posttoday

อนิวัฒน์ จูห้อง พัฒนาระบบตรวจจับตาอัจฉริยะ ช่วยเหลือผู้พิการ

24 กันยายน 2561

“สมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็ม” (Smart Eye-Tracking System) ระบบอัจฉริยะที่ควบคุมโดยการกรอกตา

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ทุกครั้งที่เห็นผลงานนวัตกรรมน่าตื่นตาตื่นใจจากมันสมองและฝีมือการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าคนไทยก็คงจะอดภูมิใจกับอนาคตของชาติไม่ได้ อย่างเช่น ผลงานที่นำเสนอวันนี้ “สมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็ม” (Smart Eye-Tracking System) ระบบอัจฉริยะที่ควบคุมโดยการกรอกตา หรือระบบตรวจจับตาอัจฉริยะเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ของ แน็ค-อนิวัฒน์ จูห้อง นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วัย 24 ปี โดยมี รศ.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับอุดมศึกษา ในโครงการนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

อนิวัฒน์ จูห้อง พัฒนาระบบตรวจจับตาอัจฉริยะ ช่วยเหลือผู้พิการ

แรงบันดาลใจสร้างสมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็ม

ระบบตรวจจับตาอัจฉริยะเพื่อช่วยเหลือผู้พิการนี้ เป็นการพัฒนาระบบการตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตาเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ของตัวผู้พิการ เช่น การควบคุมวีลแชร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องใช้งาน รวมถึงการสื่อสารกับผู้ดูแลคนพิการหรือดูแลคนไข้ เป็นต้น โดยระบบนี้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม สามารถควบคุมระบบได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงด้วยการกรอกตา ถือเป็นระบบที่ใช้งานง่ายเหมาะสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถขยับตัวได้

“นวัตกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แรงบันดาลใจผมได้จากการเห็นผู้พิการ หรือคนที่ป่วยบนเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเป็นภาระของคนอื่น อยากให้คนพิการหรือคนไข้สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือพึ่งพาตัวเองได้บ้าง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นทุกเวลา จึงเขียนโปรเจกต์นี้เสนอไปที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแล้วทางกรมก็พิจารณาให้ทุนมาพัฒนา ผมใช้เวลาพัฒนาผลงาน 1 ปีกว่าๆ ก็ส่งประกวดในโครงการนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา

อนิวัฒน์ จูห้อง พัฒนาระบบตรวจจับตาอัจฉริยะ ช่วยเหลือผู้พิการ

ถือเป็นผลงานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้พิการ ผู้ป่วยอัมพาต ตลอดจนคนไข้ที่วิกฤต หรือแม้แต่คนสูงวัยที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้คนเหล่านั้นดำรงชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น เช่น บางกิจกรรมก็สามารถทำเองได้โดยไม่เป็นภาระของคนที่ดูแล เช่น ถ้าอยากดูทีวีก็แค่กรอกตาโฟกัสไปที่สัญลักษณ์ปุ่มทีวีที่อยู่หน้าจอซึ่งผมได้เขียนโปรแกรมไว้ทำให้คนที่ดูแลมีเวลาไปทำอย่างอื่น”

สมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็ม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.โน้ตบุ๊ก สำหรับไปติดตั้งกับอุปกรณ์ เช่น วีลแชร์ หรือเตียงนอนผู้ป่วยเพื่อให้ผู้พิการหรือผู้ป่วยนอนบนเตียงได้ใช้งาน 2.อาย แทร็กเกอร์ โมดูล (Eye-Tracker Module) เป็นกล้องอินฟราเรดที่จะแทร็กกับลูกตา ซึ่งต้องเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ 3.คอนโทรลเลอร์ หรืออุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการควบคุม เช่น วีลแชร์ โทรทัศน์ พัดลม

ในการทำงานของเครื่องนี้ ผู้ป่วยหรือผู้พิการจะกรอกตามองไปที่จอคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในการควบคุมวีลแชร์ หรือควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งาน โดยเวลาที่กรอกสายตาไปยังจอคอมพิวเตอร์ เคอร์เซอร์ที่ปรากฏบนจอแสดงผลจะเปลี่ยนตำแหน่งตามจุดจ้องมอง เช่น อยากดูทีวีก็แค่กรอกตาไปที่ปุ่มทีวีก็สามารถเปิดทีวี สามารถปรับลดเพิ่มเสียงได้ด้วยตาของตน หรือเปิดปิดพัดลมได้โดยไม่ต้องใช้มือหรือให้คนดูแลมาเปิดให้

“อยากดูหนังในอินเทอร์เน็ตหรือในยูทูบก็เพียงกรอกตามองไปยังปุ่มดูหนัง อยากเข้าห้องน้ำ (ในกรณีที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) เพียงกรอกตาไปที่ปุ่มทอยเล็ต (Toilet) เสียงทอยเล็ตๆ ก็จะดังออกลำโพงคอมพิวเตอร์ หรือหิวน้ำหรือข้าว ก็กรอกตาไปที่ปุ่มฮังกรี (Hungry) ให้คนดูแลอาจจะเป็นพยาบาลหรือญาติมาช่วยพาเข้าห้องน้ำ หรือหาอาหารมาให้ พร้อมกันนี้ ระบบยังสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของคนที่ดูแลได้อีกทางหนึ่ง โดยเราจะมีข้อความสำเร็จรูปที่ได้เขียนโปรแกรมไว้ ส่วนใหญ่เป็นชุดข้อความพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น หิวข้าว หิวน้ำ เข้าห้องน้ำ ไม่สบาย ฯลฯ ถ้าข้อความอื่นๆ ผู้พิการหรือคนไข้สามารถเขียนเองได้แต่อาจช้าหน่อย ด้วยการกรอกตาไปที่ตัวอักษรบนคีย์บอร์ดก็จะปรากฏข้อความบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้คนดูแลมาอ่าน หรือส่งเข้ามือถือก็ได้” แน็คเล่าถึงความอัจฉริยะของสมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็มที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้พิการและคนป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

