posttoday

ชีวิตหลังกำแพงไร้อิสรภาพ ที่เรียกว่า‘คุก’

21 ตุลาคม 2561

ชีวิต ความเป็นอยู่ และความรู้สึกของผู้ต้องโทษที่ถูกกักขังในพื้นที่อันถูกจำกัดเป็นอย่างไร?

เรื่อง : วิรวินท์ ศรีโหมด

“คุก” หากเอ่ยถึงคำคำนี้ เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากเข้าไปกล้ำกราย แต่เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับคำดังกล่าว ด้วยการเข้าไปทำงานสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง ณ เรือนจำอำเภอธัญบุรี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี สองสถานจองจำผู้กระทำความผิด

จึงอยากนำบรรยากาศ ชีวิต และความรู้สึกของคนที่ถูกจองจำเบื้องหลังกำแพงสูงออกมาถ่ายทอดให้คนข้างนอกที่ไม่อาจรับรู้หรือสัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นจริงๆ ว่าชีวิต ความเป็นอยู่ และความรู้สึกของผู้ต้องโทษที่ถูกกักขังในพื้นที่อันถูกจำกัดเป็นอย่างไร? เพื่ออาจจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจไม่ให้กระทำความผิด จนทำให้ตัวเองได้เข้าไปสัมผัสชีวิตในนั้น

เรือนจำอำเภอธัญบุรี เป็นเรือนจำอำเภอที่มีความมั่นคงปานกลาง คุมขังนักโทษทุกคดี สร้างมาแล้ว 109 ปี ตั้งแต่ปี 2452 พื้นที่ภายในเรือนจำจุดที่ใช้คุมขังนักโทษประมาณ 5 ไร่ รองรับได้ราว 1,000 คน ซึ่งเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เนื้อที่ขนาดนี้อาจพอต่อจำนวนนักโทษ แต่ปัจจุบันมีนักโทษเกือบ 3,000 คน เรียกได้ว่าชีวิตข้างในอยู่ด้วยความแออัดมาก และการที่ยิ่งต้องใช้ชีวิตแบบเดิมทุกวันคงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมิใช่น้อย

บรรยากาศในเรือนจำฯ ธัญบุรี สิ่งที่ผู้เขียนเห็นตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไป การคุมขังนักโทษถูกจัดแบ่งไว้เป็นโซนๆ ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มากเท่าสนามฟุตซอล 1 สนาม ทางเดินตรงกลางเชื่อมแต่ละโซนขนาดกว่าประมาณ 3-4 เมตร แต่ละโซนคุมขังจะมีรั้วกั้น

ทั้งนี้ ภายในแต่ละโซน บริเวณด้านหน้าจะเป็นลานมีหลังคาคลุม ด้านหลังเป็นเรือนนอน 2 ชั้น ด้านหน้ามีทางเดินไม่กว้าง ด้านหลังผนังห้องจะเป็นลูกกรงทั้งหมด ซึ่งความรู้สึกที่ได้ไปสัมผัสตรงนั้น เรียกว่าอึดอัดมากแม้เพียงเข้าไปไม่นาน

ขณะที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี เป็นเรือนจำใหม่คุมขังเฉพาะนักโทษหญิงเฉพาะคดียาเสพติดที่กระบวนการในชั้นศาลจบแล้ว เปิดมา 39 ปี ตั้งแต่ปี 2522 วัตถุประสงค์ที่จะบำบัดรักษา อบรมและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังหญิงที่ต้องโทษคดียาเสพติด มีพื้นที่คุมขังนักโทษประมาณ 15 ไร่ แต่บรรยากาศสถานที่คุมขังแห่งนี้ไม่อึดอัดเหมือนเรือนจำอำเภอธัญบุรี

ภายนอกทัณฑสถานฯ หญิงธัญบุรีอาจดูเงียบๆ แต่ภายในเมื่อเดินผ่านพ้นประตูที่มีความมั่นคงเข้าไป ด้านซ้ายมือจะเป็นโรงอาหารของผู้ต้องโทษ และเป็นที่พบญาติในช่วงวันที่ทัณฑสถานฯ เปิดให้ญาติเข้ามาเยี่ยมได้ปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนด้านขวาจะเป็นอาคารพยาบาลและสำนักงาน

เมื่อเดินต่อไปอีกหน่อย จะเห็นพื้นที่ตรงกลางเป็นลานกว้างที่มีสวนเล็กถูกตกแต่งอยู่ และ 3 มุมริมกำแพง (ตรงกลาง ซ้าย ขวา) เป็นเรือนนอนของผู้ต้องโทษหญิง ส่วนพื้นที่จะถูกจัดแบ่งคล้ายกับเรือนจำฯ ธัญบุรี แตกต่างกันตรงที่เรือนจำแห่งนี้ไม่แออัดเท่าไรนัก และเมื่อกวาดสายตารอบๆ ผู้ต้องโทษจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกอาชีพตามที่ได้เลือกไว้ อาทิ งานเย็บรองเท้า เย็บผ้า พับถุง ทำพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ

สำหรับกิจวัตรประจำวันของผู้ต้องโทษเกือบทุกแห่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ผู้คุมได้เล่าให้ฟังว่า นักโทษต้องตื่นประมาณ 05.00 น. เพื่อสวดมนต์ จากนั้นใกล้ๆ 06.00 น. จะกินข้าวและทำกิจวัตรประจำตัว ก่อนที่จะเคารพธงชาติเวลา 08.00 น. จากนั้นแต่ละคนต้องแยกย้ายไปทำงานหรือฝึกอาชีพ จนถึงเวลา 11.30 น.

เวลาประมาณ 12.30 น. ก็กลับมาทำต่อ เลิกงานประมาณ 3-5 โมงเย็น แล้วแต่งานที่ทำ จากนั้นจึงจะให้กินข้าวและทำกิจวัตรประจำตัวอีกครั้งก่อนที่จะขึ้นห้องนอน ซึ่งต้องทำแบบนี้ซ้ำๆ ทุกวันนานหลายปี

จากการได้คุยกับผู้ต้องโทษหลายคน ทราบว่าช่วงแรกๆ รู้สึกอึดอัดหรือรับไม่ได้ แต่เมื่ออยู่ไปก็ชิน และเมื่อถามถึงระยะเวลาอันใกล้ที่จะได้เป็นอิสรภาพ บางคนถึงกับน้ำตาคลอ พร้อมบอกความในใจว่า หากย้อนวันเวลากลับไปได้ พวกเขาคงไม่ทำในสิ่งผิดพลาดเหล่านั้น แต่เมื่อมันย้อนอะไรไม่ได้ก็ต้องยอมรับ

แต่หลังพ้นกำแพงที่กักขังอิสรภาพนี้ออกไปจะประพฤติตัวใหม่ เพราะไม่อยากกลับมายังที่สถานที่แห่งนี้อีกแล้ว