posttoday

7 ประเภทการออมฉลาด

18 ตุลาคม 2561

หลายคนมีปัญหากับการออม เพราะหลายครั้งที่ออมไม่ได้อย่างตั้งใจ

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์ 

หลายคนมีปัญหากับการออม เพราะหลายครั้งที่ออมไม่ได้อย่างตั้งใจ(ฮา) ออมแล้วยังต้องเสียภาษีสำหรับผลตอบแทน ทั้งที่ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลก็น้อยอยู่แล้ว เอ๊ะ แต่หลายคนนั้นรู้หรือยังว่า ยังมีการออมถึง 7 ประเภทที่ออมได้แบบฉลาดๆ ออมได้แบบง่ายๆ และไม่ต้องเสียภาษีเลยสักบาทด้วย จะเป็นอะไรกันบ้าง มาดูกันเลย

1.สลากออมทรัพย์จากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สลากออมทรัพย์จัดอยู่ในเงินฝากเผื่อเรียก เป็นการออมเงินที่เหมือนการฝากเงินกับธนาคาร โดยผู้ซื้อสลากนั้นจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารกำหนด แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษที่มากกว่าเงินฝากธนาคารทั่วไป โดยผู้ซื้อสลากจะได้รับสิทธิในการลุ้นรางวัล
ทุกเดือนหรือทุกงวดจนกว่าจะครบกำหนดอายุของสลากนั้นๆ

ตามกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 42(8)(ก) และ(11) ที่ระบุไว้ว่า “ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก” และ “รางวัลบัตรออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” ได้รับยกเว้นภาษี

2.ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์

ก่อนจะฝากเงินกับสหกรณ์ได้ ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้นๆ ก่อน โดยผลตอบแทนที่ได้จะมีทั้งในรูปแบบของเงินปันผล และดอกเบี้ยเงินฝาก(ออมทรัพย์) ซึ่งผลตอบแทนทั้งสองรูปแบบจะสูงกว่าดอกเบี้ยจากธนาคารทั่วไป แถมได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 42(8)(ข) และพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 40

3.เงินฝากประจำระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปสำหรับผู้มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์

คุณสมบัติของเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมายมาตรา 50(2) และมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากรนั้น จะต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปี(12 เดือน)ขึ้นไป และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้ว ต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 3 หมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้ฝากต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์(นับตามวันเดือนปีเกิดของผู้ฝาก)

4.การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ โดยดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 2 หมื่นบาท

เงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นออมทรัพย์ที่ไม่ใช้เช็คในการถอน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์นี้ ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเงินฝากอื่นใด และจะต้องมีจำนวนดอกเบี้ยรวมกันทุกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของทุกธนาคารทั้งสิ้นไม่เกิน 2 หมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น

5.เงินฝากประจำปลอดภาษี

เงินฝากประจำปลอดภาษีเป็นการฝากเงินรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยยอดเงินฝากแต่ละครั้งต้องมีจำนวนเท่ากันทุกเดือน และยอดเงินที่ฝากในแต่ละครั้ง จะต้องไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 6 แสนบาท ดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถเปิดได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น(รวมทุกธนาคาร)

6.ลงทุนในกองทุนรวมที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี เนื่องจากเงินปันผลของกองทุนต่างๆ นั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10%(มาตรา 48(3) แห่งประมวลรัษฎากร) ไว้แล้ว ซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษสำหรับเงินได้ประเภทนี้ ที่จะเลือกเสียภาษีในอัตราที่ถูกไว้ (Final TAX) โดยไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้เมื่อยื่นแบบ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนไปพร้อมกันด้วย

7.ลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงในการนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทใด เช่น รถไฟฟ้า เขื่อน ถนน เป็นต้น กองทุนกำหนดให้บุคคลธรรมดาผู้ซื้อกองทุน ได้รับสิทธิยกเว้นสำหรับเงินปันผลที่ได้จากการลงทุนเป็นเวลา 10 ปีภาษีต่อเนื่อง นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าว รวมทั้งกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ ก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเช่นกัน