posttoday

‘สุขใจที่ได้เป็นนายตนเอง’ เอกกมล ธีปฏิกานนท์

07 ตุลาคม 2561

ต้น-เอกกมล ธีปฏิกานนท์ วัย 37 ปี คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านกาแฟละเลียด คาเฟ่

โดย วราภรณ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน, โครงการพอแล้วดี

ต้น-เอกกมล ธีปฏิกานนท์ วัย 37 ปี คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านกาแฟละเลียด คาเฟ่ ที่ผันตนเองจากพนักงานออฟฟิศที่ทำเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ หันหลังให้กับงานประจำเดินทางไปค้นหาความหมายของชีวิต ด้วยการทำสวนที่ประเทศญี่ปุ่นกับแฟนสาว อยู่ที่นั่นเขาได้เรียนรู้แนวคิดอยากเป็นนายตัวเองและนำสิ่งที่ครอบครัวมีความเชี่ยวชาญคือ จำหน่ายเมล็ดกาแฟจนปัจจุบันสามารถเปิดร้านกาแฟและคาเฟ่สุดเก๋ถูกใจชาวต่างชาติอย่าง Laliart ตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 5 โดยอาศัยหลักความพอเพียงทั้งในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจแบบพึ่งพิงตัวเอง ที่สำคัญคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี รุ่นที่ 1 ทำให้เขาได้เรียนรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และรับมาปรับใช้ทั้งเรื่องการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

แรงบันดาลใจทำร้านกาแฟ

‘สุขใจที่ได้เป็นนายตนเอง’ เอกกมล ธีปฏิกานนท์

ความพอแล้วดีสำหรับเขา ต้นนึกถึงเรื่องความสมดุลเป็นอย่างแรก ความสมดุลในที่นี้คือ ไม่ว่าเขาจะเริ่มลงมือทำอะไร เขาจะต้องเริ่มลองหาจุดที่เขารู้สึกไม่ทุกข์ร้อนใจแล้วก็รู้สึกมั่นใจ ตั้งใจที่จะทำให้ได้

“ร้านกาแฟละเลียดเป็นส่วนหนึ่งที่ผมสามารถหาจุดสมดุลของชีวิตและธุรกิจได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความชอบ ความสนใจในเรื่องกาแฟ เรื่องของการอยากใช้ทักษะของตัวเองในเรื่องการลงมือทำในอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งทำให้รู้สึกว่าการพึ่งพาตัวเอง การหาจุดสมดุลตรงนี้ได้สร้างความยินดีให้กับตนเอง ทำให้มีพลังในการทำอะไรที่สร้างสรรค์มากขึ้น ยิ่งได้เข้าร่วมโครงการพอแล้วดี ทำให้ผมได้มีโอกาสย้อนกลับมามองที่ตัวเองมากกว่าที่จะไปดูคนอื่น แล้วตั้งคำถามว่าพอแล้วดีคืออะไร ผมเข้าร่วมโครงการพอแล้วดีรุ่นแรก โดยได้รับการชักชวนเข้าร่วม ผมก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พอเข้าไปร่วมโครงการผมเหมือนได้เปิดโลก เริ่มรู้ว่าสิ่งที่เราทำ เป็นหนึ่งในทางในการพึ่งพาตัวเอง คือเราพยายามหาว่า เรามีสิ่งที่เราอยากทำ จุดเริ่มต้นหรือสิ่งที่เรามีอยู่ในมืออะไร เช่น ผมมองว่าเมล็ดกาแฟเรามี คือผมเคยอยู่กับญาติสนิทที่เชียงใหม่ ซึ่งคุณอามีความรู้เรื่องเมล็ดกาแฟมาก คุณอามีโรงคั่วทำด้วยรักมานานแล้ว ผมมองเห็นว่า เรามีความรู้ตรงนี้ ผมเคยอยู่เชียงใหม่ เคยเห็นอาคั่วกาแฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในความทรงจำและน่าสนใจ อาเริ่มทำเครื่องคั่วกาแฟประดิษฐ์เองซึ่งได้มาตรฐาน

