posttoday

ธมนวรรณ แสงจันทร์ ทอเชือกรองเท้าเป็นสินค้าแฟชั่น

22 ตุลาคม 2561

จากความสนใจในประเด็นของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่เป็นผู้หญิงชอบใส่รองเท้าผ้าใบ

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

จากความสนใจในประเด็นของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่เป็นผู้หญิงชอบใส่รองเท้าผ้าใบ ทำให้ ธมนวรรณ แสงจันทร์ บัณฑิตจบใหม่ จากภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตั้งคำถามกับสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวอย่าง “เชือกรองเท้า” ว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่กระบวนการผลิตจะมีเชือกรองเท้าที่เหลือทิ้งจากโรงงานหรือไม่

จากการลงพื้นที่เข้าไปสอบถามข้อมูลจากโรงงานผลิตเชือกรองเท้า พบว่าแต่ละวันมีขยะจากเชือกรองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากนั่นคือเชือกรองเท้าที่มีความยาวผิดพลาด มีพลาสติกปลายเชือกไม่สมบูรณ์ หรือมีสีที่ไม่ถูกต้อง เชือกเหล่านี้จะถูกคัดทิ้งใส่กระสอบเพื่อนำไปขายในราคาถูกให้กับร้านขายของเก่า จากนั้นร้านขายของเก่าอาจนำไปคัดแยกเพื่อขายปลีกแก่ผู้บริโภคเส้นละ 10 บาท หรือชั่งน้ำหนักขายในรูปแบบขยะกองหนึ่งเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป

ธมนวรรณ แสงจันทร์ ทอเชือกรองเท้าเป็นสินค้าแฟชั่น

“ในโรงงานมีเชือกรองเท้าที่ถูกคัดทิ้งจำนวนหลายกระสอบ เราจึงเข้าไปในขั้นตอนนี้เพื่อขอซื้อเชือกรองเท้าเหลือทิ้งจากโรงงาน กิโลกรัมละ 60 บาท ในลักษณะซื้อยกกระสอบคือไม่สามารถเลือกคุณภาพได้ ในกระสอบหนึ่งอาจมีทั้งของดี ของไม่ดี คละสี คละไซส์ จากนั้นเราก็นำเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) คือคัดเลือกเส้นที่ยังมีคุณภาพดี นำไปทำความสะอาดด้วยการล้างตากแดด และนำมาเช็ดให้แห้ง ก่อนนำไปทอ” เธออธิบาย

จากสิ่งไร้ค่าที่เกิดจากความผิดพลาดและไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ธมนวรรณได้นำมาปัดฝุ่นใหม่และใส่ดีไซน์เข้าไป โดยเธอนำเชือกรองเท้าที่คัดเลือกแล้วไปใช้เป็นวัสดุหลักในการทำ “กระเป๋า” ซึ่งชิ้นงานที่เธอออกแบบมีทั้งกระเป๋าสะพาย
ข้างทรงเหลี่ยม กระเป๋าสะพายข้างทรงกลมกระเป๋าถือ รวมไปถึงรองเท้า

ธมนวรรณ แสงจันทร์ ทอเชือกรองเท้าเป็นสินค้าแฟชั่น

“เราจะคัดเฉพาะเชือกรองเท้าสีดำที่มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร นำไปเข้ากี่กระตุกเพื่อทอออกมาเป็นผืน โดยโทนสีดำทำให้ดูเรียบหรู คลาสสิก และดูแลรักษาง่าย ส่วนสีทองแดงที่เห็นแทรมอยู่เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดมิติ ด้วยวิธีฮีตทรานส์เฟอร์ ฟอยล์ (Heat Transfer Foil) คือเป็นการถ่ายเทความร้อนให้กระดาษฟอยล์สีทองแดงแปะติดไปกับเชือกรองเท้า” เธอกล่าวต่อ

“ส่วนคอนเซ็ปต์ของชิ้นงานได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนเผ่าและวิถีชีวิตร้องรำทำเพลง ทำให้ในกระเป๋าหนึ่งใบมีจังหวะการทอที่หลากหลาย ทำให้มีลวดลายของเนื้อผ้าไม่เหมือนกัน และยังมีการทอร่วมกับเหรียญและลูกปัด สร้างลูกเล่นที่สะท้อนความเป็นชนเผ่าและเพิ่มมูลค่าให้กระเป๋าด้วย”

