posttoday

‘ยุคจุฬาลงกรณ์’ ปฐมบทแห่งวิวัฒนาการสังคมไทย

23 ตุลาคม 2561

ด้วยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา

ด้วยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติในวาระพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 150 ปี เพื่อถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาญาณที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

‘ยุคจุฬาลงกรณ์’ ปฐมบทแห่งวิวัฒนาการสังคมไทย

จุดเริ่มต้นวิวัฒนาการของสังคมไทย

ศ.ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้มีผลงานเขียนหนังสือกว่า 60 เล่ม ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์และชีวประวัติ ได้ฉายภาพให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศไทยได้มีการติดต่อกับชาวต่างชาติตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มต้นจากประเทศใกล้เคียง ไปจนถึงจีน อินเดีย อิหร่านโปรตุเกส ฝรั่งเศส ฮอลันดา และอังกฤษ

ศ.ดร.วิชิตวงศ์ อธิบายว่า ช่วงแรกของการติดต่อทำการค้ากับชาติตะวันตกนั้น สยามได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะการค้าเป็นไปในลักษณะผูกขาด ค้าขายกับพระคลังสินค้าเป็นหลักซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความอึดอัดใจให้ชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก

จนในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อังกฤษและสหรัฐต่างพยายามขอแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อให้มีการทำการค้าเสรี

“ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงเล็งเห็นว่าภาษาอังกฤษเปรียบเสมือนกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่โลกแห่งความรู้ ช่วงที่ผนวช รัชกาลที่ 4 ทรงเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และศึกษาเรื่องราวของชาวตะวันตกมาตลอด ทรงเล็งเห็นถึงความแข็งแกร่งของชาติตะวันตกและอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมที่กำลังแผ่ขยายเข้ามา

ดังนั้น เมื่อชาติตะวันตกพยายามกดดันให้สยามเปลี่ยนเงื่อนไขในสนธิสัญญา เพื่อให้สยามเปิดประเทศ มีการทำการค้าเสรี หลังจากทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทรงเล็งเห็นแล้วว่าหากสยามยังเอาแต่หลบเลี่ยง เห็นทีจะไม่รอดต้องสู้รบ เพราะชาติตะวันตกเริ่มเอาจริง ขณะที่กำลังของสยามในเวลานั้นก็ยากจะต่อกร”

แม้จะดูการแก้ไขสนธิสัญญาในบางเงื่อนไขจะทำให้สยามตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ในแง่เศรษฐกิจนั้น ศ.ดร.วิชิตวงศ์ ถือว่าสยามได้ประโยชน์ไม่น้อย

“ในเวลานั้น ชาติตะวันตกที่เข้ามาทำการค้ามีความต้องการสินค้าจากสยามค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เราก็ขยายพื้นที่ทำนาข้าว ขณะเดียวกันชาวสยามก็มีโอกาสเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นจากสิ่งของแปลกใหม่ที่ชาติตะวันตกนำมาขายช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมไทยให้เกิดความเจริญ ได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ จากโลกตะวันตก

‘ยุคจุฬาลงกรณ์’ ปฐมบทแห่งวิวัฒนาการสังคมไทย

ที่สำคัญการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกในเวลานั้น ยังสะท้อนถึงพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้สยามมีอำนาจต่อกรกับชาติมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในเวลานั้น เพราะธรรมชาติของชาวตะวันตกเป็นชาติที่เคารพกฎหมาย

เมื่อเรามีสนธิสัญญาก็เท่ากับมีกฎหมายคุ้มครอง หากเกิดปัญหาขึ้น จะไม่ใช้กำลังแต่จะใช้วิธีพูดคุยตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเพราะต้องยอมรับว่าสภาพสังคมและความเจริญในสยามเวลานั้นแตกต่างกับชาติตะวันตกราวฟ้ากับดิน

อย่าลืมว่านับตั้งแต่เราปิดประเทศหลังยุคพระนารายณ์จนมาถึงรัชกาลที่ 4 เป็นเวลา 167 ปี สยามอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าสถานะคงที่ (Stationary State) ทั้งการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมไม่ขยับไม่เขยื้อนจนมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ทรงตั้งพระราชปณิธานแน่วแน่ว่าจะทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้เหมือนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ทรงทำได้สำเร็จและสืบทอดพระราชปณิธานนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมาจนรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่สังคมตะวันตกยุค ค.ศ. 16-17 เจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยความรู้ทางวิชาการทั้งมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์”

