพราะแอพพลิเคชั่นของเรานั้นเพิ่มความสะดวกสบายกับลูกค้า มีเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว มีข่าวสารข้อมูลจากทางบริษัท ลมพระยา โดยตรง หากมีเหตุขัดข้องการเดินเรือติดขัดก็จะทำให้ลูกค้าลดความกังวลใจในเรื่องของเวลาการเดินทางในช่วงที่มีปัญหาได้ และทำให้ลูกค้าสามารถวางแผนพร้อมรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน

พรรษชล ฉัตรอุทัย ความตั้งใจนำสู่ความสำเร็จ

ทางคณะกรรมการก็ถามมาว่าในเมื่อเรามีกูเกิลทรานสเลเตอร์ อยู่แล้วทำไมถึงต้องเอามาใส่ในแอพพลิเคชั่นนี้ด้วย เราก็ตอบว่าเราต้องการให้แอพนี้เป็นแอพแบบวัน สต๊อป เซอร์วิส ที่ครบเครื่องสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการไม่ต้องเข้าออกไปหาแอพอื่นให้เสียเวลาใช้แอพเดียวจบทุกความต้องการเรื่องการท่องเที่ยว

สิ่งที่เราได้รับจากการทำงานนี้ก็คือ ประสบการณ์ในการทำงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษาได้ประสบการณ์ความรู้เรื่องการสื่อสาร เรื่องการวางแผนในทีม ซึ่งโชคดีอย่างหนึ่งก็คือทีมของเรา ค่อนข้างกันเองไม่มีการขัดแย้งกันได้ทำในสิ่งที่ถนัด สามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ แนวทางในการทำงานเราคิดว่าจะทำอะไรก็ต้องทำให้เต็มที่ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อย่างการเข้าแข่งขันในโครงการนี้เรามีเวลาแค่ 7 วัน เราก็ทำให้เต็มที่ในทุกวัน ถ้าเราทำไม่เต็มที่เมื่อมองย้อนกลับมาเราจะรู้สึกเสียดายเวลาที่เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ สิ่งไหนถ้ายังไม่ดีเราก็ค่อยๆ ปรับให้ดี อันไหนเราคิดว่าไม่สวยเราก็เติมให้สวย ทำจนกว่าจะถึงจุดที่เราคิดว่าดีที่สุด สำหรับเราแล้วดีเพียงพอที่จะนำเสนอกับคนอื่นถึงจุดนั้นก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในที่สุด”