posttoday

นักแสดงโขนเลือดใหม่ ผู้สืบสานศิลปะการแสดง

29 ตุลาคม 2561

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2561 ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์”

เรื่อง วราภรณ์ ผูกพันธ์

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2561 ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 พ.ย.-5 ธ.ค.นี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดง “โขน” ซึ่งนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้อยู่สืบไป โดยในปีนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” จัดแสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับการแสดงครั้งนี้ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม โดยคัดเลือกจากนักเรียน นักศึกษา ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจัดให้มีคัดเลือกนักแสดงจำนวน 5 ตัวละคร คือ โขนพระ มีผู้สมัคร 73 คน ละครพระ มีผู้สมัคร 198 คน ละครนาง มีผู้สมัคร 204 คน โขนยักษ์ มีผู้สมัคร 137 คน และโขนลิง มีผู้สมัคร 160 คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัคร จำนวน 772 คน ซึ่งแต่ละประเภทตัวละครจะมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเพียง 5 คน รวมจำนวน 25 คน บุคคลเหล่านี้ถือเป็นนักแสดงโขนรุ่นใหม่ที่จะสืบสานวัฒนธรรมไทยต่อไป

นักแสดงโขนเลือดใหม่ ผู้สืบสานศิลปะการแสดง

“พิเภกสวามิภักดิ์” ตื่นตากว่าทุกครั้ง

อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กล่าวว่าการทำบทการแสดงครั้งนี้แตกต่างจากการแสดงที่ผ่านๆ มา เพราะได้ผสมผสานสร้างสรรค์มาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 6 โดยทางคณะกรรมการทุกท่านตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความประณีต ทั้งการบรรจุเพลงขับร้องมีผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินแห่งชาตินาฏศิลป์ ดนตรี ได้ร่วมฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

แต่ละองค์แต่ละฉากยังคงความวิจิตรงดงาม กระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวง พร้อมที่จะสร้างความสนุก ความประทับใจให้กับผู้ชมสมการรอคอยอย่างแน่นอน นอกจากศิลปินแห่งชาติมาช่วยทำให้การแสดงโขนครั้งนี้ออกมาประทับใจผู้ชมแล้ว ยังมีนักแสดงโขนรุ่นใหม่ ผู้ช่วยสืบสานงานแสดงโขนเป็นนักแสดงสำคัญ อาจารย์ประเมษฐ์ เปิดเผยถึงการคัดตัวนักแสดงรุ่นใหม่ภายในงาน พิธีคำนับครูเป็นพิธีโบราณเป็นลักษณะการบูชาหรือการไหว้ครู นิยมประกอบพิธีก่อนเริ่มแสดงชุดสำคัญหรือการต่อท่ารำที่สำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลและขจัดอุปสรรคต่างๆ

ผู้กำกับการแสดง กล่าวต่อว่า หลังจากพิธีคำนับครูแล้วลำดับต่อไปจะเป็นการซ้อมรวมครั้งแรกของนักแสดงทั้งตัวพระ นาง ยักษ์ และลิง กว่า 300 ชีวิตที่ทำการแสดงในครั้งนี้

“เนื่องด้วยการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หยุดการแสดงไป 2 ปี คือ ปี 2559 และ 2560 การแสดงชุดปัจจุบันยังมีนักแสดงรุ่นใหม่ที่หลงเหลืออยู่ แต่บางคนเรียนจบไปแล้ว หรือตามตัวไม่ได้เพราะไปรับราชการ ที่เหลือเราพยายามติดต่อเข้ามา และฝึกเด็กใหม่ขึ้นมาด้วย เพราะโขนของมูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าฯ เราจะสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มาสืบทอดกันไปตลอดทั้งดนตรีและนักร้อง เราใช้วิธีการสืบทอดไปตลอด

ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง เล่าว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกเด็กจาก 800 คน ให้เหลือ 200 คน โดยมีเด็ก 15 คน ได้รับทุนพระราชทาน แต่หลังจากหยุดการแสดงไป 2 ปี ก็จะมีนักแสดงบางส่วนที่จบการศึกษาไปแล้ว มีงานทำแล้ว และไม่สามารถมาร่วมแสดงได้จำนวน 20% คณะกรรมการจึงใช้วิธีดูคะแนนที่เคยเก็บบันทึกเอาไว้ และเรียกนักแสดงคะแนนรองๆ ลงมาร่วมแสดง