เพราะฉะนั้น เมื่อมองย้อนกลับมาที่สยามประเทศ ศ.ดร.วิชิตวงศ์ เผยว่า ด้วยพระวิสัยทัศน์ของรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงปลูกฝังให้พระราชโอรส (รัชกาลที่ 5) ได้รับการอบรมสั่งสอนและปลุกจิตสำนึกให้คิดแบบชาติตะวันตก ศึกษาภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เพราะทรงมีแนวคิดว่า
ถ้าจะคบกับฝรั่งก็ต้องรู้ทันและเข้าใจเขา

“เพราะฉะนั้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2411 จึงทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว มีพระราชดำริในแบบตะวันตกแต่ยังคงไม่ทรงละทิ้งรากของความเป็นไทย โดยเฉพาะเรื่องพระพุทธศาสนา”

สิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงทำและได้กลายเป็นปฐมบทแห่งวิวัฒนาการหลายอย่างในสังคมไทยในยุคจุฬาลงกรณ์ ศ.ดร.วิชิตวงศ์ ได้จำแนกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ การพัฒนาสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นถนน บ้านเรือน สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งทรงวางรากฐานการคมนาคมและการสื่อสารอาทิ การขุดคลอง ตัดถนน ก่อตั้งไปรษณีย์
โทรเลข การรถไฟ ฯลฯ ซึ่ง ศ.ดร.วิชิตวงศ์เปรียบเทียบให้เห็นภาพตามง่ายๆ ว่าคนที่เกิดมาในยุคต้นจุฬาลงกรณ์พอมาถึงปลายยุคจุฬาลงกรณ์ เหมือนอยู่คนละยุค เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างมาก

“ถัดจากด้านกายภาพ คือ สถาบัน ก่อนยุคจุฬาลงกรณ์ เราไม่เคยรู้ว่าสยามมีอาณาบริเวณขอบเขตแค่ไหน แต่มาเริ่มชัดเจนในยุคนี้เริ่มมีรูปแบบการปกครองที่ชัดเจน มีการใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมเช่นเดียวกับระบบการศึกษา ในอดีตไม่มีโรงเรียน ชาวสยามที่
สามารถอ่านหนังสือได้มีไม่มาก แต่ในยุคจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

ในด้านขนบธรรมเนียม มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องทรงผม ตลอดจนการแต่งเครื่องแบบทหารและข้าราชการแบบตะวันตก สุดท้าย คือหลักคิดและจิตสำนึก แม้จะติดต่อกับชาติตะวันตก แต่ไม่ทรงลืมความเป็นไทย ทรงมุ่งเน้นเรื่องความรักชาติ เอกราชและอธิปไตย” ศ.ดร.วิชิตวงศ์ ทิ้งท้าย

‘ยุคจุฬาลงกรณ์’ ปฐมบทแห่งวิวัฒนาการสังคมไทย

จากบาว์ริ่งถึงการปฏิรูปประเทศสยามในระเบียบโลกใหม่

ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการได้ร่วมสะท้อนมุมมองถึงการปฏิรูปประเทศในยุคจุฬาลงกรณ์อันนำพาสยามไปสู่ระเบียบโลกใหม่ว่า ผลจากลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในยุครัชกาลที่ 4 เป็นการผลักดันสยามให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ในทางนิตินัย นำมาซึ่งพระราชภาระอันยากยิ่งของรัชกาลที่ 5 ในการนำพาสยามซึ่งอยู่ในสถานะคงที่ตั้งแต่สมัยอยุธยาก้าวให้ทันความเจริญของชาติตะวันตก ซึ่งในเวลานั้นมีความเป็นรัฐชาติหมดแล้ว

“ความท้าทายของสยามเวลานั้น คือจะทำอย่างไรให้พร้อมกับระเบียบโลกใหม่ ในฐานะดินแดนที่ยังคงเอกราชไว้ได้ เพราะสยามในเวลานั้นไม่ได้มีชาติตะวันตกเข้ามาวางระบบสาธารณูปโภค ช่วยเทรนคนให้เหมือนชาติที่ตกเป็นอาณานิคม

