posttoday

คีตราชา น้อมรำลึกพระปรีชาด้านดนตรีในหลวง ร.9

18 ตุลาคม 2561

เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี

เรื่อง ภาดนุ 

เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้พระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าแก่ปวงชนชาวไทย อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกของไทย

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จึงร่วมกับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สานต่อ “โครงการคีตราชา โปรมูสิกาจูเนียร์ แคมป์” ปีที่ 5 เพื่อเฟ้นหาเยาวชนอายุ 10-17 ปี ผู้มีความสามารถทางดนตรีคลาสสิกเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยปีนี้มีเยาวชน 25 คนจากทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ใน “โปรมูสิกา จูเนียร์ คอนเสิร์ต 2018” ซึ่งจัดขึ้นทุกเดือน ต.ค.ของทุกปีโดยบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่เชิญมาแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ บทเพลงชุด “กินรีสวีท” ประกอบด้วย เริงวนารมย์, พรานไพร, กินรี และภิรมย์รัก พร้อมด้วยบทเพลงอาทิตย์อับแสง และบทเพลงคลาสสิกของ โยฮันน์ ซเตราสส์ ได้แก่ Die Fledermaus Overture, Pizzicato Polka และ Kaiser Waltz

คีตราชา น้อมรำลึกพระปรีชาด้านดนตรีในหลวง ร.9

ดร.ทัศนา นาควัชระ ผู้อำนวยการโครงการ โปรมูสิกา จูเนียร์ แคมป์ เล่าถึงการรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมเวิร์กช็อปและการออดิชั่นเยาวชนเพื่อเข้าโครงการนี้ให้ฟัง

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โครงการของเราได้มีการจัดเวิร์กช็อปใน 6 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศทุกปี ในแต่ละปีจะมีเด็กๆ มาสมัครเข้าร่วมเวิร์กช็อปไม่ต่ำกว่า 500 คน จากนั้นเด็กต้องกลับไปซ้อมดนตรี และส่งคลิปวิดีโอเข้ามาออดิชั่น ซึ่งในปีนี้การสอบจะยากกว่าทุกปี จึงถือเป็นการ
สกรีนเด็กที่จะได้รับทุนในเบื้องต้นไปด้วย ฉะนั้นเด็กที่ส่งคลิปมาออดิชั่นจึงต้องเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ซึ่งการออดิชั่นจะให้เล่นเพลงกินรีสวีท 1 ท่อน และเพลง Die Fledermaus Overture ของ โยฮันน์ ซเตราสส์ ซึ่งเป็นเพลงที่นักดนตรีในยุโรปใช้สอบเข้าวง จึงมีมาตรฐานของโน้ตที่ค่อนข้างสูง การออดิชั่นส่วนใหญ่เด็กๆ จะส่งคลิปวิดีโอตอนเล่นเครื่องดนตรีมาให้ดู ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดตอนนี้เพราะจะได้ไม่ต้องเดินทางไปคัดเลือกตัวเด็กทุกจังหวัด และในอนาคตก็อาจจะใช้วิธีออดิชั่นผ่าน Skype แบบเรียลไทม์เข้ามาช่วย

สำหรับโครงการคีตราชาฯ เราได้ทำอย่างต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว โดยได้ต้นแบบมาจากโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ออกไปเฟ้นหาเด็กที่ขาดโอกาสตามต่างจังหวัดห่างไกลที่มีความสามารถ เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านดนตรีของพวกเขา แต่โครงการของเราไม่ใช่แค่คัดเลือกเด็กจากต่างจังหวัดเท่านั้น เด็กในกรุงเทพฯ ก็สามารถมาเวิร์กช็อปหรือส่งคลิปวิดีโอเข้ามาออดิชั่นได้”