นักแสดงโขนเลือดใหม่ ผู้สืบสานศิลปะการแสดง

คลื่นลูกใหม่วงการแสดงโขนไทย

ปพน รัตนสิปปกร วัย 19 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี รับบท “พิเภก” เผยความรู้สึกว่า การแสดงครั้งนี้พิเภกจะเป็นตัวหลักของเรื่อง ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ใดนำเรื่องราวของพิเภกไปแสดงเป็นตอนหลัก ทุกครั้งที่มีการแสดงโขน มักจะมีผู้คนถามว่าทำไมพิเภกต้องอยู่กับพระราม ในเรื่องนี้ก็จะได้ชมกัน โดยจะเล่นตั้งแต่การเล่าเรื่องว่าพิเภกทำไมไปอยู่กับพระราม จนถึงโดนขับไล่ และหลังขับไล่ การต่อสู้ต่างๆ ผสานมุขตลกบ้าง ถือเป็นความยิ่งใหญ่และแปลกใหม่มาก อีกทั้งความแปลกใหม่ของตอนนี้ องก์แรกที่พิเภกโดนขับไล่ออกจากเมือง พิเภกจะต้องถอดมงกุฎ ซึ่งหมายถึงการถูกยึดทรัพย์สมบัติและเกียรติยศทั้งหมด แล้วให้ไปแต่ตัว ถือว่าเป็นการนำเสนอเรื่องราวที่ละเอียดมาก

ปพน กล่าวต่อว่า การแสดงโขนปีนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับบทเด่น หลังจากปีที่ผ่านๆ มาเคยมาออดิชั่นเพื่อร่วมแสดงด้วย แต่ก็ไม่ผ่านเข้ารอบก็มี ได้รับบทเล็กๆ บ้าง แต่ไม่ได้รู้สึกท้อแท้ เพราะแต่ละบทบาทมีความสำคัญ เพียงแค่ได้เข้ามาร่วมแสดงก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีความกดดัน ต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะโดยการไปดูวิดีโอ พบว่าบทพิเภกมีน้อย ก็ต้องไปอ่านพระราชนิพนธ์ของ ร.1-ร.2 และ ร.6 ว่าเขียนไว้อย่างไร บทและอารมณ์เป็นอย่างไร ในพระราชนิพนธ์จะบอกเรื่องราวมากพอสมควร เขาเฝ้าฝึกซ้อมอยู่อย่างสม่ำเสมอ

“ผมคิดว่าการท่องบทสำคัญมาก เพราะเหมือนกับการเล่นเอ็มวี แม้เราไม่ได้พูด แต่เราก็ต้องท่องจำบทให้ได้ ถึงจะรู้ฉาก รู้จังหวะของเพื่อน เพื่อให้แสดงออกมาได้ดี ถือว่ายากพอสมควร เพราะการอยู่ในหัวโขนจะมีเพียงรูเล็กๆ ที่สายตาเราสามารถมองเห็น รอบข้างเราจะไม่เห็นอะไร การได้ยินก็น้อยลง ทั้งยังมีการแต่งตัวที่แน่น มีความกดดันมากในเรื่องที่จะต้องตั้งสติให้ดีครับ”

วงษ์สมัตถ์ เล้าประเสริฐ อายุ 24 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 รับบท “ทศกัณฐ์” เคยร่วมแสดง พรหมมาศเมื่อปี 2552 ตอนนั้นเขาอายุเพียง 16 ปี ได้แสดงเป็นเทวดา และเขาได้ร่วมเล่นทุกปี เช่น ตอน “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” ในปี 2556 เขาได้เล่นเป็นกุมภกรรณ ที่สำคัญคือเขาได้รับทุนพระราชทานด้วย แรงดึงดูดให้เขาอยากเข้าร่วมแสดงทุกปีและเข้าร่วมออดิชั่นมาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากด้วยเป็นโขนสมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็นการแสดงโขนใหญ่ประจำปีและมีฉากอลังการ นักเรียนนาฏศิลป์ทุกคนจึงอยากมีส่วนร่วม

“สิ่งที่ผมได้จากการแสดงโขนคือ ประสบการณ์ในการร่วมแสดงกับฉากใหญ่ๆ ปกติเราจะแสดงไม่มีฉากพวกนี้เลย แต่เราต้องแสดงโขนร่วมกันเทคนิคของทีมงานรอกสลิง คือเป็นประสบการณ์หายาก และต้องฝึกซ้อมมากเป็นพิเศษเพราะต้องจำจุดมาร์กให้ได้

