posttoday

ล้วงความคิดศิลปินรุ่นใหม่ เห็นคำถามแต่ไม่ให้คำตอบ มองศิลปะ... นอกกรอบผืนผ้าใบ

25 กันยายน 2561

ความท้าทายเรื่องการอยู่รอดของศิลปินดูไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของศิลปินรุ่นใหม่

เรื่อง กาญจนา 

หากมองในภาพกว้างคำถามที่ว่า “อาชีพศิลปินอยู่รอดหรือไม่” คือปัญหาสากล ประเทศเยอรมนีมีศิลปินที่อยู่รอดเพียงร้อยละ 2 ส่วนในประเทศไทยมีไม่เกินร้อยละ 10

แต่ความท้าทายเรื่องการอยู่รอดของศิลปินดูไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของศิลปินรุ่นใหม่ ที่ต่างมองว่า ศิลปะคือสิ่งที่มากกว่าพู่กันและผืนผ้าใบ แต่เป็น “สาร” ที่สามารถ “สื่อ” ออกไปในรูปแบบใดก็ได้

ดังที่ปรากฏอยู่ในผลงานภายใต้โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ (Early Years Project) ครั้งที่ 3 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ล้วงความคิดศิลปินรุ่นใหม่ เห็นคำถามแต่ไม่ให้คำตอบ มองศิลปะ... นอกกรอบผืนผ้าใบ

พิชญา ศุภวานิช หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า เป็นโครงการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงให้ทุน แต่ยังสร้างเครือข่ายศิลปินซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานจริงในระยะยาว โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิดของคำว่า Coeval ที่จะนำเสนอวิสัยทัศน์ของศิลปินผ่านคำถามที่มีต่อสังคมร่วมสมัย สำรวจการดำรงอยู่ร่วมกับความเป็นอื่น ทั้งความคิด การเคลื่อนตัวของผู้คน ความเปลี่ยนแปลงของเมือง การเมืองในประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี

“โครงการนี้จะสร้างคลื่นลูกใหม่ที่สามารถเห็นชัดเจนว่าเขามาจากไหน ความสนใจเป็นยังไง และมีวิธีการสร้างงานแบบไหน โดยก่อนที่จะเกิดเป็นโครงการ เราสำรวจพบว่างานสนับสนุนอื่นจะเป็นการให้ทุนรางวัล คือเมื่อศิลปินได้เงินและได้แสดงงาน ศิลปินจะไม่เดินต่อ

ดังนั้น การเดินต่อของศิลปินเขาจะต้องไม่รู้แค่การสร้างผลงานด้วยเงินอย่างเดียว แต่ต้องรู้เรื่องอื่นด้วย เช่น รู้จักคนที่สามารถให้คำปรึกษา นักวิชาการ หรือภัณฑารักษ์ การสร้างเครือข่ายจึงไม่ใช่แค่เครือข่ายของศิลปิน แต่คือองคาพยพทั้งหมดที่จะช่วยให้เขาเดินต่อได้”

จากการดำเนินโครงการมาถึงปีที่ 3 ทำให้มองเห็นภาพใหญ่ของศิลปินรุ่นใหม่ว่า ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ แต่มาจากทั่วประเทศและหลากหลายมหาวิทยาลัย เห็นการใช้สื่อที่สร้างสรรค์เพราะศิลปินไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นนักวาด แต่ทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงไปถึงสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์

ล้วงความคิดศิลปินรุ่นใหม่ เห็นคำถามแต่ไม่ให้คำตอบ มองศิลปะ... นอกกรอบผืนผ้าใบ

และที่สำคัญคือ เห็นกระแสความคิดที่เปลี่ยนไปซึ่งเป็นวิธีการมองสังคมที่แตกต่างจากรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง อย่างศิลปินรุ่นก่อนหน้าจะให้คำตอบแก่สังคม แต่ศิลปินรุ่นนี้ได้ตั้งคำถามแต่ไม่ให้
คำตอบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดคำถามต่อและให้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ได้เปิดรับใบสมัคร (Proposal) และสัมภาษณ์ศิลปินรุ่นใหม่หรือศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นจากทั่วประเทศ จากนั้นได้คัดเลือกให้เหลือ 7 ศิลปินเพื่อรับทุนสร้างสรรค์ รับคำแนะนำจากศิลปินรุ่นพี่หรือนักวิชาการศิลปะ และได้จัดแสดงผลงานที่หอศิลปกรุงเทพฯ

ล้วงความคิดศิลปินรุ่นใหม่ เห็นคำถามแต่ไม่ให้คำตอบ มองศิลปะ... นอกกรอบผืนผ้าใบ

จากนั้นผลงานทั้งหมดจะถูกตัดสินเพื่อคัดเลือก 2 ผลงานสุดท้าย เพื่อรับทุนสนับสนุนการเดินทางของศิลปินและทุนในการเป็นศิลปินพำนัก ไปสร้างสรรค์ผลงานและจัดแสดงงานต่างประเทศ

“ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจงานศิลปะ อย่างคนที่ส่งผลงานเข้ามามีทั้งนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์และเด็กจากคณะอื่นแต่มีความสนใจเรื่องนี้ รวมถึงกลุ่มคนที่เรียนจบแล้วและทำงานด้านอื่น แต่พอเห็นโครงการก็อยากส่งผลงานเข้ามาหรืออยากกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง ซึ่งเป็นการมองในแง่สังคมศาสตร์แล้วว่าเรามีปัญหาอะไรหรือเปล่าในการสนับสนุนศิลปินหลังจากเรียนจบ” หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ กล่าว

ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้จบจากคณะศิลปะแต่สนใจงานศิลปะ และผ่านเข้ารอบเป็น 1 ใน 7 ศิลปินคือ ณัท เศรษฐ์ฐนา จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ปัจจุบันเขาทำงานด้านการออกแบบไฟคอนเสิร์ต ส่วนผลงานของที่กำลังจัดแสดงอยู่ชื่อ (Un) recognized Projection เป็นการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ในถิ่นอาศัยของคนรุ่นเก่า ภายใต้กระบวนการปรับเปลี่ยนของเมืองที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

ล้วงความคิดศิลปินรุ่นใหม่ เห็นคำถามแต่ไม่ให้คำตอบ มองศิลปะ... นอกกรอบผืนผ้าใบ

“ผมไม่ได้นิยามผลงานชิ้นนี้ว่าเป็นอาร์ตหรือเป็นอะไร แต่มันคือพื้นที่ที่ผมสามารถสื่อสารมุมมองของตัวเอง และเพื่อแลกเปลี่ยนกับมุมมองของคนอื่น ซึ่งงานศิลปะก็ทำหน้าที่เช่นนี้คือเป็นสื่อเพื่อสื่อสารกับคนดู เป็นสื่อกลางระหว่างผมและคู่สนทนา”

เขากล่าวด้วยว่า ผลงานชิ้นนี้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่จัดแสดง เฉกเช่นกับชีวิตของเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จวบจนวันสุดท้ายเขาจะรื้อโครงสร้างทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งชั่วคราวออก และเหลือไว้เพียงภาพถ่ายที่บันทึกความทรงจำ

อีกผลงานที่ผ่านเข้ารอบเป็นของช่างภาพหนุ่มที่ทำงานหาเงินมาเพื่อทำงานศิลปะ อัครวินท์ ไกรฤกษ์ วัย 33 ปี เจ้าของผลงาน Transforming เขากำลังกล่าวถึงมลภาวะทางอากาศในเมืองที่กำลังก่อสร้าง โดยได้สร้างห้องที่เสมือนอยู่ในกล้องจุลทรรศน์เผยให้เห็นภาพฝุ่นในกำลังขยาย 1 หมื่นเท่า เหมือนขยายสิ่งที่มองไม่เห็นให้กลายเป็นความจริงประจักษ์ชัด

“เมื่อต้นปีผมได้ยินข่าวพีเอ็ม 2.5 เลยสงสัยว่าทำไมข่าวนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมจึงหาคำตอบด้วยการค้นคว้าและตามหาว่าสิ่งที่อยู่ในอากาศมันคืออะไร และถ่ายก๊อบปี้ภาพฝุ่นจากเครื่องไมโครสโคป เพื่อเผยให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังสูดเข้าร่างกายมันคืออะไร มันอันตรายแค่ไหน และหน้าแล้งครั้งต่อไปภาพที่เราเห็นอยู่นี้ก็จะกลับมา เพราะเมืองไทยกำลังก่อสร้างและสร้างหนักกว่าตอนต้นปีที่ผ่านมา”

อัครวินท์ ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการนี้ว่า เป็นเพราะโอกาสที่จะได้จัดแสดงงานที่หอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนหลากหลาย ทั้งคนรักศิลปะ ประชาชนทั่วไป ไปจนถึงเด็กนักเรียน และเขาต้องการที่จะให้งานชิ้นนี้เข้าถึงคนหมู่มาก เพราะเขากำลังพูดถึงคือเรื่องมลภาวะทางอากาศซึ่งมันอยู่รอบตัวทุกคน

“คำว่าศิลปินก็แค่เป็นคนที่ซื่อสัตย์กับตัวเอง เป็นเสียงของประชาชนในอีกรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ และเข้าถึงคนได้โดยไม่ได้บังคับใคร ไม่ต้องประกาศให้คนเชื่อ แต่ผู้ชมมีสิทธิคิด เหมือนงานชิ้นนี้ที่เป็นเสียงเล็กๆ และอาจไปจุดประกายต่อมสงสัยของคนอื่นให้มาหาคำตอบในเรื่องเดียวกัน” ช่างภาพหนุ่มกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์ นักออกแบบกราฟฟิกอิสระ นักครีเอทีฟอิสระ และศิลปินอิสระ วัย 23 ปี ได้สร้างสรรค์ผลงานชื่อ dnilb ผ่านศิลปะปฏิสัมพันธ์ เขาอธิบายแนวคิดของศิลปะปฏิสัมพันธ์ว่า เป็นศิลปะที่เรียกร้องให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในแบบต่างๆ เพื่อสื่อสารในประเด็นเดียวกัน

