posttoday

รุกขะ เทวะ ความเชื่อ ธรรมชาติ ความงามอันเร้นลับ

23 กันยายน 2561

คุณดูภาพถ่ายเหล่านี้แล้วจินตนาการอย่างไร เมื่อแรกเห็นรู้สึกถึงอะไร

เรื่อง มัลลิกา นามสง่า

คุณดูภาพถ่ายเหล่านี้แล้วจินตนาการอย่างไร เมื่อแรกเห็นรู้สึกถึงอะไร นัยทางศิลปะขึ้นอยู่ที่คุณตีความ ทว่าศิลปินก็พยายามสอดแทรกแนวความคิดที่ต้องการสื่ออย่างเต็มที่เพื่อให้ภาพเล่าเรื่องและกระทบใจคนดู

“รุกขะ เทวะ” นิทรรศการภาพถ่ายของ “สมศักดิ์ พัฒนพิฑูรย์” ช่างภาพอาชีพที่คว้ารางวัลภาพถ่ายมาหลายเวที ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่ภูมิหลังการศึกษานั้นจบสายวิทยาศาสตร์ (ปริญญาตรีเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทัศนมาตรศาสตร์ (Doctor of Optometry) มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ภาพสายน้ำ กิ่งก้านรากไม้ ในมุมมองของศิลปินจึงอุปมาอุปไมยเป็นอวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์ ที่สัมพันธ์เกื้อกูลกันแม้มีหน้าที่แตกต่าง และแน่นอนว่ามันสำคัญ ขาดสิ่งใดไปอาจส่งผลให้ชีวิตนั้นสูญสิ้นได้

23 ผลงานเป็นการแสดงภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัลและภาพสีครั้งแรกของสมศักดิ์ เพราะต้องการขับเน้นสีเขียว ซึ่งสื่อถึงธรรมชาติและให้ความเป็นต้นไม้ที่สุดแล้ว

ทุกภาพถ่ายจาก “ท่าปอมคลองสองน้ำ” จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวศึกษาเชิงนิเวศวิทยา ที่มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ มีป่าพรุ ป่าดิบชื้น กับป่าชายเลนอยู่ติดกันอย่างกลมกลืน มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ซึ่งความพิเศษนี้เองที่จุดประกายจินตนาการของศิลปินให้โลดแล่น

จากวันแรกที่ลั่นชัตเตอร์ภาพแรก เขาใช้เวลาต่อไปอีกนับได้ 5 ปี “ปี 2556 ไปถ่ายรูปทำการท่องเที่ยว ผมเห็นรากไม้เหมือนมือจับกุมโคนต้นไม้อยู่ เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนนั้นผมจินตนาการต่อว่าเหมือนมือดึงรากไม้เพื่อทำลาย หรือมือดึงรากไม้ยึดไว้เพื่อรักษาก็ได้ ก็เลยเกิดความคิดว่ามีอะไรที่มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวธรรมดา ภาพนั้นคือจุดประกาย

ภาพที่ 2 มีรากไม้ 2 ฝั่ง ผมก็มองเป็นปอด ตอนจัดองค์ประกอบถ่ายรากไม้คือปอด มีสายน้ำไหลผ่านตอนนั้นคิดถึงอากาศไหลผ่านปอด ซึ่งรูปทรงของต้นไม้ที่นั้นมีจุดที่เราไม่เคยคิดมาก่อน”

ในการถ่ายรูปสมศักดิ์ใช้เทคนิคการตกแต่งภาพน้อยมาก เพื่อต้องการนำเสนอความจริงของธรรมชาติให้มากที่สุด สิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายออกมาดูมีมิติ แสงสีนุ่มสลัว ต้องอาศัยไปถ่ายในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ให้เกิดความงามโดยไม่ได้ใช้โปรแกรมเข้ามาช่วย

“เวลาถ่ายภาพจะมีกระบวนความคิด แต่ละสถานที่เราทำการบ้านมาก่อน ตรงนั้นมีอะไรน่าสนใจ จะถ่ายทอดตามที่เรารู้สึกได้ไหม อีกอันหนึ่งเราเตรียมตัวไปแต่พอถึงหน้างานเรารู้สึกอีกแบบหนึ่ง

งานชุดนี้ต่างจากงานที่ผ่านๆ มาค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องของเทคนิค และเป็นครั้งแรกที่ถ่ายในพื้นที่ไม่ใหญ่มาก มีจุดให้เลือกน้อย

ผมไปตั้งแต่เช้ามืดอยู่เกือบทั้งวัน แล้วกลับไปตอนเย็นอีกที ถ่ายในหน้ามรสุมเยอะ เพราะถ้าเราถ่ายป่าดิบชื้น ป่าโกงกางจะได้ความเขียวชอุ่ม น้ำเยอะน้ำไหล มีตะไคร่ ต้นไม้สดชื่น

รุกขะ เทวะ ความเชื่อ ธรรมชาติ ความงามอันเร้นลับ สมศักดิ์ พัฒนพิฑูรย์

ผมไปประมาณ 4-5 ครั้งต่อปี ครั้งละประมาณ 7 วัน ใช้เวลาแต่ละจุด 1-3 ชั่วโมง ผมรอเวลา มันมีช่วงสั้นๆ ที่เหมาะสม ไปครั้งหนึ่งได้ภาพ 1-5 ใบ รอเวลาถ่ายกระแสน้ำ ตาน้ำที่ออกมาเป็นยังไง น้ำสัมพันธ์กับองค์ประกอบกับความรู้สึกที่ผมมีกับตรงนั้นด้วย

มีจินตนาการก่อนถ่ายแต่ละภาพ ไปดูรากไม้จุดนั้นมันชวนให้เรานึกถึงอะไร ถ้าไม่รู้สึกก็ไม่ถ่าย จุดหนึ่งนั่งเป็นชั่วโมงก็ไม่ได้ถ่าย

แสงที่ถ่ายมากที่สุดคือเช้ามืดหรือหลังพระอาทิตย์ตก เลือกช่วงนี้เพราะทำให้ภาพดูนุ่มนวลกว่าปกติโดยไม่ต้องตกแต่งเยอะ ผมต้องการสื่อธรรมชาติแต่ในแง่เทคนิคถ่ายออกมาก็สวยกว่าธรรมชาติจริงๆ ที่ตาเราเห็น ผมตั้งสปีดต่ำ ISO สูง มันช่วยทำให้ถ่ายสายน้ำในสภาวะที่มืดให้ได้แสงสื่อตามที่เรารู้สึก”

สมศักดิ์เคยลองถ่ายภาพที่อื่นแล้ว แต่ไม่มีที่ใดกระทบความรู้สึกของเขาได้และตรงคอนเซ็ปต์ ความเชื่อในอดีตกาลกับธรรมชาติ

รุกขะ เทวะ ความเชื่อ ธรรมชาติ ความงามอันเร้นลับ

นิทรรศการตั้งชื่อว่า รุกขะ เทวะ รุกขะ แปลว่า ต้นไม้ เทวะ แปลว่า เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสมือนเวลาที่เข้าป่ามีความเชื่อกราบไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา ไม่กล้าโค่นล้มต้นไม้เพราะเชื่อว่าทุกต้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ หากแต่กาลเวลาได้ลบเลือนความเชื่อเหล่านี้ เช่นนั้นการตั้งชื่อจึงแยกคำว่า รุกขะ เทวะ ออกจากกัน

“คำถามของงานนี้เราจะเชื่ออะไร ไม่ได้บอกให้ทุกคนกลับไปเชื่อเหมือนเดิม แล้วแต่คนจะเชื่อจะเลือกทำรักษาหรือทำลาย จริงๆ ตัวรุกขะ เทวะ พูดถึงความเชื่อ สิ่งลี้ลับ ภาพที่ออกมาแสงสีก็ดูเร้นลับ น่ากลัวสอดคล้องกับแนวความคิด เพราะขณะผมถ่ายผมยืนในที่มืด ตอนถ่ายผมก็รู้สึกขนลุก”

นิทรรศการศิลปะภาพถ่าย รุกขะ เทวะ จัดแสดงถึงวันที่ 30 ก.ย. ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดให้ชมเวลา 09.00-17.00 น. หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ และมีแผนจะจัดแสดงที่กรุงเทพฯ และ จ.กระบี่