posttoday

รายได้จากลูก ควรรับหรือพึ่งพาอย่างไรในวัยเกษียณ

11 ตุลาคม 2561

พ่อแม่เกือบทุกคนล้วนหวังพึ่งพาลูกหลานในยามยาก ส่งเสียเลี้ยงดูอย่างดีจนบางครั้งก็ลืมนึกถึงอนาคตของตัวเองไป

เรื่อง กั๊ตจัง ภาพ pixabay

พ่อแม่เกือบทุกคนล้วนหวังพึ่งพาลูกหลานในยามยาก ส่งเสียเลี้ยงดูอย่างดีจนบางครั้งก็ลืมนึกถึงอนาคตของตัวเองไป ในขณะที่สังคมยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตกันยากขึ้น รายได้น้อยแต่ค่านิยมสูง เงินเดือนไม่พอใช้ แล้วจะมาให้พ่อกับแม่ได้อย่างไร? วันนี้เรามีแนวทางหรือแนวคิดในเรื่องการให้ลูกๆ เลี้ยงดูในยามชรามาฝากกัน

รายได้จากลูก ควรรับหรือพึ่งพาอย่างไรในวัยเกษียณ

1.พึ่งตัวเองให้มากที่สุด

อันดับแรกเราต้องเปลี่ยนแนวความคิดเสียใหม่ว่า เรามีลูกเพราะอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น มีเด็กๆ วิ่งเล่นในบ้าน ให้ปู่ย่าตายายได้เล่นกับหลาน มีเสียงหัวเราะในวันหยุด มีคนดีใจที่เห็นพ่อแม่กลับบ้านมากินข้าวเย็นด้วยกัน แต่ไม่ควรคาดหวังว่าเด็กตัวเล็กๆ ที่เราเคยให้ความรักความเอาใจใส่จะกลับมาดูแลเราอย่างดี เพราะอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน

สิ่งที่เราควรทำนอกจากลงทุนเลี้ยงลูกแล้ว ก็ควรลงทุนเก็บเงิน ลงหุ้น กองทุน ที่ให้ผลตอบแทนยามเกษียณควบคู่กันไป แล้วควรทำตั้งแต่วันแรกของการทำงาน เพราะหลายๆ กองทุนใช้เวลาคืนเงินตอบแทนไม่เท่ากัน บางอย่างต้องส่ง 10 ปีถึงจะได้ผลกำไรตอบแทนกลับมา จึงไม่ควรรอเวลาให้ลูกโตจนทำงานแล้วค่อยเริ่มเก็บเงิน

2.พูดคุยกันให้ชัดเจน

อย่าพยายามผลักภาระทุกอย่างไปที่ลูก การยกภาระความคาดหวังว่าจะต้องกลับมาดูแลเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องการ ลองย้อนนึกกลับไปในช่วงวัยทำงาน คุณเองก็ต้องการใช้เวลาทำงานหาเงิน อยากสร้างครอบครัวของตัวเองให้มั่นคง

ลูกก็เช่นกัน คุณพูดเรื่องการกลับมาดูแลพ่อแม่ให้ชัดเจน และหาทางออกร่วมกัน ส่วนมากแล้วถ้าลูกมีรายได้สูง มักจะไม่มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู แต่ถ้ามีรายได้น้อยเขาอาจจะอึดอัดใจที่จะให้เงินเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นเงินก้อน ซึ่งบางครั้งลูกอาจจะมีแผนการลงทุนในอนาคตที่อยากจะเริ่มให้เร็วที่สุด แล้วค่อยกลับมาดูแลพ่อแม่

ดังนั้นควรพูดคุยถึงเรื่องรายได้ของลูก รวมทั้งรายได้ของคุณในวัยเกษียณ แล้วหาทางออกร่วมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ซึ่งบางครั้งการช่วยเหลือดูแลพ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องให้เป็นเงินเสมอไป ขอแค่ได้อยู่ด้วยกัน สามารถรับส่งไปโรงพยาบาลยามเจ็บไข้ พ่อแม่หลายคนก็มีความสุขมากแล้ว

รายได้จากลูก ควรรับหรือพึ่งพาอย่างไรในวัยเกษียณ

3.ลงทุนบ้านหรือธุรกิจเผื่อลูกหลาน

วิธีที่เหล่าเจ้าสัวนิยมทำเพื่อให้ลูกหลานได้อยู่ในสายตา และกลับมาดูแลก็คือการสร้างธุรกิจของครอบครัวขึ้นมา การสร้างธุรกิจของตัวเอง นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงในระยะยาวแล้ว ยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับลูกๆ ได้ว่าจะออกไปทำงานบริษัท หรือจะรับช่วงต่อกิจการเพื่อที่จะได้ดูแลพ่อแม่ได้อีกด้วย

แต่อย่างไรดีปัญหาอย่างหนึ่งที่มักเกิดกับธุรกิจในครอบครัว ก็คือการมีลูกหลายคนในขณะที่ธุรกิจมีเพียงบริษัทเดียว ก็ต้องใช้หลักการพูดคุยให้เข้าใจกัน แบ่งหน้าที่การทำงาน หรืออาจจะลงทุนแยกธุรกิจออกมาเพื่อให้โอกาสกับลูกได้มีงานทำมีรายได้ และยังคงอยู่กับครอบครัวไม่ได้หนีห่างไกลไปไหน

4.เรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากลูก

วิธีสุดท้ายใช้สำหรับลูกหลานที่ละเลยดูแลพ่อแม่ชนิดไม่ไยดี แม้เราจะทำดีกับเขาแค่ไหนก็ตาม หรือแม้จะยกมรดกไปให้แล้วก็ตามสามารถฟ้องร้องเรียกคืน และฟ้องร้องให้ดูและได้ตามสิทธิทางกฎหมาย ปพพ.มาตรา 1563 เป็นหน้าที่ของบุตรที่จะต้องดูแลพ่อแม่ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตามอัตภาพ หากทอดทิ้งให้เจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายจะมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 307 โดนดำเนินคดีอีกข้อหา

อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องไม่ได้มีการระบุโทษที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างพ่อแม่และลูก ว่าจะสามารถตกลงได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ศาลจะพิจารณาตัวเลขการชดเชยที่เหมาะสม หรือช่วยหาทางออกร่วมกัน

แต่โดยมากแล้วพ่อแม่ไม่ได้อยากให้ลูกถูกดำเนินคดี ทุกอย่างจึงจบที่ศาลชั้นไกลเกลี่ยเสียมากกว่า หาน้อยรายที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันอย่างจริงจัง เพราะสุดท้ายพ่อแม่ก็ยังรักลูกและหวังว่าจะได้อยู่ใกล้ลูกให้ลูกช่วยดูแลเท่านั้น

สรุปสุดท้ายจึงขอแนะนำว่าเราไม่ควรคาดหวังกับลูกมากเกินไป แต่ควรเน้นการพึ่งพาตัวเองด้วยการหางาน และลงทุนด้านการเงินให้พร้อมรับกับวัยเกษียณให้มากที่สุด แล้วให้ลูกเป็นสิ่งเสริมความมั่นคงในวัยเกษียณให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วถ้าคุณเลี้ยงดูลูกด้วยการให้เวลา ให้ความรักและความเอาใจใส่ ด้วยจิตสำนึกพวกเขาจะไม่มีวันทอดทิ้งพ่อแม่อย่างแน่นอน