posttoday

พ่อแม่รุ่นใหม่เข้าใจเกมเมอร์

17 ตุลาคม 2561

ความเป็นผู้ใหญ่ทำให้รับผิดชอบมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราหลงลืมความสนุกสนานที่เคยมีในวัยเด็กไป

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี

“เรียกได้ว่าเปิดโลกใหม่ให้กับเราได้เหมือนกันนะ จากที่เราไม่เคยเข้าใจคิดว่าเกมเป็นสิ่งที่ดึงเวลาของลูกจากเราไป กลัวว่าเขาหมกมุ่นจนเสียการเรียน ทำไมถึงเรียกเขาให้มากินข้าวแล้วเขาถึงหยุดเกมไม่ได้ เกมที่เขาเล่นเป็นเกมที่มีความรุนแรงหรือเปล่า พอเราได้เข้ามาเล่นถึงได้รู้ว่าสิ่งที่เขาเล่นก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด” สุภนันท์ แก้วรุ่งเรือง เล่าความรู้สึกหลังจากได้เล่นเกมกับลูกชายของเธอ

ลองเข้าสู่โลกของเด็ก

ความเป็นผู้ใหญ่ทำให้เรามีเหตุผลมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราหลงลืมความรู้สึกสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในวัยเด็ก ลืมไปว่าเราเคยชอบและคลั่งไคล้กับสิ่งใด ลืมไปว่าชีวิตที่มีความสุขโดยมีเพียงแค่เรื่องการเรียนเป็นภาระหน้าที่เดียวนั้นเป็นอย่างไร เราจึงไม่เข้าใจเด็กติดเกมและปล่อยทิ้งพวกเขาไว้ในโลกของเกมเพียงลำพังโดยไร้ผู้ใหญ่ที่เข้าใจ

พ่อแม่รุ่นใหม่เข้าใจเกมเมอร์

โครงการ อาร์โอวี ยัง แฮปปี้ จึงเปิดขึ้นมาเพื่อชวนผู้ใหญ่วัย 45 พลัสเข้ามาเล่นเกมที่ดังที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้อย่าง อาร์โอวี เผื่อว่าจะเข้าใจในสิ่งที่เด็กเหล่านี้เล่นกันมากขึ้น

รัมย์-ศรุต วานิชพันธ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “ตอนนี้เรามีประชากรกลุ่มสังคมสูงวัยเพิ่มขึ้น จึงมองว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้ ฟังดูอาจจะยังงงๆว่าเกมไปเกี่ยวกับเรื่องของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นแค่เกมเด็กเล่น จะไปเกี่ยวกับผู้สูงอายุได้อย่างไร

แต่เราก็พบว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าเกมเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุมีประโยชน์ทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะด้านความจำดีขึ้น โอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยลง มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อันนี้ก็คือเรื่องของผลประโยชน์ของการได้สุขภาพจิตจากการเล่นเกมแล้ว แล้วที่สำคัญการเล่นเกมด้วยกันในครอบครัวเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น

ให้ผู้ใหญ่ได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับลูกหลาน แล้วก็เข้าใจลูกหลานมากขึ้นในสิ่งที่เขาเล่น อีกอย่างหนึ่งเราก็พบว่าคนวัยทำงาน หรือแม้กระทั่งผู้สูงวัยหลายคนก็ชอบเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น จึงเป็นแนวคิดที่เรามองว่าถ้าการีนาได้ทำอะไรแบบนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับกลุ่มผู้สูงวัยในประเทศไทย”

พ่อแม่รุ่นใหม่เข้าใจเกมเมอร์

เกมเมอร์วัยเก๋า

รัมย์ เล่าต่อว่า “กิจกรรมนี้อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นหากไม่มีกลุ่มที่ชื่อว่า ยัง แฮปปี้กลุ่มที่รวมผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้โรยแรงไปตามวัย เป็นกลุ่มแอ็กทีฟซีเนียร์ ที่มีมุมมอง ทัศนคติ แนวคิดใช้ชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งผู้ใหญ่ในกลุ่มนี้ก็จะใช้โซเชียลมีเดีย เล่นเกม เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราได้รู้จักและเข้าไปคุยก็เหมือนกับเรามีแนวทางเดียวกัน

อยากให้คนได้รู้จักกับสังคมดิจิทัลมากขึ้น อยากให้มีการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมสร้างความสุขร่วมกันในครอบครัว ก็เลยมาลงเอยด้วยการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปครั้งนี้ด้วยกัน

การรับสมัครและคัดเลือกของเราไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรมาก ขอแค่เป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป รับรุ่นแรกเพียงแค่ 30 คน แต่หลังประกาศออกไปมีคนสนใจสมัครเข้ามามากกว่า 100 คน ซึ่งเกินความหมายของเรามาก ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันมีผู้ใหญ่ให้การยอมรับในเรื่องของการเล่นเกมมากขึ้น

ความกังวลของเราในการจัดงานครั้งนี้นั้นมีพอสมควร อย่างแรกเรากลัวว่าผู้ใหญ่เขาจะเล่นได้ไหม เพราะเกมออนไลน์อย่างอาร์โอวีที่เด็กๆ ชอบเล่นกันมีการบังคับควบคุมที่ยากกว่า เราต้องใช้ทีมงานที่มีความรู้ ประสบการณ์ และตัวของน้องๆ เองมาช่วยแนะนำคุณพ่อคุณแม่”

เล่นกับลูกก็สนุกได้เหมือนกัน

สุภนันท์ แก้วรุ่งเรือง วัย 53 ปี หนึ่งในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ที่ยอมเปิดใจเรื่องการเล่นเกมกับลูกเผยความรู้สึกของตัวเองว่า “ก่อนหน้านี้ปัญหาที่พบกับลูกก็คือเขาติดเกมออนไลน์มาก ว่างเมื่อไหร่ก็ต้องเปิดเข้าเล่นเกม จนไม่มีเวลาให้แม่ได้พูดคุยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

เวลาเรียกกินข้าวเขาก็จะไม่มา บอกว่าเขากำลังเล่นเกมออนไลน์อยู่ มีเพื่อนเล่นด้วยหลายคน ต้องรอให้จบเกมก่อน แล้วถึงจะออกมาอยู่กับเราได้ เราจึงรู้สึกว่าเวลาที่เขาจะมีให้เราถูกแย่งไปโดยเกม จึงลองตัดสินใจที่จะลองเล่นกับเขาดู อยากรู้ว่าเกมที่ทำให้ลูกติดแล้วไม่สามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้นั้นเป็นอย่างไร มีเนื้อหารุนแรงอันตรายไหม

อีกอย่างหนึ่งก็คือเราก็อยากจะดูกับเขาว่าเกมนี้มีแง่ดีหรือเปล่า เราอาจจะมองเขาด้านเดียวเลยตัดสินใจลองเล่นกับเขาดู ก็รู้สึกว่ามันก็สนุกดี เหมือนฝึกแยกประสาทและวางแผนการเล่นด้วย ตอนเล่นครั้งแรกลูกก็จะคอยบอกว่า แม่ต้องเดินมาตรงนี้ มาเก็บของ
มาดันป้อม มากันป้อม ปล่อยอาวุธ ตามองแผนที่ดูว่าตำแหน่งไหนมีปัญหาอะไร

พอเล่นแล้วเราก็รู้สึกสนุก ความรู้สึกที่มีต่อเกมของลูกเปลี่ยนไปเยอะ จากที่เราเคยคิดว่าเป็นเกมที่มีความรุนแรงทำให้ลูกเราเปลี่ยนไป ติดเกมไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นก็รู้ว่าสนุกอย่างไร ทำไมถึงออกจากเกมในทันทีไม่ได้ ตอนนี้จากที่ไม่เคยมีเวลาให้กัน เราก็จะเลือกที่จะใช้เวลาให้กับลูกด้วยการเล่นเกมด้วยกัน 4 คนในครอบครัว

บางทีก็แบ่งฝ่ายคุณพ่อแม่สู้กับลูก หรือเล่นเป็นทีมเดียวกัน 4 คนเล่นด้วยกันก็มีเช่นกัน พอเราเริ่มเล่นเกมด้วยกันก็เริ่มมีการพูดคุยเรื่องการเล่นเกม การแบ่งเวลาการเล่นให้กับเขา เรารู้แล้วว่าเกมนี้ไม่ได้เป็นเกมที่มีความรุนแรง หรืออันตรายมากมาย เพียงแต่ว่าเราจะต้องรู้จักการแบ่งเวลา บอกเขาว่าเล่นแล้วจะต้องเล่นอย่างไร แล้วก็รู้จักเอาเวลาไปทำอย่างอื่นบ้างอย่างน้อยๆ ก็เพื่อจะได้เป็นการพักสายตาตัวเราไปด้วย ไม่ใช่เล่นเกมอยู่คนเดียวทั้งวันโดยขาดการควบคุมดูแล ถ้าเราได้เล่นกับลูกเขาก็จะฟังเรามากกว่า”