เราจะทำอย่างไรเพื่อก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป นี่คือพันธกิจที่ยากยิ่งของรัชกาลที่ 5 ที่ต้องทรงเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างก้าวกระโดด ยกระดับการเปลี่ยนแปลงของประเทศในระยะเวลาอันสั้น ให้สามารถไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกที่ยังคงคิดแสวงหาประโยชน์จากภูมิภาคนี้อยู่”

เพราะฉะนั้น หากถามต่อว่าพระองค์ทรงทำอะไรเพื่อยกระดับประเทศ คำตอบของ ศ.ดร.สุเนตร คือทรงสถาปนาสยามให้เป็นรัฐใหม่ในลักษณะเดียวกับเหล่ามหาอำนาจทั้งหลาย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในอธิปไตยและความเท่าเทียม ซึ่งความเป็นรัฐชาติในแบบที่ทรงมีพระราชประสงค์นั้นไม่เคยปรากฏมาก่อนบนแผ่นดินสยามในอดีต

“ผมขอสรุป 3 สิ่งสำคัญที่รัชกาลที่ 5 ทรงทำเพื่อนำพาสยามประเทศไปอีกระดับ เริ่มจากการปฏิรูปการปกครอง ทรงใช้วิธีรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา สยามมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิตก็จริง แต่ก็ทรงแบ่งพระราชอำนาจให้ขุนนางที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดี เจ้าเมือง กรมการเมือง ตลอดจนประเทศราชมีอำนาจเป็นของตัวเอง

‘ยุคจุฬาลงกรณ์’ ปฐมบทแห่งวิวัฒนาการสังคมไทย

ในการจัดเก็บภาษี-ส่วย อำนาจในการพิพากษาคดี ตลอดจนอำนาจในการสืบสายอำนาจ ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริให้ปฏิรูปการปกครองเพื่อควบคุมทรัพยากรในประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังคน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาแห่งอำนาจ จะเห็นว่าในอดีตเหตุผลที่เจ้านาย ขุนนางท้าทายอำนาจพระมหากษัตริย์ได้ เพราะมีกำลังคนในมือนี่จึงถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างรัฐชาติที่สำคัญ”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างรัฐชาติ จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยทุนทรัพย์ ศ.ดร.สุเนตร บอกว่าด้วยเหตุนี้ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นเพื่อเป็นสำนักงานกลางสำหรับเก็บเงินผลประโยชน์รายได้ภาษีอากรของแผ่นดินมารวมไว้ในที่แห่งเดียว และทรงนำทุนทรัพย์นี้
มาใช้ในการพัฒนาประเทศ

“ถัดมาคือ การพัฒนาประเทศในเชิงกายภาพ ความมั่นคงแห่งรัฐจะขึ้นเกิดได้ต้องเริ่มจากการย่นระยะทางในการไปหาสู่กัน ด้วยเหตุนี้ในยุคจุฬาลงกรณ์จึงมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคม สร้างเส้นทางรถไฟ เพื่อให้เกิดการรวมอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม มีการเลิกระบบไพร่และทาส เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม และเป็นกำลังพลสำคัญในการสร้างรัฐชาติ”

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุเนตร ชี้ว่าพระองค์ยังทรงพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อเตรียมคนให้พร้อม ทรงวางระบบยุติธรรมใหม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับประเทศภายในเวลาอันสั้น ให้สยามมีตัวตนเป็นรัฐชาติ ก้าวทันกับระบบโลกใหม่ที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง

“อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญ คือ หลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงฉายพระรูปกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งแม้รัสเซียในเวลานั้นจะไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางทะเล แต่ถือเป็นมหาอำนาจทางบกที่พวกชาติตะวันตกให้ความเกรงใจ เพราะฉะนั้นนี่จึงถือเป็นอีกกุศโลบายในการสร้างตัวตนสะท้อนความเป็นรัฐชาติให้สยาม” ศ.ดร.สุเนตร ทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สะท้อนถึงพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ธ ผู้ทรงสร้างจุดเปลี่ยนให้กับสยาม กลายเป็นประเทศพัฒนา และยั่งยืนตราบจนปัจจุบัน