posttoday

สไตล์การโค้ชของคุณ เป็นอย่างไร

20 ตุลาคม 2561

โดย..ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ บริษัท แอคคอม แอนด์ อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์โค้ชนานาชาติ

โดย..ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ บริษัท แอคคอม แอนด์ อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์โค้ชนานาชาติ

บุคลากรในปัจจุบันและอนาคต มีความคาดหวังให้หัวหน้ามีสไตล์การบริหารแบบโค้ชมากกว่าการควบคุม สั่งการ อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ดิฉันได้รับบ่อยๆ จากผู้บริหารที่ได้พยายามปรับตัวมาใช้การโค้ชกับทีมงานมากขึ้น นั่นคือ ระหว่างการโค้ช ทำไมโค้ชลูกน้องบางคนก็ราบรื่น มีความคืบหน้า มีผลดีตามมา แต่ทำไมโค้ชลูกน้องบางคน คุยกันแล้วคุยกันอีก ไม่ได้รับความร่วมมือในการสนทนาเท่าใดนัก ผลออกมาไม่เป็นดั่งที่คาดหวัง

หนึ่งในทางออกของเรื่องนี้ก็คือ การปรับสไตล์เข้าหากัน โดยธรรมชาติคนเรามักจะชอบคุยกับคนที่มีอะไรเหมือนหรือคล้ายกัน ดังนั้น ถ้าโค้ชเริ่มจากเข้าใจสไตล์การโค้ชของตนเองก่อน และวิเคราะห์สไตล์ของลูกน้อง การรู้เขา รู้เรา และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว จะทำให้มีความราบรื่นในการโค้ช และยิ่งคุยกันบ่อย ก็จะเพิ่มระดับของความไว้วางใจขึ้นไปเรื่อยๆ มาลองดูกันค่ะว่า คุณเป็นโค้ชสไตล์ใดดังต่อไปนี้

สไตล์แรก ดิฉันเรียกว่า โค้ชจอมบงการ โค้ชสไตล์นี้มีแนวโน้มฟังน้อย สั่งเยอะ ถามเอง ตอบเอง ใจร้อนในการอยากได้คำตอบจากโค้ชชี่ในระหว่างการโค้ช ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่เร่งด่วน แต่สามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกว่าสถานการณ์อยู่ในจุดวิกฤตเข้าแล้ว มักกำหนดทุกสิ่งอย่างให้โค้ชชี่ ใช้คำพูดตรงไป ตรงมา หรือขวานผ่าซาก มุ่งไปที่ผลลัพธ์

โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับผู้ได้รับการโค้ชที่ต้องการทิศทาง คำสั่งชัดเจน เป็นคนที่กล้าแสดงออก ไม่ขี้ใจน้อย ไม่เสียความรู้สึกง่ายๆ โค้ชชี่แบบนี้จะชอบที่โค้ชเชื่อมั่นให้เขาได้ทำอะไรที่ท้าทายตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปเจอโค้ชชี่ที่มีสไตล์ตรงกันข้าม ซึ่งดิฉันเรียกขำๆ ว่า สไตล์ที่ชงกัน โค้ชสไตล์นี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง เช่น โค้ชชี่ที่ไม่ค่อยแสดงออก ไม่กล้าพูด เป็นคนใส่ใจในทุกคำพูด อาจจะรู้สึกอึดอัด โดนเร่งรัด และในที่สุดก็เงียบดีกว่า

สไตล์ที่สองคือ โค้ชเฮฮา โดยธรรมชาติ โค้ชสไตล์นี้เป็นนักคิดสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี

มีโครงการในหัวเยอะแยะไปหมด มีแนวทางใหม่ๆ เสมอ ชอบสื่อสารแบบสองทาง โต้ตอบกันไปมา ช่วงแรกๆ โค้ชชี่ จะรู้สึกว่าเดินเข้ามาคุยกับโค้ชสไตล์นี้ได้ทุกเวลา มีความเป็นกันเอง ทำให้การเปิดใจคุยกันเป็นเรื่องง่าย

โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับโค้ชชี่ที่ชอบได้รับอิสระในการคิด ชอบแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ แสดงออกทั้งคำพูดและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา กล้าคิดนอกกรอบ และไม่ติดกับความคิดเดิมๆ

โค้ชสไตล์นี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง ถ้าไปเจอโค้ชชี่ที่ไม่หือไม่อือ ไม่ชอบพูดคุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน ผู้ที่ต้องการแผนงานที่ละเอียดมีขั้นตอน และไม่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนบ่อยๆ

สไตล์ที่สามคือ โค้ชใจดี เป็นผู้รับฟังที่ยอดเยี่ยม สนับสนุนให้โค้ชชี่ใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นคนประนีประนอม หาทางออกร่วมกันแบบ win-win เป็นสไตล์ที่รับฟังทั้งคำพูดและความรู้สึกของโค้ชชี่

หนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของโค้ชคือเป็นผู้ฟังที่ดี สไตล์นี้ก็โชคดีหน่อย ที่มีคุณสมบัตินี้อยู่ในตนเอง เมื่อโค้ชใครก็แล้วแต่ ก็มักจะทำให้โค้ชชี่รู้สึกไว้วางใจได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม โค้ชสไตล์นี้มีแนวโน้มใจดีมากไป เมื่อเห็นอกเห็นใจโค้ชชี่มากไป อาจจะลงมือทำให้แทน หรือออกรับแทน หากปกป้องโค้ชชี่มากไป โค้ชชี่ก็อาจจะเคยตัว และการพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า

สไตล์ที่สี่ คือ โค้ชเจ้าระบบ เป็นโค้ชที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง แม่นยำ ให้เวลาในการทำความเข้าใจกระบวนการอย่างถี่ถ้วน จะตัดสินใจใดๆ ต้องมีรายละเอียด ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ในการโค้ชก็จะมีการวางแผน การเตรียมการ มีขั้นตอน และติดตามผลอย่างที่ตกลงกันไว้

โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับโค้ชชี่ที่ชอบพิสูจน์ ลองแล้วลองอีกให้ถูกต้องที่สุด และต้องการความสมบูรณ์แบบ ใช้เหตุและผลโดยไม่นำเรื่องความรู้สึกมาปนเปในการตัดสินใจ

โค้ชสไตล์นี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง ถ้าไปเจอโค้ชชี่ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึก การพูดคุยแบบสบายๆ ไม่เป็นทางการ และหรือโค้ชชี่ที่ชอบความเสี่ยง ชอบท้าทายวิธีการเดิมๆ

ข่าวดีคือ โค้ชทุกสไตล์สามารถที่จะเรียนรู้สไตล์ของโค้ชชี่ และปรับตัวเข้าหาเขาหรือเธอได้เสมอ โค้ชไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสไตล์พฤติกรรมตนเองแบบถาวร ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอื่น เพื่อที่จะโค้ชได้สำเร็จ เพราะในแต่ละสไตล์มีข้อดีและข้อควรระวังต่างกัน และทุกๆ สไตล์ก็มีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการโค้ช เพียงปรับวิธีการสนทนาในระหว่างการโค้ชให้เข้ากับสไตล์ของโค้ชชี่บ้าง เพื่อพัฒนาระดับความไว้วางใจ และทำให้โค้ชชี่รับรู้ได้ถึงเจตนาที่ดีของโค้ช

หากท่านต้องการให้โค้ชชี่พัฒนาตนเองอยู่เสมอ โค้ชก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาตนเองด้วย จริงไหมคะ