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วกาแฟยังไม่แพร่หลาย แต่เมล็ดกาแฟได้รับการส่งเสริมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งคุณอาก็เป็นนักวิจัยด้านการเกษตร บริหารจัดการกาแฟบนพื้นที่สูง ดูแลทั้งผลผลิตนำกาแฟเข้ามาปลูก กาแฟจึงเริ่มเป็นพืชเศรษฐกิจ มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่บนภูเขา ซึ่งเมื่อก่อนปลูกฝิ่น อาของผมดูแลเรื่องการนำสายพันธุ์กาแฟหลากหลายสายพันธุ์มาปลูกในไทย” เมื่อเขามีความรู้ด้านกาแฟ เขาจึงหันมาจับธุรกิจด้านกาแฟ โดยเริ่มจากจำหน่ายเมล็ดกาแฟคั่วก่อน โดยมีญาติคอยให้คำแนะนำ ถือเป็นต้นทุนที่เขามี ที่สำคัญเขามีแหล่งเมล็ดกาแฟที่ดี โดยเขาอยากเป็นตัวเลือกหนึ่งด้านกาแฟ ต่อมาก็พัฒนามาเปิดร้านกาแฟ จำหน่ายทั้งเครื่องดื่มกาแฟและเมล็ดกาแฟคั่วภายใต้แบรนด์ละเลียดด้วย

ดำเนินธุรกิจเริ่มจากความชอบก่อน

‘สุขใจที่ได้เป็นนายตนเอง’ เอกกมล ธีปฏิกานนท์

การทำธุรกิจแบบพอเพียงวิธีแรกคือ เริ่มทำจากความชอบก่อน จากนั้นประมาณตนเองว่า ณ ตอนนั้น เขากับแฟนสาวมีต้นทุนเท่าไหร่ที่จะทำร้านหนึ่งหรือแบรนด์หนึ่งให้เกิดขึ้น ค่อยๆ เริ่มจากสิ่งที่มี รวมถึงศักยภาพในตอนนั้นที่เขามี เช่น สามารถประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์ใช้เอง หรือการประดิษฐ์เครื่องชงกาแฟเอง เป็นต้น

“ผมมองว่าเมล็ดกาแฟไทยมีเอกลักษณ์ตรงเทสต์ของกาแฟไทยมีความหนักแน่น มีบอดี้ที่ดี พอเจอนมแล้วเข้ากันได้ดีมากๆ กินแล้วนุ่มละมุน โทนออกเทสต์โน้ต เป็นกลิ่นถั่ว และดาร์กช็อกโกแลต ผมเลือกอราบิกาจากแม่แจ๋ม จ.ลำปาง ตัวนี้เราใช้ตั้งแต่เริ่มต้น ผมเคยไปถึงแหล่งปลูกที่มีการปลูกแบบออร์แกนิก ปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ ไร่ข้างๆ ปลูกแมกคาเดเมียด้วย เป็นกาแฟที่กินได้เบสิกเหมาะสำหรับคนที่มือใหม่ก็กินได้”

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อนจากมุมกาแฟเล็กๆ ในร้านโตเกียวไบค์ อารีย์ซอย 2 มีคนชักชวนให้เขากับแฟนสาวมาเปิดร้านกาแฟกึ่งๆ คาเฟ่ที่ใหญ่ขึ้นมีพื้นที่ของตัวเอง ร้านละเลียดที่ถูกใจชาวต่างชาติจึงเปิดขึ้น ในบริเวณ Fab คาเฟ่ ที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี ทรีดี พรินติ้ง จากจำหน่ายแต่กาแฟมีการขยายงานจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งขนมเค้กเพื่อสุขภาพด้วย โดยเปิดที่นี่ได้ 1 ปีแล้ว