ธมนวรรณ กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่เลือกใช้วิธีการทอ เนื่องจากโดยทั่วไปการใช้งานเชือกรองเท้า คือ การมัดและผูก เธอจึงอยากปรับรูปแบบจากเชือกเส้นเดี่ยวให้กลายเป็นผืนผ้า และเหตุผลที่เลือกกี่กระตุก เพราะเป็นวิธีที่สามารถทำให้เชือกรองเท้าบีบแน่นเป็นผืนบางและมีความแข็งแรง

ธมนวรรณ แสงจันทร์ ทอเชือกรองเท้าเป็นสินค้าแฟชั่น

“ก่อนหน้านี้ มีการนำเชือกรองเท้าไปทดลองถักนิตติ้งแต่ไม่เวิร์ก เพราะเชือกรองเท้ามีลักษณะเป็นเส้นใหญ่ทำให้เมื่อถักนิตติ้งจะมีความหนาไม่เหมาะกับการนำมาทำกระเป๋า และทำให้สินค้ามีน้ำหนักเยอะเกินไปไม่ตอบโจทย์การใช้งาน แต่เมื่อลองวิธีการทอด้วยกี่จะได้ผืนผ้าที่บางลงและน้ำหนักเบาลง”

จากนั้นเมื่อได้ออกมาเป็นผืนผ้าแล้ว เธอได้นำไปเข้ากระบวนการรีดผ้ากาวเพื่อให้ผ้าอยู่ทรงก่อนนำไปตัดเย็บ และเมื่อส่งให้ช่างเย็บกระเป๋าทำตามที่ออกแบบไว้แล้ว ก็จะได้งานหัตถกรรมชิ้นงามที่มีคุณสมบัติแข็งแรง คงทน และกันน้ำ ตามคุณสมบัติของโพลีเอสเตอร์ซึ่งเป็นวัสดุของเชือกรองเท้า

ธมนวรรณได้คิดและสร้างสรรค์โครงการออกแบบกระเป๋า โดยใช้เศษเชือกเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเชือกดังกล่าว เป็นวิทยานิพนธ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเธออยู่ภายใต้สาขาการออกแบบสิ่งทอ เกี่ยวกับการออกแบบผืนผ้า พัฒนา และสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ ให้กับงานผ้า ผ่านการทดลองเพื่อเสาะหาทุกความเป็นไปได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงความงามและความเป็นไปได้ในการผลิตตามระบบอุตสาหกรรม อย่างชิ้นงานที่เธอทำเรียกว่าตอบโจทย์ เพราะสามารถนำวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่า

ธมนวรรณ แสงจันทร์ ทอเชือกรองเท้าเป็นสินค้าแฟชั่น

นอกจากนี้ บัณฑิตจบใหม่วัย 22 ปี ยังมีความคิดอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ จึงตั้งใจที่จะต่อยอดโครงการในมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นสตาร์ทอัพสร้างรายได้ เธอเผยว่า จะนำเชือกรองเท้าสีอื่นๆ ที่ได้จากการเหมาซื้อมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าคอลเลกชั่นใหม่ที่มีสีสันต่างออกไป โดยเธอเริ่มวางขายแล้วผ่านช่องทางออนไลน์ อินสตาแกรม growtha.studio ประเดิมสินค้าชิ้นแรกด้วยรองเท้าแตะ (Sandals) ราคาคู่ละ 1,250 บาท ส่วนสินค้าต่อไปเธอวางแผนว่าจะเป็นกระเป๋า วางราคาอยู่ที่ 2,000-4,500 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงาน อายุ 25 ปีขึ้นไป

“กระเป๋าแต่ละใบจะมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์ไปเพิ่มมูลค่าให้สิ่งเหลือใช้ ซึ่งผู้ใช้จะรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และจะได้ถือกระเป๋าดีไซน์ใหม่จากวัสดุชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำ” ธมนวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

หลังจากค้นพบคำถามที่ค้างคาใจ วันนี้เธอสามารถต่อยอดเชือกรองเท้าที่มีค่าแค่หลักสิบให้กลายเป็นสินค้าแฮนด์เมดหลักพัน นับเป็นการเพิ่มมูลค่าสิ่งเหลือทิ้งขึ้นอีกหลายร้อยเท่าโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และหลักการหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย ถักทอเส้นสายที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อื่นใดให้เป็นสินค้าแฟชั่นสุดชิก