บางครั้งมีการเคลื่อนไหวของฉากเราต้องไปกับฉาก เช่น ผ้าม่านลงมากั้นถ้าพลาดผ้าม่านโดนหัวคือพลาดเลย จังหวะต้องแป๊ะ อีกทั้งการแสดงต้องใส่หัวโขน มองเห็นได้ไม่รอบ 360 องศา แค่มองตรงได้อย่างเดียว อาจมีฉากยากคือเรือสำปั้นที่เราไม่คุ้นเคย อีก 1 ฉากที่ท้าทายคือฉากองก์แรกที่ทศกัณฐ์โกรธพิเภก อีกทั้งทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่แสดงได้ 100 อารมณ์ เป็นคนเกรี้ยวกราด เจ้าชู้ ทศกัณฐ์เป็นยักษ์อายุประมาณ 50-60 แต่ผมอายุ 24 ปี จะทำอย่างไรให้เข้าถึงอารมณ์ของคนอายุ 50 ได้ ต้องแสดงสีหน้าและอารมณ์ออกมาทะลุหน้าโขนและท่ารำอันนี้คือความยาก ผมก็ต้องทำการบ้านต้องศึกษาอารมณ์ของตัวละครออกมา เช่น ท่ารำของยักษ์หนุ่มจะเปรียวจะเร็ว แต่ทศกัณฐ์ต้องเป็นท่าที่สง่า ไว้ภูมิ”

ด้าน สุภาพร เปี่ยมนงนุช อายุ 21 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี รับบทนางตรีชฎา เป็นภรรยาพิเภก เมื่อพิเภกถูกขับไล่ออกจากเมือง หัวใจของตรีชฎาผู้รักสามีก็ต้องเศร้า เสียใจหนัก แต่ไม่ได้ออกจากเมืองไปกับสามี เพราะจะไปลำบากกันหมด นางตรีชฎาจึงต้องอยู่ดูแลลูก แม้หัวใจจะสลายเพราะคิดถึงสามีก็ตาม เพราะฉะนั้นบทบาทของเธอจึงต้องแสดงอารมณ์ให้รู้สึกเศร้า เสียใจ เหมือนต้องลาจากสามีจริงๆ ความยากอยู่ที่การต้องทำให้คนดูคล้อยกับอารมณ์ที่เธอแสดงออกมา รู้สึกกดดันเหมือนกัน สิ่งที่ท้าทายเพราะถือเป็นปีแรกที่ได้รับบทที่โดดเด่น หลังจากที่เคยออดิชั่นมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่เคยได้รับบทหลักๆ เลย ดังนั้นจึงต้องพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดี เธอจึงทำการบ้านอย่างหนัก ต้องอ่านบทละคร บทพระราชนิพนธ์ ทำการบ้าน ทำซีนอารมณ์ว่าจะทำอย่างไรให้เศร้า เสียใจที่สุด

“การได้รับบทแสดงครั้งนี้เหมือนได้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาท และรับใช้พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ หนูเป็นเด็กรุ่นใหม่ การได้เรียนนาฏศิลป์แล้วได้เข้ามาแสดงโขนมูลนิธิฯ ถือว่าได้เป็นผู้สืบสาน รู้สึกดีใจมาก หนูก็จะทำอย่างเต็มที่ไม่ให้เสียชื่อสถาบัน และครูผู้ไว้วางใจให้โอกาสหนูรับบทนี้ ก็อยากให้ทุกคนหันมาสนใจวรรณคดีไทยมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่สนใจก็ไม่มีใครสืบสานแล้ว โขนเป็นวัฒนธรรมไทย เวลาที่ต่างชาติมองไทย เขาต้องมองเรื่องมรดกอย่าง โขน วัดวาอาราม ก็อยากให้ช่วยกันสืบสานให้อยู่คู่คนไทยไปนานๆ” สุภาพร เล่าและกล่าวต่อว่า เธอตั้งใจจะรับราชการครูต่อไป จึงต้องเรียนต่ออีก 1 ปีเป็น 5 ปี เพราะครูนาฏศิลป์เป็นอาชีพที่ยังขาดแคลน