ต้นเล่าถึงความเป็นมาของร้านเป็นการจัดวางพื้นที่ใช้สอยเอง ทำเฟอร์นิเจอร์เอง เฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวจึงมีเรื่องเล่า ใครมานั่งเขาก็จะสัมผัสได้ว่าไม่เหมือนเฟอร์นิเจอร์ที่ไหน เป็นความสนุกที่ต้นได้ลองคิด ลองทำ ประกอบ จัดวางเอง ซึ่งพื้นที่ใช้สอยภายในร้านจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาเขารู้สึกเบื่อกับรูปแบบเดิมๆ เพราะเฟอร์นิเจอร์ที่เขาออกแบบกับแฟนสาวสามารถปรับพับเก็บได้ง่าย เช่นเดียวกับเมนูอาหารและขนม ผ่านกระบวนการคิดว่าจะพรีเซนต์อย่างไรได้บ้าง มุมมองการถ่ายทอดเครื่องดื่มกาแฟออกมาได้อย่างไรบ้าง เหมือนเป็นงานดีไซน์ให้คนมาที่ร้านรู้สึกสบาย เรียบง่าย ไม่ได้มาแล้วต้องทางการเกินไป หน้าที่ของต้น คือ ดูแลในส่วนของคุณภาพเมล็ดกาแฟและการชงเป็นหลัก รวมทั้งการจัดจำหน่าย

“เราขายเมล็ดกาแฟสด ที่นี่มีอุปกรณ์ชงกาแฟ จำหน่ายถ้วยชามเซรามิกของเพื่อน เป็นงานทำด้วยมือของกลุ่มเพื่อนๆ เพราะเราอยากสนับสนุนคนที่อยู่แวดวงใกล้ๆ ตัว ผมเปิดร้านมีคอนเนกชั่นคนที่ทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น เราได้ผักสลัดจากเจ้านายเก่าที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ อนาคตเขาอยากทำออร์แกนิกแน่นอน แต่ตอนนี้เขาทำไฮโดรฯ ก่อน ผมเห็นถึงความตั้งใจของพวกเขา เราจึงนำผักมาขายในร้าน และสั่งไดเรกต์จากฟาร์ม สิ่งเหล่านี้เราอยากส่งเสริม ผมพยายามใช้คนที่เรามั่นใจว่าเขามีแนวทางเดียวกันกับเรา” คือ การมองเรื่องความสำคัญในสิ่งที่ทำ เช่น มีช่วงหนึ่งมีคนปลูกมัลเบอร์รี่
ที่โคราช แปรรูปเป็นแยมมัลเบอร์รี่ก็สามารถนำมาฝากวางจำหน่ายที่ร้านละเลียด คาเฟ่ได้ อยากนำเสนอทางเลือกที่ไม่คอมเมอร์เชียลมากนัก

“พอเราเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี เราได้รู้จักเกษตรกรปลูกผลผลิตได้ เขาเป็นเกษตรกรที่มีผลผลิตที่น่าสนใจ เรามีน้ำมังคุดออร์แกนิก บางสวนปลูกทุเรียนและทำสวนออร์แกนิก 100% ที่จันทบุรี หากผลผลิตเยอะนำมาแปรรูป ส่วนเบเกอรี่ผมอยากเสริมจากกาแฟบ้าง มีรับมาบ้างและทำเองบ้างเพื่อให้พนักงานในร้านรู้จักพัฒนาฝีมือและรู้จักพึ่งพาตนเองมากขึ้น อยากพัฒนาศักยภาพทีมงานทำให้ร้านมีเอกลักษณ์ คือเป็นขนมเพื่อสุขภาพที่ลดความหวาน ลดการใช้เนยแล้วใช้อโวคาโดแทน ซึ่งจะมีจำหน่ายตามฤดูกาล อาหารก็ไม่ใส่ผงชูรส ลูกค้าส่วนใหญ่เกือบ 70% จึงเป็นลูกค้าประจำมานั่งทำงาน เป็นสถานที่นัดพบปะเพื่อนฝูงได้ในพหลโยธิน เราอยากทำเป็นคอมมูนิตี้ดึงดูดคนจากหลากหลายสาขาอาชีพมาพบกัน และต่อยอดได้ แนวคิดของผมที่ใช้อยู่ตลอดคือ เราพยายามลงมือทำเอง เช่น เฟอร์นิเจอร์งานใหม่ไม้ชิ้นไหนเราทำได้ เราอยากทำ เพื่อเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร นั่งได้ สบาย”

รู้จักประมาณตน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

‘สุขใจที่ได้เป็นนายตนเอง’ เอกกมล ธีปฏิกานนท์

ตามหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร การประมาณตนคือ ดูว่าเรามีต้นทุนแค่ไหน เราสามารถทำอะไรได้ และมองไปในอนาคตว่าเราสามารถพัฒนาตนเองไปทางไหนได้ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก เพื่อการเตรียมความพร้อมในอนาคต

“ผมมองอยู่และคิดอยู่ตลอด เราจะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ ทั้งอยู่ด้วยความสบายใจ ประมาณตน และรักษาสมดุลของเราเอง คือผมมองว่า เราไม่ละทิ้งความคิดพึ่งพาตัวเอง เรามองถึงอนาคตว่าช่วงนี้มีอะไรที่เราเติมเต็มหรือสามารถนำมาเพิ่มเติมในธุรกิจของเราได้ เราจะไม่นิ่ง เรามองถึงอนาคตเพราะโลกเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ เราต่อยอดของเราเอง พระองค์สอนเรื่องความพอเพียง และทรงห่วงเรื่องความต้านทาน ต้องมองว่า เราจะทำอะไรต้องมีภูมิคุ้มกัน นอกจากคุ้มกันในเรื่องสติปัญญาและธุรกิจด้วย เช่น คนสวนปลูกต้นไม้ปลูกพืชเกษตร ควรปลูกหลากหลาย ถ้าวันไหนสวนหายไป แปลงอื่นก็จะช่วยกันและกัน คือสิ่งที่เอามาปรับใช้กับธุรกิจของผมได้”

ความสุขที่ได้จากชีวิตแบบช้าๆ

“การอยากเริ่มชีวิตแบบช้าๆ ของผม เริ่มตั้งแต่เป็นพนักงานบริษัท แต่ผมก็อยากมีอิสระทำอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่ผมทำอยู่ ซึ่งหาเวลาได้ยากมาก พอเราออกมาทำธุรกิจเอง ชีวิตไม่มีกรอบมาก แต่เราต้องสร้างกรอบเพื่อจัดสมดุลในการใช้ชีวิตและทำไปด้วย ไม่อย่างนั้นชีวิตจะเรื่อยเปื่อย”

การใช้ชีวิตช้าๆ ของต้นคือ เขาพยายามรักษาสมดุล นอกจากทำร้านตนเองแล้ว เขายังให้ความสนใจกับครอบครัว และแบ่งเวลาไปทำอะไรที่เขาสนใจเป็นพิเศษ เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์ทำกาแฟเอง ปัจจุบันชีวิตของเขาก็ไม่ได้เร่งรีบอะไร โดยเขาแบ่งเวลานอน 7 ชั่วโมง/วัน เข้านอนตั้งแต่ 4 ทุ่ม เช่าคอนโดมิเนียมอยู่ใกล้ๆ ร้าน เพื่อหลีกหนีความเครียดในการเดินทาง หากมีเวลาว่างเขามักไปเดินเล่นและออกกำลังกายในสวนสาธารณะบ้าง หากเวลาเช้าไม่เร่งรีบนักก็อาศัยการเดินมาทำงาน ร้านจะหยุดทุกวันจันทร์ เย็นวันอาทิตย์เขากับแฟนก็มักขับรถกลับบ้านไปพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติที่บ้านบางใหญ่บ้าง เพียงเท่านี้ชีวิตก็มีความสุขที่ได้เป็นนายตนเองแล้ว