คีตราชา น้อมรำลึกพระปรีชาด้านดนตรีในหลวง ร.9

ดร.ทัศนา บอกว่า ในปีที่ 5 นี้โครงการเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาได้มีการจัดเวิร์กช็อปและคัดเลือกเยาวชนจากทุกภาคของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานในการคัดเลือกอยู่ตามเมืองหรือจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย บุรีรัมย์ เป็นต้น อย่างในเชียงรายก็จะมีกลุ่มเด็กชาวเขาที่ฝึกเล่นดนตรีกัน โดยได้รับการดูแลจากคริสตจักร หรือในเชียงใหม่ก็จะมีกลุ่มเด็กในโรงเรียนที่มีวัฒนธรรมการเล่นดนตรีด้วยเช่นกัน

“ทักษะทางด้านดนตรีของเด็ก จะขึ้นอยู่กับพรสรรค์ของแต่ละคนมากกว่า บางทีเราเจอเด็กที่อยู่ชายแดน แต่เขามีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีมากๆ ก็เคยมาแล้วฉะนั้นจึงพูดได้ยากว่าเด็กในภาคไหนมีความสามารถที่โดดเด่นกว่ากัน อย่างโรงเรียนบางแห่งในเชียงใหม่ที่มีต้นทุนทางการสอนดนตรี มีเครื่องดนตรี มีครูมาสอนอยู่แล้ว เด็กพวกนี้ก็จะมีความสามารถทางด้านดนตรีที่น่าสนใจ บางทีก็มีม้ามืดจากโรงเรียนห่างไกลก็มี

ในทางกลับกัน แม้โรงเรียนนั้นอาจมีเงินซื้อเครื่องดนตรีครบ มีเด็กพร้อมเรียนแต่ไม่มีครูสอนก็มีนะ ไม่ว่าจะเด็กในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด การเรียนดนตรีนั้นครูผู้สอนมีความสำคัญมาก เพราะเป็นวิชาที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ผู้เรียนผู้สอนต้องได้เจอกันจริงๆ ถึงจะรู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาที่เป็นวงกว้างตอนนี้เริ่มต้นจากครู ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราให้ความสำคัญกับครู โดยอยากจะให้ความรู้กว้างๆ กับครูสอนดนตรีว่า วิธีการสอนจริงๆ เป็นอย่างไร การบริหารจัดการวงดนตรีขนาดเล็กเป็นอย่างไร ต้องเรียบเรียงเสียงประสานมั้ย หรือถ้าต้องสอนเด็กเล็กที่เริ่มต้นจากศูนย์จะต้องมีวิธีการอย่างไร เราจึงพยายามทำให้ 1 สัปดาห์ที่เวิร์กช็อปกันนั้น ทำให้ครูได้ความรู้มากที่สุด”

คีตราชา น้อมรำลึกพระปรีชาด้านดนตรีในหลวง ร.9

ดร.ทัศนา เสริมว่า โครงการที่ทำมา 5 ปีนี้มีส่วนทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ลืมเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 โดยได้พยายามทำให้เพลงพระราชนิพนธ์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย แม้อาจไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนในอดีต แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ยังมีส่วนช่วยในการรักษาเพลงพระราชนิพนธ์ไว้ให้ได้นานที่สุด โดยดึงทั้งคุณค่าของตัวบทเพลง เนื้อร้อง ทำนอง และเสียงประสาน จากฝีพระหัตถ์ของในหลวง ร.9 มาเป็นโจทย์ใหญ่เพื่อถ่ายทอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกันด้วย แทนที่เด็กๆ จะเล่นเพลงคลาสสิกของตะวันตกเพียงอย่างเดียว
ก็จะเป็นการดีกว่า ถ้าพวกเขาได้เชิญเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่นด้วย เพราะเพลงพระราชนิพนธ์ มีทำนอง มีตัวโน้ตที่กลมกลืน และมีความเป็นสากลสูงมาก