ในขณะที่ ธนทัต แก้วรุ่งเรือง ลูกชายวัย 18 ปี พูดถึงการเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ว่าแต่ก่อนผมก็จะติดเกมนี้ค่อนข้างมาก ตอนนี้พอเราโตขึ้นก็เริ่มรู้จักแบ่งเวลาเล่นเกมและออกกำลังกายมากขึ้น ช่วงเวลาที่ผมเล่นเกมก็อยู่ช่วงกลางคืนประมาณ 2 ทุ่ม จนถึง 4 ทุ่ม ประมาณ 2 ชั่วโมง ที่จะต้องเล่นฝึกซ้อมกับทีม เป็นเวลาไม่มีใครเข้ามารบกวน เทียบกับเมื่อก่อนที่ว่างเมื่อไหร่ก็หยิบมาเล่น

ช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนก็น่าจะเป็นตอนท้าให้คุณพ่อมาแข่งมาเล่นด้วยกัน พ่อจะได้รู้ว่าเกมที่ผมเล่นเป็นยังไง พอพ่อมาเล่นแล้วก็เริ่มให้การยอมรับว่าก็เป็นเกมที่มีความสนุกเกมหนึ่ง เขาเข้าใจแล้วว่าทำไมเล่นแล้วจึงออกจากเกมกลางคันไม่ได้ ตัวคุณพ่อเองก็สอนเราด้วยเหมือนกันว่าเกมนั้นสนุก แต่ว่าเราก็ต้องรู้จักการแบ่งเวลาด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นก็เริ่มเล่นด้วยกันในครอบครัวตลอด ตอนนี้ผมเริ่มจัดทีมเล่นกับเพื่อนๆซึ่งตั้งเป้าว่าจะซ้อมไปอีกสักระยะหนึ่ง แล้วหารายการสำหรับการลงแข่งในอนาคต”

พ่อแม่รุ่นใหม่เข้าใจเกมเมอร์

วัยไหนก็สนุกได้ แค่รู้จักเล่นอย่างพอดี

ท้ายสุด รัมย์ บอกกับเราว่า “สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจมากที่สุดในครั้งนี้ ก็คือการที่ผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเล่นเกมอาร์โอวี พวกเขามีความสนุก เข้าใจในตัวลูกหลานของพวกเขามากขึ้น เข้าใจว่าลูกหลานทำอะไรกัน และสามารถลงมาเล่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้วยกันในครอบครัวได้ ไม่ได้เป็นเกมที่เล่นยากสำหรับผู้ใหญ่อีกต่อไป

ยอมรับว่าแต่ก่อนการเล่นเกมในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นเล่นยาก ต้องใช้ทักษะมาก แต่พอมาเป็นเกมในสมาร์ทโฟนต้องลดทอนรายละเอียดซับซ้อนลงไป เพื่อที่จะให้เกมนั้นมีความง่ายในการเล่นมากขึ้น มีการบังคับเวลาในการเล่นให้ไม่เกิน 20 นาทีต่อเกม ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นไม่เสียเวลากับการเล่นมากเกินไป

สุดท้ายที่เราเลือกเกมอาร์โอวีมาให้ผู้ใหญ่ทดลองเล่น นอกจากเป็นเกมที่มีชื่อเสียงและมีผู้เล่นมากที่สุดในเวลานี้เพียงอย่างเดียวแต่เป็นเพราะรูปแบบการเล่นเป็นทีม ที่สามารถเปิดช่องให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวเข้ามาร่วมเล่นตั้งทีมกับลูกหลานของตัวเองได้ สามารถสนุกด้วยกัน เกิดปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว

เมื่อทุกอย่างสามารถทำงานได้บนสมาร์ทโฟน เกมก็จะสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัยได้มากขึ้น กลุ่มวัยผู้ใหญ่อายุ 60-70 ปี ก็ยังสามารถเล่นเกมฝึกสมองที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะในการบังคับ กลุ่มคนวัยทำงานก็สามารถหยิบมาเล่นในเวลาว่างเพื่อความผ่อนคลาย

ผมจึงอยากจะให้ทุกคนเปิดใจยอมรับในเรื่องของการเล่นเกม ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับคนในยุคปัจจุบันไปแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะมีความสามารถในการบริหารจัดการเวลาในการเล่นเกม ไม่ให้ไปกระทบในเรื่องของการเรียนและการงานได้อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ในเรื่องของการดูแลตัวเอง ดูแลบริหารจัดการเวลาตัวเองให้เกิดความเหมาะสม”