posttoday

เรือใบมด

23 กันยายน 2561

เรือใบมด เป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นมาด้วยพระองค์เอง

เรื่อง สมาน สุดโต

ที่ห้องแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี ที่เนินวง จันทบุรี นั้น ทางพิพิธภัณฑ์นำเรือชนิดต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาแสดงไว้ถึง 6 ห้อง คือ 1.ห้องแสดงสินค้าและชีวิตชาวเรือ โดยจำลองเรือสำเภา ขนาดเท่าของจริงมาตั้งแสดง โดยมีการสร้างหุ่นคนเรือ ลูกเรือ ไต้ก๋งเรือเท่าคนจริง ปฏิบัติงานในอิริยาบถต่างๆ เสมือนจริง ที่ทำงานตามหน้าที่ของตน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำชมบอกว่าเรือสำเภาเป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

2.แนะนำการปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ โดยการจำลองสภาพแหล่งโบราณคดีใต้น้ำใน จ.จันทบุรี พร้อมเสนอวิธีการทำงานใต้น้ำให้ชมโดยไม่ต้องจินตนาการ 3.ห้องคลังวัตถุโบราณ จัดเป็นห้องพิเศษที่ใช้กระจกเป็นผนัง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นโบราณวัตถุที่จัดเก็บด้านใน 4.ห้องเรือและชีวิตชาวเรือ แสดงเรือจำลองที่คนไทยในอดีตถึงปัจจุบันคุ้นเคยอย่างดี พร้อมทั้งระบุชื่อตามลักษณะเรือแต่ละชนิดไว้ด้วย ห้องนี้คือห้องประมวลบรรดาเรือที่ใช้ของคนทั่วประเทศว่ามีลักษณะอย่างไร บางชนิดหาดูได้ยากในชีวิตจริง เพราะการสัญจรทางน้ำหมดความสำคัญ 5.ห้องของดีเมืองจันท์ แน่นอนต้องแสดงของดีที่มีชื่อเสียงจันทบุรี ประวัติศาสตร์ การตั้งเมือง และห้องที่ 6.จัดแสดงชีวิตประวัติบุคคลสำคัญของจันทบุรี รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในบรรดาเรือจำลองที่นำมาแสดงนั้น มีเรือใบมด ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ได้แสดงวิธีจัดสร้างเรือใบมดด้วย

เรือใบมด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบมด

ขอถ่ายทอดวิธีสร้างเรือใบมด ให้อ่านดังนี้ (1) เปลือกเรือทำด้วยไม้ยมหอม หนา 4 มิลลิเมตร จัดทำข้างขวา 1 แผ่น ข้างซ้าย 1 แผ่น รูปแบบและขนาดกำหนดในแบบแปลน ก็จะได้เปลือกเรือตามต้องการ ส่วนนี้ทรงเรียกว่าปลาแห้ง (2) ประกอบเปลือกเรือ หรือปลาแห้งเข้ากับแผ่นปิดท้ายเรือ ขอบด้านล่างของปลาแห้งผูกติดกันด้วยลวดตามรูที่เจาะไว้ ปลาแห้งจะห่อตัวเป็นรูปตัวเรือแล้วทากาวหยอดทิ้งไว้ กาวจะแห้งและติดแน่นแล้วตัดลวดที่ผูกไว้ชั่วคราวออก เสริมผ้าใยแก้วทับแนวให้แข็งขึ้น ไม่ต้องสร้างกงเรือ วิธีนี้เป็นวิธีใหม่ที่พระองค์ทรงคิดค้นด้วยพระองค์เองให้เรือแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา (3) ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ไม้กระดูกงู ทวนหัวเรือ อะเส ฝักมะขาม เต้ารองรับ เสาฝากั้นภายในขอบที่นั่งแล้วทาสีภายในให้ทั่ว ทา 2 ถึง 3 เที่ยว เพื่อรักษาเนื้อไม้ ไม่ให้น้ำดูดซึมได้ ซึ่งจะทำให้เรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น  (4) ปิดแผ่นดาดฟ้าเรือแล้วขัดแต่งผิวเรือภายนอกให้เรียบ แล้วจึงพ่นสีเรือตามต้องการ เมื่อสีแห้งดีแล้วจึงเริ่มประกอบอุปกรณ์แล่นใบ เช่น พุกผูกเชือกรอกต่างๆ เชือกเสา เพลา ใบ และชุดหางเสือเรือเป็นอันเสร็จ พร้อมลงน้ำได้

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ข้อมูลว่า เรือใบมด

เรือมด หรือเรือใบมด เป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นมาด้วยพระองค์เอง และได้จดลิขสิทธิ์เป็นสากล ประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ และพระราชทานชื่อเรือใบมดแปลงมาจากเรือใบ “ม็อธ” ซึ่งที่มาของชื่อทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบต่อๆ มาอีกโดยได้พระราชทาน ชื่อว่าเรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด

เรือใบมด มีความยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว เนื้อที่ใบเรือ 72 ตารางฟุต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงเรือใบมด เข้าทดลองแข่งขันที่ประเทศอังกฤษและได้อันดับที่หนึ่งในบรรดาเรือขนาดเดียวกัน