“เนื่องจากโครงการคีตราชาฯ จัดแค่ปีละครั้ง และกิจกรรมจะมีแค่ช่วง ส.ค.-ต.ค. ดังนั้น เยาวชนที่ต้องการมาร่วมโครงการในปีหน้า ก็อยากให้ติดตาม Fanpage Facebook : ProMusicaJunior ให้ดีว่าจะมีการเปิดรับสมัครที่จังหวัดไหนบ้าง โดยจะมีการเวิร์กช็อปก่อน ต่อด้วยการออดิชั่น นำไปสู่การได้รับทุนเรียนในขั้นต่อไป แม้เด็กบางคนจะยังไม่ผ่านการออดิชั่น แต่ความรู้ที่ได้จากการเวิร์กช็อปก็จะช่วยให้เขาฝึกซ้อมและพัฒนาฝีมือทางด้านดนตรีของตัวเองให้พัฒนา แล้วยังสามารถกลับมาออดิชั่นใหม่ได้อีกด้วย”

ด้าน ธัญชิศา เรื่องลือ หรือ มิวสิค วัย 18 ปี เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เป็นเยาวชนที่ผ่านการอบรมจากโครงการในปีที่ผ่านมา และได้รับทุนการศึกษาสาขาวิชาดนตรีคลาสสิก
เผยว่า เธอเล่นเครื่องดนตรีเชลโลมาได้ 8 ปีแล้ว

“เหตุผลที่หนูเลือกเล่นเชลโลก็เพราะมีรุ่นพี่แนะนำให้เล่น ประกอบกับเคยอยู่วงโยธวาทิตมาก่อน รวมทั้งชอบเรนจ์เสียงที่ไพเราะของเชลโล ทำให้หนูรักการเล่นเชลโลมาก ที่ผ่านมาหนูเข้าร่วมโครงการคีตราชาฯ มาได้ 3 ปีแล้ว เกิดจากการที่มีรุ่นพี่แนะนำ รวมทั้งความสนใจส่วนตัวด้วย หนูจึงตัดสินใจมาเข้าค่ายเวิร์กช็อปเพื่อจะได้พัฒนาตัวเองด้านเทคนิคและทักษะการเล่นดนตรีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่ได้เข้าร่วมเป็นนักเรียนในโครงการ ได้ทั้งความสนุกและความรู้เยอะมากจากอาจารย์ รวมทั้งการแบ่งเวลาฝึกซ้อมและการใช้เทคนิคต่างๆ อีกอย่างยังสามารถฝึกการเป็นนักดนตรีอาชีพได้ดีมาก ในด้านสังคมก็ได้เพื่อนเยอะขึ้น ได้คอนเนกชั่นจากคนที่เราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน และยังช่วยให้หนูปรับตัวเข้าหาสังคมเป็นด้วย

ที่สำคัญหนูยังได้รับทุนการศึกษา จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ด้วย ซึ่งทุนนี้มีความสำคัญกับหนูมาก เพราะการเรียนดนตรีนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แล้วในกรุงเทพฯ ยังมีค่าครองชีพที่สูงด้วย หากไม่มีทุนนี้หนูอาจจะไม่ได้เรียนดนตรีเลยก็ได้ค่ะ เพราะครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะส่งเรียน”

คีตราชา น้อมรำลึกพระปรีชาด้านดนตรีในหลวง ร.9

มิวสิค บอกว่า เวลาที่ได้เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 เธอรู้สึกดีใจและประทับใจทุกครั้ง ซึ่งเพลงที่เธอชอบมากๆ ก็คือ เพลง “แผ่นดินของเรา” ฟังแล้วรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินทองของไทย อันมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรักพสกนิกรมากขนาดนี้

“ในหลวง ร.9 ทรงเป็นต้นแบบในเรื่องการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาแม้พระองค์ทรงงานหนักมาก แต่พระองค์ก็ยังทรงแบ่งเวลาและทุ่มเทให้กับการทรงดนตรี ซึ่งบ่งบอกถึงพระวิริยอุตสาหะและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี

ในอนาคตหนูตั้งใจว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านเชลโลที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันนี้คงต้องทำให้ดีและพร้อมที่สุดก่อนค่ะ ถ้าหากฝันของหนูเป็นจริง พอเรียนจบ สิ่งแรกที่หนูอยากทำก็คือ กลับไปพัฒนาดนตรีที่โคราช โดยสอนเด็กๆ ให้เป็นนักดนตรีที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับนักดนตรีในกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันนี้ยังไม่มีครูสอนเครื่องสายที่ดีที่นั่นมากนัก อีกอย่างหนูเติบโตมากับการขาดโอกาส เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินสนับสนุน หนูจึงอยากให้เด็กที่ด้อยโอกาสแบบหนูเข้าถึงดนตรีให้มากกว่านี้ค่ะ”

สำหรับ ชวกร สงจันทร์ หรือ ว่าน วัย 11 ปี ศึกษาอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเล่นเครื่องดนตรีวิโอลา เป็นอีกหนึ่งเยาวชนที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการคีตราชาฯ ในปีนี้

“ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการนี้ สิ่งที่ทำให้ผมชอบและสนใจในการเข้ามาออดิชั่น เพราะตอนเด็กๆ แม่ผมชอบเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟัง ผมรู้สึกว่ามันเพราะดี แม่จึงสนับสนุนให้ผมเข้าร่วมชมรมดนตรีคลาสสิกที่เชียงใหม่ โดยผมเริ่มหัดเล่นไวโอลินมาตั้งแต่ 8 ขวบ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้ไม่ยากนัก และชอบเพราะเป็นเครื่องสายที่เสียงสูงมาก ฟังแล้วไพเราะไปอีกแบบหนึ่ง ผมเล่นไวโอลินอยู่ 3 ปี แต่ปัจจุบันนี้ผมได้เปลี่ยนมาเล่นวิโอลาแล้ว เพราะอยากลองเล่นเครื่องสายที่มีเสียงต่ำดูบ้าง ตอนนี้ผมจึงชอบวิโอลาไปเลยล่ะ

ที่ผมทราบเกี่ยวกับโครงการนี้ เพราะครูที่สอนดนตรีแนะนำให้ผมมาออดิชั่น ก่อนมาผมต้องฝึกซ้อมทุกวัน ต้องมีวินัยและขยัน ตอนส่งคลิปไปออดิชั่นผมใช้เพลงกินรีสวีท 1 ท่อน กับ Die Fledermaus Overture ของ โยฮันน์ ซเตราสส์ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ผมเพิ่งเคยรู้จัก โดยฝึกซ้อมอยู่ 1 เดือนเต็ม ซึ่งก่อนหน้านั้นที่ได้เข้าเวิร์กช็อป เด็กทุกคนจะได้โจทย์เพลงที่จะออดิชั่นมาก่อนแล้ว”

ว่าน บอกว่า หลังจากออดิชั่น เมื่อทราบว่าได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการนี้เขารู้สึกดีใจมาก เหตุผลที่เขาชอบดนตรีคลาสสิกก็เพราะเป็นดนตรีที่ฟังสบายหู ไม่เสียงดังเกินไป และมีทำนองที่เรียบง่ายนั่นเอง

“ก่อนหน้านี้ผมเคยรู้จักเพลงพระราชนิพนธ์มาก่อน เพราะคุณยายชอบร้องให้ฟังอยู่บ่อยๆ เช่น เพลงใกล้รุ่ง และอาทิตย์อับแสง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบเพลงใกล้รุ่ง เพราะเป็นเพลงที่มีเมโลดี้ไพเราะ เวลาเล่นวิโอลาจะมีเสียงที่เพราะตามมาในขณะเล่น สิ่งที่ชอบอีกอย่างในการได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็คือ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ และได้มาฝึกฝนการเล่นดนตรีด้วยกัน ผมคิดว่าแคมป์นี้จะให้ความรู้ความสามารถและสอนให้เราทุกคนมีวินัย มีสติในการซ้อมได้รู้จักครูสอนดนตรีคนใหม่ๆ และสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีใจอีกอย่างก็คือ การมีโอกาสได้เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 ด้วยครับ”