“หนูสนใจนาฏศิลป์เพราะเห็นคนแต่งตัวสวยงาม เลยขอแม่เรียนนาฏศิลป์ ในครอบครัวไม่มีใครทำงานในแวดวงนาฏศิลป์แต่แม่ชอบรำ พอลูกชอบแม่สนับสนุนหนูเรียนรำตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เด็กนาฏศิลป์ทุกคนอยากมาแสดงโขนสมเด็จพระนางเจ้าฯ กันทุกคนเพราะเป็นเวทีอันดับ 1 ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง อย่างหนูปีที่หนูออดิชั่นครั้งแรกไม่ผ่าน แต่หนูไม่หมดกำลังใจตั้งใจว่า ปีหน้าหนูต้องทำเต็มที่กว่านี้ ต้องฝึกซ้อมไม่ได้หวังต้องได้รับทุนพระราชทาน หวังแค่ว่าติดเข้ารอบเพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดง

นักแสดงโขนเลือดใหม่ ผู้สืบสานศิลปะการแสดง

แรงผลักดันให้หนูอยากมาออดิชั่นคือ จองถนน หนูเห็นเวทีที่อลังการ เปิดม่านมาหนูน้ำตาไหล หนูภาวนาตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตหนูต้องขึ้นไปแสดงบนเวทีนี้ให้ได้ ไม่ว่าได้รับบทอะไร พอได้รับโอกาสปีแรกตอนอายุ 17 หนูฝึกซ้อมน้อย และไม่เคยแข่งขันที่ไหนทำให้หนูรู้สึกกดดัน หนูรำผิด สติเตลิดจึงไม่ผ่านการคัดเลือก หนูเก็บข้อผิดพลาดเป็นแรงผลักดันต้องตั้งสติ สวดมนต์ทุกวันเพื่อให้หนูมีสติ ก่อนมาออดิชั่น ทบทวนบทเรียนฝึกซ้อมทุกวันเวลา 2 เดือนจนออดิชั่นปีนาคบาศ หนูก็ผ่านเข้ารอบได้รำถวายพระพร และยังได้รับทุนพระราชทาน หนูน้ำตาไหลเลยค่ะ เพราะหนูสามารถรำตามเพลงที่อาจารย์เรียกได้โดยไม่ผิด เพราะมั่นใจขึ้น”

ธันยธรณ์ ชูสรานนท์ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ รับบท นางเบญกาย ลูกสาวของพิเภก ฉากที่ท้าทายมากคือ ฉากแรกที่พ่อถูกเนรเทศออกนอกเมืองการแสดงจึงออกแนวดราม่า เธอต้องแสดงออกมาให้คนดูเข้าใจรู้สึกไปกับเธอ ซึ่งการแสดงโขนนักแสดงแสดงสีหน้ามากเกินไปก็ไม่ดี ต้องอยู่ระหว่างคนดูรู้สึกได้และเกิดความสวยงาม

“เวทีนี้เป็นเวทีที่เด็กนาฏศิลป์ใฝ่ฝัน ภาคภูมิใจ จะมาแสดงได้ต้องผ่านการออดิชั่น ต้องทดสอบตัวเอง เมื่อเราผ่านการทดสอบก็เป็นเกียรติประวัติกับตัวเอง จริงๆ นาฏศิลป์เป็นการแสดงไม่ช้า แต่แสดงทั้งอารมณ์โกรธ อารมณ์รัก สนุก เป็นศาสตร์การแสดงหนึ่งที่รวมทุกอย่างไว้ วรรณกรรมดนตรี นาฏศิลป์ไว้ด้วยกัน เสน่ห์ของโขนคือ รวมวัฒนธรรมไทยเอาไว้ซึ่งมีเอกลักษณ์มาช้านาน การแสดงโขน หนูได้เล่นตั้งแต่จองถนน และเล่นมาเรื่อยๆ รวม 5 ตอน ครั้งล่าสุดหนูก็ผ่านออดิชั่นมา ทุกครั้งที่มีการคัดตัว ต้องมาออดิชั่นใหม่ทุกครั้ง การจะผ่านออดิชั่นแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย มีผู้เข้าแข่งขัน 800 คน คัดเหลือ 200 คัดจนเหลือ 5 คน ที่ได้รับทุนพระราชทาน พอหนูได้รับทุนพระราชทานถึง 2 ครั้ง ก็รู้สึกหายเหนื่อย เพราะออดิชั่นแต่ละครั้งต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก คณะกรรมการจะเรียกทุกอย่างที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์มาทดสอบเรา และทุกคนฝีมือดีหมด จึงต้องฝ่าฟันค่ะ”

ผู้สนใจสามารถจองบัตรได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ทุกสาขา บัตรราคา 420 620 820 1,020 1,520 และ 1,820 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน