posttoday

Understanding Your Muscle contraction EP 2 ทำความเข้าใจกระบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ 2

22 ตุลาคม 2561

ความสัมพันธ์ของระบบกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว

โดย : ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com

ในระบบกล้ามเนื้อนั้นทำงานกันเป็นทีม ไม่มีกล้ามเนื้อมัดไหนทำงานโดดเดี่ยว เพราะกล้ามเนื้อนั้นทำงานร่วมกัน เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราติดต่อกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง จะส่งผลกระทบกับร่างกายส่วนที่เหลือผ่านระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน นั่นหมายความว่า ในชีวิตของเราไม่เคยใช้กล้ามเนื้อแค่กลุ่มเดียวในการทำภารกิจ เพราะการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นผ่านการสั่งการจากระบบประสาท ให้เราใช้พลังที่เพียงพอในการควบคุม ติดต่อใช้ให้ถูกส่วน ตรงจุด โดยไม่ใช้พลังงานที่มากเกินไป ส่งผลให้เราอาจสร้างความตึงเครียดให้กล้ามเนื้อโดยไม่จำเป็น

ความสัมพันธ์ของระบบกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว ต้องทำความเข้าใจระบบห่วงโซ่ของการเคลื่อนไหว Kenetic Chains ซึ่งเคยเขียนเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในฉบับก่อนๆ นับเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราต้องทำความเข้าใจว่ากล้ามเนื้อจะทำงานได้ดีขึ้น ลึกขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อส่งพลังมาจากแกนกลางลำตัว ถ่ายทอดไปที่แขน ขา รวมทั้งการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อกับข้อต่อ เมื่อเรามองความสัมพันธ์แบบภาพรวมระบบกล้ามเนื้อทำงานเป็นเหมือนระบบเมทริกซ์ (The Matrix) แต่เนื่องจากในครั้งนี้ ต้องการอธิบายการหดตัวของกล้ามเนื้อแบบพิจารณาเดี่ยวๆ ที่กลุ่มกล้ามเนื้อกลุ่มเดียวเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน

ต่อจากฉบับที่แล้ว ในวันนี้เราจะมาดูการทำงานการหดตัวของกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ เบรคิไอ (Triceps Brachii) ในท่าจะตุรังคะ ทัณฑาสะนะ (Chaturanga Dandasana) กันค่ะ (ดูตัวอย่างจากภาพที่ 1)

ในภาพที่ 1 ภาพบนสุดเป็นการทำท่ากระดาน Plank สีแดง คือ การแสดงให้เห็นกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ เบรคิไอ เมื่อเรายุบตัวลงในท่าจะตุรังคะดังตัวอย่างในภาพ ตรงกลางกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ทำงานหดตัวแบบเอกเซนตริก กล้ามเนื้อเหยียดตัวออก (Eccentric)

Understanding Your Muscle contraction EP 2 ทำความเข้าใจกระบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ 2

ในขณะที่ดันตัวเองขึ้นมาสู่ท่ากระดานดังภาพล่าง กล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ทำงานแบบคอนเซนตริก (Concentric) กล้ามเนื้อหดสั้นเข้า ซึ่งการหดตัวแบบเอกเซนตริกจะมีแรงกดดันบังคับมากกว่า และอาจจะสร้างความเครียดให้เส้นเอ็นในกล้ามเนื้อได้ เมื่อเราทำซ้ำหรือทำมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้หลีกเลี่ยง เพราะการหดตัวแบบเอกเซนตริก ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เมื่อฝึกเป็นประจำ แต่ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายเช่นกัน หากเราไม่ระวังขณะฝึก หรือเมื่อเราไม่พร้อม

อีกสิ่งหนึ่งที่บางครั้งเราอาจสับสน คือ การเหยียดยาวออกของกล้ามเนื้อ Lengthen ต่างจากการยืด Stretch ทั้งสองคำนี้ใช้ในความหมายที่ต่างกัน สำหรับกับกล้ามเนื้อเมื่อมีการหดตัวแบบเอกเซนตริก คือ การเหยียดยาวออกได้ ไม่ว่าจะมีการใช้งานของกล้ามเนื้อหรือไม่ใช้ก็ตาม เพราะบางครั้งอาจเป็นผลมาจากแรงโน้มถ่วง หรือแรงดึงต้านจากกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น การเหยียดยาวออก ไม่ได้หมายความว่ากล้ามเนื้อกำลังผ่อนคลายเสมอไป ในตัวอย่างต่อไปเป็นการทำท่ายกลำตัวด้านข้าง Side Crane Pose การใช้งานกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ เมื่อเรางอข้อศอกเป็นแบบเอกเซนตริกเช่นกัน ในขณะที่เราทำท่าและเมื่อเราค้างท่า ไตรเซ็ปส์จะทำงานแบบไอโซเมตริก Isometric Contraction

การทำความเข้าใจนี้จะทำให้เรารู้ว่ากล้ามเนื้อทำงานอย่างไรแบบเฉพาะเจาะจงกล้ามเนื้อจนนำไปสู่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบกล้ามเนื้อกับระบบกระดูก ข้อต่อและระบบอื่นๆ กับร่างกายในภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น ละเอียดมากขึ้นจนนำไปสู่การพัฒนาการฝึกของเราให้ดียิ่งขึ้น (ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก Joe Miller)

CR.ขอขอบคุณภาพเขียนสีน้ำแนวอาร์ตจากคุณเจน Jane Jiit (Watercolor), IG : janewaterblog