สำหรับผลงานนี้คือ กระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และความคุ้นชินต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่หลายครั้งดูไม่สมเหตุสมผล

“ศิลปะที่ผมเชื่อมันเป็นเรื่องของเมสเซจ (message) หรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารมากกว่าประเภทของสื่อที่จะยึดติด งานของผมจึงใช้หลายสื่อหลายวิธีการในการพูดเพื่อสื่อสารกับสังคม”

ภานรินทร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันดำรงชีพด้วยการทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ซึ่งแม้จะไม่ได้ถือพู่กันวาดภาพบนผืนผ้าใบ แต่ก็ยังสร้างสรรค์ศิลปะผ่านสื่อในรูปแบบอื่น

“เพราะศิลปะได้แทรกซึมอยู่ในทุกอย่างในชีวิตประจำวัน” เขากล่าวเช่นนั้น

ผลงานทั้ง 7 ชิ้นที่กำลังถูกจับตามองอยู่นี้ถูกคัดเลือกจากผู้คร่ำหวอดด้านศิลปะร่วมสมัยอย่าง จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกรรมการเพียงคนเดียวในปีนี้ กล่าวว่า เขาและทางหอศิลปกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันเฟ้นหาศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปะแบบเน้นกระบวนการหรืองานศิลปะแบบกึ่งโครงการ (Project-Based) เพื่อเข้ามาใช้ช่วงเวลาระหว่างการจัดแสดงงาน 2 เดือนนี้ในการพัฒนางานต่อเนื่องไป

“เราพยายามมองหาศิลปินที่มีความสนใจหลายด้าน ไม่ใช่แค่ด้านศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองไปถึงสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง แล้วสร้างสรรค์ให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งสะท้อนถึงสภาพสังคมที่พวกเขาอยู่อาศัยออกมา”

นอกจากนี้ จิตติ ยังกล่าวถึงการอยู่รอดของศิลปินในปัจจุบันว่า การเป็นศิลปินเต็มตัวที่ผลิตงานศิลปะและขายงานศิลปะมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 10 ที่สามารถอยู่รอด ดังนั้นการเป็นศิลปินเพียงอย่างเดียวจึงอยู่ยาก เช่นเดียวกับทัศนะของหัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ ที่มองว่า

“บ้านเรายังไม่มีทางออกอื่นทางศิลปะ เช่น ไม่มีแขนงงานที่เกี่ยวกับการติดตั้งงานศิลปะ ไม่มีนักวิจารณ์ เพราะยังเน้นไปที่ผู้ผลิตหรือตัวศิลปิน แต่ไม่สร้างอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินขึ้นมา ทำให้ทุกคนเป็นศิลปินเหมือนกันจนไม่มีที่ยืน”

ทว่าทุกวันนี้ศิลปินรุ่นใหม่มีทางออกมากขึ้น ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยได้ปรับการเรียนการสอนให้ร่วมสมัย ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่มีทักษะและแนวคิดหลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปใช้ในอาชีพอื่นๆ ได้ จิตติ ชี้ว่า คำว่า “ศิลปินไส้แห้ง” ที่กลายเป็นคำนิยามของอาชีพศิลปินไปแล้วนั้น เป็นเพียงมายาคติ

“เนื่องจากคำนี้เกิดขึ้นในยุคทศวรรษที่ 60 ความเป็นศิลปะอยู่ตรงกันข้ามกับทุนนิยมหรือระบบหลักอย่างรัฐบาล ประหนึ่งสีขาวและสีดำ ซึ่งแตกต่างจากยุคนี้ที่ศิลปินมองศิลปะเป็นสีเทา ดังนั้นถ้าทุนนิยมตอบโจทย์ศิลปิน เขาก็ทำงานด้วย หรือถ้าศิลปินรู้วิธีทำงานกับรัฐ เขาก็จะอยู่รอด”

ร่วมชมแนวคิดของคนรุ่นใหม่ และงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินทั้ง 7 คน ได้ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้-25 พ.ย. 2561 ตลอดระยะเวลาบ่มเพาะจะเห็นการเดินทางของผลงานทั้งหมด ซึ่งน่าตื่นเต้นว่าเมื่อถึงวันสุดท้ายผลงานแต่ละชิ้นจะเปลี่ยนรสชาติและหน้าตาไปอย่างไร และที่สำคัญกว่าคือ คำถามของพวกเขาจะถูกตั้งคำถามต่อไปมากเท่าไร และกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงใดบ้างในสังคม