อนิวัฒน์ จูห้อง พัฒนาระบบตรวจจับตาอัจฉริยะ ช่วยเหลือผู้พิการ

ความโดดเด่นของนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องดังกล่าวจะมีความอัจฉริยะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้พิการ หรือคนไข้วิกฤตที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง กระนั้นก็ยังต้องมีคนคอยดูแลปรนนิบัติอยู่ดี แต่เชื่อได้เลยว่าการที่ผู้พิการหรือคนไข้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย หรือช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ถ้ามีเครื่องนี้ใช้งานก็จะทำให้ชีวิตของพวกเขามีชีวามากขึ้น จิตใจไม่หดหู่ และมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นภาระของคนที่ดูแลไปทั้งหมด

“ลองคิดดูถ้าคนไข้นอนติดเตียงไม่มีแอคทิวิตี้อะไรเลย ผมว่าชีวิตเขาคงเศร้าน่าดู ลองนึกภาพเราถ้าเกิดประสบอุบัติเหตุสภาพร่างกายเดินไม่ได้จะเศร้าขนาดไหน จากคนที่ไปไหนมาไหนได้ ทำอะไรก็ได้ เปิดทีวี ขับรถ ทำงานหาเงินได้ แต่อยู่ๆ ทำอะไรไม่ได้เลยเป็นคนไข้ติดเตียงหรืออัมพาตต้องนั่งรถเข็น จิตใจจะหดหู่แค่ไหน เพราะฉะนั้นเครื่องนี้สามารถช่วยเยียวยาจิตใจเขาได้ระดับหนึ่งและทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นภาระของคนอื่นไปทั้งหมด”

อนิวัฒน์ จูห้อง พัฒนาระบบตรวจจับตาอัจฉริยะ ช่วยเหลือผู้พิการ

จุดเด่นของสมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็ม อยู่ที่ใช้การงานที่ง่ายมาก ทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุผู้พิการ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สามารถคัฟเวอร์ได้หลายกลุ่ม ลองคิดดูว่าอุปกรณ์ทุกอย่างในชีวิตประจำวันที่มีอยู่ในบ้านเราสามารถควบคุมได้หมดด้วยการกรอกตาแค่นั้นมันวิเศษแค่ไหน

“อุปกรณ์ตัวนี้ (อาย แทร็กเกอร์) ซึ่งเวลาใช้งานจะเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ตลอด แต่เราสามารถกำหนดเวลาติดตั้งให้กับคนไข้หรือผู้พิการในช่วงเวลาที่ต้องการได้ โดยที่คนดูแลไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เช่น อาจติดตั้งช่วงเช้ากับบ่าย ถ้าเขานั่งวีลแชร์ก็เอาเครื่องนี้พร้อมคอมพิวเตอร์ไปติดบนวีลแชร์ ถ้านอนบนเตียงก็ติดตั้งบนเตียงให้เขา ช่วงระหว่างที่เขานอนอยู่เฉยๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็อาจเปิดทีวี ดูหนัง ฟังเพลง ฟังธรรมะ ได้ความบันเทิงและธรรมะดีๆ ทำให้ชีวิตมีชีวามีความสุขได้ ละมีกำลังใจในการดำรงชีวิตมากขึ้น” เจ้าของผลงานกล่าว

แนวคิดการสร้างนวัตกรรมและเป้าหมายอนาคต

หันมาที่แนวคิดในการสร้างนวัตกรรมอนิวัฒน์ บอกว่า ได้แนวคิดจากนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ สตีเฟน ฮอปกินส์ แต่ของฮอปกินส์จะติดเซ็นเซอร์ที่ควบคุมอุปกรณ์ไว้ที่แก้ม (ชีกเซ็นเซอร์) แต่เขามองว่าการเอาอุปกรณ์อะไรๆ มาติดที่ตัวคนไข้ดูรุงรังและใช้งานยาก ด้วยเหตุนี้จึงสร้างเครื่องนี้ขึ้นมาให้คนได้ใช้งานง่ายขึ้น เพียงแค่การกรอกตาไปที่จอคอมพิวเตอร์เท่านั้นก็สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ในระดับที่น่าพอใจ

นอกจากสมาร์ท อาย แทร็กกิ้ง ซิสเต็มแล้ว อนิวัฒน์ยังเคยสร้างสรรค์นวัตกรรมอีก 2 ผลงานในช่วงที่เรียนปริญญาตรี และมีการส่งประกวดในต่างประเทศมาแล้วประกอบด้วย เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเครื่องจำลองการทำงานของซีทีสแกนเพื่อดูออร์แกนต่างๆ ในร่างกาย

“ผมเลือกเรียนวิศวกรรมชีวการแพทย์ตั้งแต่ปริญญาตรีมาจนถึงปริญญาโท เพราะรวมทุกวิชาที่ผมชอบทั้งฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และการแพทย์มาไว้ด้วยกัน อีกปีหนึ่งก็จบปริญญาโท จบแล้วก็จะต่อปริญญาเอก และอนาคตตั้งเป้าอยากทำงานเป็นนักวิจัยทางด้านการแพทย์ เพราะช่วงที่เรียนผมมีความสุขกับการทำวิจัย รู้สึกว่าการทำวิจัยเป็นสิ่งที่ผมสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวันโดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ” อนิวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น