posttoday

ละจอ ให้สายตาได้พัก

09 ตุลาคม 2561

อุปกรณ์ไอทีแทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย

เรื่อง พุสดี

อุปกรณ์ไอทีแทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่วัยสูงอายุ จนบางครั้งอาจเป็นวายร้ายที่ทำลายดวงตาคู่สวยอย่างไม่รู้ตัว วันที่ 11 ต.ค.นี้ เป็นวันสายตาโลก นพ.นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์แห่งศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ เผยให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญและการดูแลถนอมสายตา พร้อมเชิญชวนร่วมรณรงค์ในกิจกรรม Phone-Free Day ลดแชต ละจอ เพื่อขอให้สายตาได้พักเพิ่มมากขึ้น

นพ.นพวุฒิ เผยถึงข้อมูลของสมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์สหรัฐว่า คนยุคใหม่มีอัตราเฉลี่ยการใช้โทรศัพท์มือถือ 7 ชั่วโมง/วัน และพบว่าในเด็กอายุ 10-12 ปี เกือบ 50% มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง และใช้อุปกรณ์เหล่านี้มากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอีกว่า 60% บ่นว่ามีอาการตาล้า ตาแห้ง ปวดตา ตาพร่ามัวจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล และยังเป็นผลทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการระคายเคืองของดวงตา ปวดหัว ปวดตา และตามัวลงแบบถาวรได้ถ้าไม่รีบป้องกัน เนื่องจากเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาล้ามากเกินไปอาจทำให้ตาอ่อนแรงและอักเสบได้ หรือแม้กระทั่งแสงสว่างที่จ้องมองนานๆ

โดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากจอสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถผ่านเข้าตาส่วนลึกคือบริเวณจอตา ทำให้เกิดผลเสียต่อจอตาได้เป็นอย่างมาก เพราะแสงสีฟ้าจะถูกดูดซึมโดยชั้น RPE (Retinal Pigment Epithelium) โดยมีปฏิกิริยาเกิดโมเลกุลพิษไปทำร้ายเซลล์รับภาพในจอตา (Photore
ceptor Cell) ทำให้เซลล์รับภาพตายลงในที่สุด

การใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป ไม่ใช่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพราะอาจเป็นต้นเหตุของอาการต่อไปนี้

1.ภาวะตาล้า เกิดขึ้นเมื่อดวงตาอ่อนล้าจากการใช้งานหนัก เช่น คุยแชต ดูหนังเป็นเวลานานๆ การอ่านตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กมากเกินไป โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะหายเองเมื่อได้พักสายตา แต่บางครั้งก็อาจเกิดภาวะรุนแรงกับดวงตาเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

2.ตาเพ่งมองระยะใกล้ค้าง เกิดจากภาวะความผิดปกติของสายตาที่ไม่สามารถรับแสงหักเหจากวัตถุที่มาโฟกัสตรงจอตาได้อย่างพอดี ส่งผลให้มองเห็นวัตถุดังกล่าวไม่ชัด ต้องจ้องหรือเพ่งมองใกล้ๆ หรี่ตา ซึ่งอาจนำไปสู่การปวดกระบอกตารุนแรง เกิดภาวะสายตาสั้นเทียม หรือพบการเปลี่ยนแปลงสายตาที่สั้นเพิ่มเร็วขึ้นในเด็ก

3.ความสว่างหน้าจอ โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟนในที่มืดหรือแสงสว่างน้อยจะทำให้มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะ เนื่องจากรูม่านตาที่คอยปกป้องดวงตาจะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นผลให้เกิดอาการตาพร่ามัวเป็นเงาดำ ปวดตา แสบตา รวมทั้งตาแดงได้ และไม่เฉพาะเจาะจงที่สมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ทีวีหรืออุปกรณ์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถบั่นทอนศักยภาพในการเติบโตของสมองและเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสายตา ปวดต้นคอ หลังและไหล่ หรือโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) ได้เช่นกัน

“ทางออกง่ายๆ ในการดูแลสายตาและสุขภาพดวงตาของตนเอง หยุดพฤติกรรมเดิมๆ ลดแชต ละจอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อให้สายตาได้พักเพิ่มมากขึ้น เปลี่ยนวิธีการคุยแชตผ่านสมาร์ทโฟนมาเป็นการนั่งคุยกัน นัดประชุมงานร่วมกัน หรือนั่งกินอาหารร่วมกัน และหากหลีกเลี่ยงจอไม่ได้ให้พยายามหาเวลาพักสายตาด้วยการมองออกไปไกล 20 เมตร นาน 20 วินาที ทุกๆ 20 นาที หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในสถานที่ที่มีแสงสว่างไม่เหมาะสมหรือมีแสงสะท้อนมาก และหากอยู่กลางแสงจ้าติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรสวมแว่นกันแดดที่มีคุณภาพป้องกันรังสียูวี

สำหรับคนที่สวมแว่น ควรเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะกับค่าสายตาของตัวเอง โดยหมั่นตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้เลนส์สำหรับประกอบแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ ที่ตรงกับค่าสายตาของตัวเองมากที่สุด ควรพักสายตาจากการทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจากการอ่านหนังสือเป็นระยะๆ เพื่อเลี่ยงอาการผิดปกติทางสายตาต่างๆ ตลอดจนควรหมั่นสังเกตว่ามีอาการอื่นๆ เช่น มองไม่ชัดกะทันหัน ตามัว ปวดตา ตาแดง มีจุดดำลอยไปมา เป็นต้น เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตราย หากเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที” นพ.นพวุฒิ ทิ้งท้าย