posttoday

บันทึกเกาหลีสุดติ่งจากชีวิต ‘ปรุงโอปป้า’

04 พฤศจิกายน 2561

คนไทยหนึ่งเดียวในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลีใต้ ปรุง-ทัชระ ล่องประเสริฐ

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข 

คนไทยหนึ่งเดียวในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลีใต้ ปรุง-ทัชระ ล่องประเสริฐ หรือ ปรุงโอปป้า ขอวางมือจากงานการตลาดมาจับปากกาเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิตเรื่อง Call me OPPA ที่จะบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิง และวัฒนธรรมสุดติ่งที่ยิ่งกว่าซีรี่ส์เรื่องใดๆ

ปรุงกล่าวถึงบทบาทการเป็นนักเขียนครั้งแรกว่า การเขียนหนังสือเป็นหนึ่งในเช็กลิสต์ที่อยากทำ จึงประเดิมเล่มแรกด้วยการบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตและการทำงานในเกาหลีใต้ที่ทั้งหวานและขมในเวลาเดียวกัน

“หลังจากเข้าทำงานในบริษัทค่ายเพลงของเกาหลีได้สักพักก็เริ่มอยากหาอะไรใหม่ๆ อยากบอกเรื่องราวในสิ่งที่เราเจอมาให้หลายคนได้รับทราบ จนได้รับโอกาสจากสำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ติดต่อเข้ามา ผมก็เซย์เยสตอบรับทันที แต่ประเด็นที่ผมอยากเขียนไม่อยากเน้นไปที่การทำงานในวงการบันเทิงเกาหลีตั้งแต่เล่มแรก เพราะถ้าเราไม่ปูพื้นมาก่อนว่าวัฒนธรรมของเขาเป็นอย่างไร อาจทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจ ดังนั้นเล่มนี้ผมจึงอยากเล่าถึงวัฒนธรรมการทำงาน ค่านิยม แนวคิดของคนเกาหลีใต้ จากนั้นถ้ามีโอกาสในเล่มต่อไปจึงค่อยลงลึกไปในการทำงานจริง”

บันทึกเกาหลีสุดติ่งจากชีวิต ‘ปรุงโอปป้า’

ดังนั้น Call me OPPA จึงไม่ใช่หนังสือที่พูดถึงเกาหลีแบบที่คุ้นเคย คนที่รู้จักเกาหลีอยู่แล้วจะรู้สึกว่า “มันขนาดนี้เลยเหรอ” ส่วนคนที่ไม่รู้จักเกาหลีเลยอาจ “ช็อก” คาตัวหนังสือ เพราะประสบการณ์จริงที่เขาเจอมันดราม่ายิ่งกว่าในละคร

อย่างไรแล้วการเขียนหนังสือเล่มแรกย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ถามเขาต่อเป็นประโยคบอกเล่า ปรุงกล่าวตอบว่า เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชื่นชอบเกาหลี ซึ่งคนที่ชื่นชอบเกาหลีส่วนใหญ่คือ รุ่นน้อง หรือเด็กมัธยมฯ ไปจนถึงวัยต้นมหาวิทยาลัย ฉะนั้นวิธีสื่อสารให้ประเด็นที่ยากกลายเป็นเรื่องง่าย คือ การเล่าเรื่องให้เหมือนพี่ชายเล่าให้น้องฟัง ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยภาษาสนุก และสอดแทรกบทสนทนาของตัวละครเข้าไปเพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึง เข้าใจ และเห็นภาพ

“วิธีการเขียนของผมจะเร้าอารมณ์ผู้อ่าน โดยใช้คำพูดเหน็บแนมนิดหน่อยมาผสมในช่วงแรกให้น่าสนใจ จากนั้นจะตีประเด็นเป็นข้อๆ และสรุปสุดท้ายด้วยการแซวเล็กน้อยว่าคนไทยเป็นยังไง ผมอยากให้มันเป็นหนังสือที่นำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ผมประสบมา และถามผู้อ่านกลับไปว่า แล้วคุณคิดอย่างไร คุณมีทัศนคติต่อเรื่องนี้อย่างไร ดังนั้นทุกบทผมจะไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก ไม่บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่จะให้ผู้อ่านได้คิดและตัดสินใจเอง”

บันทึกเกาหลีสุดติ่งจากชีวิต ‘ปรุงโอปป้า’

นักเขียนวัย 29 ปี กล่าวด้วยว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งถึงวัฒนธรรมการทำงานในเกาหลีใต้ที่มีความเข้มข้นและกดดัน ซึ่งปัจจุบันคนเกาหลีรุ่นใหม่ก็เริ่มเปลี่ยนถ่ายจากวัฒนธรรมเก่าไปสู่วัฒนธรรมใหม่ และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่สำคัญคือ หนังสือจะกระตุกความคิดในเรื่องของความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ อย่างเขาเองที่ผันตัวจากบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ไปทำงานหลากหลายทั้งผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายงานโทรทัศน์ พิธีกร นักพากย์เสียง นักการตลาด ไปจนถึงนักเขียน

“หลายคนมีความกลัว คือ อยากที่จะทำแต่ไม่กล้าที่จะลอง มีความกลัวในทุกๆ ก้าว ดังนั้นคิดอย่างเดียวไม่พอต้องลงมือทำ ซึ่งการลดความกลัวคือต้องวางแผนในก้าวต่อไป และต้องมีแผนสำรองไว้เพื่อซัพพอร์ตความมั่นใจในการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น และผมอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเข้าใจตัวเองมากขึ้น อย่าตั้งคำถามต่อสังคมว่า ทำไมถึงไม่เป็นไปตามใจ แต่ต้องถามกลับว่า ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม”

ติดตามชีวิตของปรุงโอปป้าได้ทางอินสตาแกรม Tatchara123 และทำความรู้จักเกาหลีมุมมองใหม่ในบันทึก 176 หน้าของคนไทยในแดนกิมจิเรื่อง Call me OPPA