posttoday

เรื่องต้องรู้ของอัลไซเมอร์

25 กันยายน 2561

ความแตกต่างของโรคอัลไซเมอร์กับอาการหลงลืมของผู้สูงวัย

เรื่อง วรธาร ภาพ เอพี

วันอัลไซเมอร์ไลกตรงกับวันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี เชื่อไหมว่าหลายคนสงสัยโรคอัลไซเมอร์กับสมองเสื่อมโรคเดียวกันหรือเปล่า?

อาการของโรคอัลไซเมอร์ต่างจากอาการหลงลืมของผู้สูงวัยอย่างไร? และอัลไซเมอร์ป้องกันได้หรือไม่?

ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล และ รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมตอบข้อสงสัย

โรคสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์

โรคสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเสื่อมของความจำ การคิดอ่าน การวางแผน ตัดสินใจการใช้ภาษา ทักษะในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืออาชีพที่เคยทำได้ตามเดิม และอาจมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม 60-70% ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการเซลล์สมองเสื่อม สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง พบในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจผสมกันทั้งสองอย่าง

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ สมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อมจากเซลล์สมองเสื่อมชนิดต่างๆ

อาการอัลไซเมอร์กับอาการหลงลืมในผู้สูงวัย

อาการหลงลืมเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการหลงลืมในเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะสั้นหรือหลงลืมความรู้ใหม่ แต่เหตุการณ์ในอดีตจะจำได้ดี และอาการหลงลืมนี้จะรวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น งานแต่งงาน แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยอาจจะลืมเรื่องชื่อหรือการนัดหมาย แต่มักจะนึกออกได้ในภายหลัง

1.การแก้ไขปัญหาและการวางแผน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะพบความเสื่อมในเรื่องการวางแผน การทำงาน การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต รวมถึงการบริหารจัดการเกี่ยวกับตัวเลขและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผู้สูงอายุอาจมีปัญหาเรื่องการบริหารบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นบางครั้งหรือเกี่ยวกับการเขียนเช็คเป็นบางครั้ง

2.การทำกิจกรรมในบ้าน ที่ทำงานหรือการพักผ่อน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขับรถหลงทาง แม้จะเป็นเส้นทางประจำ การทำงบดุล รายจ่ายประจำตัว หรือเล่นเกมที่เคยเล่น ส่วนผู้สูงวัยอาจมีปัญหาเรื่องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ยุ่งยาก เช่น ปรับไมโครเวฟหรือเปิดโทรทัศน์ที่มีโปรแกรมหลากหลาย

3.การมองเห็นและการปรับระยะทาง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ การกะระยะทาง ความแตกต่างของสี ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการขับรถหรือทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ส่วนผู้สูงวัยปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้แต่สาเหตุมาจากโรคทางจักษุวิทยา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หรือการเสื่อมของม่านตา

4.ปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการเขียน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาการเลือกใช้คำพูด ซึ่งทำให้ขาดการเชื่อมต่อของประโยคจึงทำให้พูดไม่ปะติดปะต่อหรือพูดไม่จบประโยคเนื่องจากหาคำที่เหมาะสมไม่ได้ บางครั้งทำให้หงุดหงิดเพราะหาคำพูดที่ถูกต้องไม่ได้

บางทีเรียกชื่อสิ่งของผิด เช่น เรียกปากกาเป็นดินสอ แว่นตาเป็นนาฬิกา ส่วนผู้สูงวัยอาจมีปัญหาในการหาคำพูดที่ถูกต้องบ้างเป็นบางครั้ง

5.การวางของผิดที่หรือหาของไม่เจอ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะวางของในที่ที่ไม่เคยวางหรือไม่ถูกต้อง เช่น ใส่แว่นตาในตู้เย็น และลืมสนิทไม่สามารถคิดย้อนกลับได้เลย บางครั้งกล่าวหาผู้ใกล้ชิดขโมยของไปเพราะหาไม่เจอ ส่วนผู้สูงวัยอาจวางของผิดที่ได้แต่ส่วนใหญ่มักจะนึกออกในภายหลัง

6.การตัดสินใจผิดพลาด ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเริ่มมีการตัดสินใจผิดพลาดและเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดตัวเอง ส่วนผู้สูงวัยการตัดสินใจผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้บ้างแต่ไม่บ่อย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

7.การเข้าสังคมและการทำงาน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเริ่มเก็บตัวลดงานอดิเรกกิจกรรมทางสังคม แม้แต่กีฬาที่ชื่นชอบ เพราะไม่สามารถจะทำได้ดีแบบเดิม ส่วนผู้สูงวัยบางทีอาจเก็บตัวเนื่องจากเบื่องาน เบื่อครอบครัว กิจกรรมทางสังคม หรือมีปัญหาด้านสุขภาพทางกาย

8.การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และบุคลิกภาพ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระยะแรกๆ และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พบบ่อยที่สุดคือภาวะซึมเศร้า มึนงง วิตกกังวล หวาดกลัว นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอนไม่มีสาเหตุ ผู้สูงวัยอาจมีสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือหงุดหงิดได้บ้างถ้ามีสาเหตุ เช่น กิจกรรมที่ทำเป็นประจำถูกเปลี่ยนแปลง

การป้องกันภาวะสมองเสื่อม

การป้องกันอัลไซเมอร์สามารถทำได้ตั้งแต่วัยเด็กโดย 1.มีการศึกษาที่เหมาะสมตามเกณฑ์ 2.รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดทั้งหลาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วนโดยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินตั้งแต่วัยหนุ่มสาว

3.แก้ไขโรคหูตึง โรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยกลางคน 4.ปรับปรุงการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เช่น วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน เดินเล่น รำมวยจีน กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นต้น 5.การพูดคุยพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ และ 6.พยายามมีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำและฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา