posttoday

พระจันทร์ คางคก กระต่าย และเทพธิดา

23 กันยายน 2561

มองตะเกียบเห็นป่าไผ่: เพียงแหงนหน้าขึ้นมองพระจันทร์ในค่ำคืน ก็จะเห็นภาพเดียวกันกับที่บรรพบุรุษของพวกเราเห็น

เรื่อง มองตะเกียบเห็นป่าไผ่

คืนหนึ่ง เด็กน้อยเอ่ยถามแทรกเสียงถ่านไม้ปะทุในกองไฟ “แม่จ๋า ทำไมดวงจันทร์ถึงอ้วนกลมอีกแล้วล่ะ”

“เพราะดวงจันทร์กำลังตั้งท้องไงล่ะจ๊ะ”

“แล้วดวงจันทร์ออกลูกเป็นอะไรฮะ”

“รอพระจันทร์ท้องยุบ ลูกๆ ทั้งหลายก็ออกมาเป็นดาวเต็มฟ้า” แม่จ๋าตอบ…

ค่ำหนึ่งริมผนังดินใต้ชายคาฟาง กบร้องระงม “แม่ แม่ เทพคางคกบนดวงจันทร์อยู่ตรงไหน”

“นู่นแหนะ เห็นรอยตรงนั้นไหม นั่นไง ขาเทพคางคก”

“อ๋อ เหมือนกบท้องกลมที่พ่อเขียนไว้บนไหบ้านเรา ลายดวงจันทร์ก็มีจุดเหมือนเจ้าคางคกเลย”

ริมหน้าต่างข้างแสงจันทร์ จิ้งหรีดร้อง ย่าหลานสองคนกระซิบอยู่บนเตียง “ย่าจ๋า ทำไมดวงจันทร์ถึงเป็นผู้หญิง”

“พอโตเป็นสาว เดี๋ยวเจ้าก็รู้เอง”…

คืนที่โคมไฟที่สว่างไสวด้วยเปลวเทียนยามค่ำ ในเสียงพูดจากันระหว่างครอบครัว “แม่ๆ เทพธิดาฉางเอ๋อกับคางคกไม่เห็นน่ารัก หนูชอบแบบที่ได้อยู่กับกระต่ายมากกว่า”

“กระต่ายก็กระต่าย แล้วเห็นรึยัง กระต่ายกำลังตำยาอยู่บนดวงจันทร์นู่น”...

ทำไมจึงมีวัฒนธรรมหลายหลาก ที่ให้พระจันทร์เกี่ยวข้องกับเพศหญิงโดยมิต้องนัดหมาย

ทั้งนี้ คนโบราณคงเห็นร่องรอยปุปะเปื้อนอยู่บนดวงจันทร์มากมายเช่นเดียวกับยุคเรา จุดเริ่มต้นจึงไม่น่าใช่เพราะพระจันทร์งามผ่องเหมือนสตรีงามนางไหน แต่น่าจะเป็นเพราะมีรหัสลับมากมายที่เชื่อมโยงระหว่างพระจันทร์และผู้หญิงเข้าด้วยกัน

เช่นในคติธรรมชาติของวัฒนธรรมจีนที่แบ่งโลกออกเป็นสองขั้วหยิน-หยาง น้ำ-ไฟ มืด-สว่าง และหญิง-ชาย พระจันทร์โดดเด่นสุกสว่างที่สุดเวลาค่ำคืน แล้วยังเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง

หยิน น้ำ ความมืด และเพศหญิง ย่อมถูกจัดกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน

ไม่ใช่แค่นั้น ดูเหมือนพระจันทร์จะยังเกี่ยวข้องกับเพศแม่ซึ่งเป็นเพศแห่งการให้กำเนิดอีกอย่าง เด็กผู้หญิงจะถึงวัยตั้งท้องได้เมื่อเริ่มมีรอบเดือน และความสามารถในการตั้งท้องให้กำเนิดจะคงอยู่ตลอดจนรอบเดือนหมดไปจากชีวิต

การหลั่งเลือดของหญิงวัยเจริญพันธุ์ในเวลาประมาณทุกหนึ่งคาบเดือน จึงเหมือนจะมีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับระยะเวลาครบรอบเสี้ยว-เต็มดวงของพระจันทร์

ย้อนไปในยุคที่ชุมชนมนุษย์ยังไม่ก้าวหน้า ท่ามกลางภัยรอบด้านที่แวดล้อมชีวิตอันเปราะบาง อัตราการรอดชีวิตของทารกต่ำ และกำลังคนคือกำลังที่สำคัญที่สุดของชุมชน ทางรอดที่ตรงไปตรงมาของชุมชนและครอบครัวคือการเกิดให้มากเข้าไว้ ผู้คนจึงบูชาเพศแห่งการให้กำเนิด... บูชาผู้หญิง บูชาพระจันทร์

หนึ่งในหลักฐานการบูชาผู้หญิง คือตุ๊กตารูปสลักยุคหินที่สลักเป็นรูปหญิงอ้วนท้วนสมบูรณ์ ซึ่งมีอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรมตั้งแต่ฝรั่ง (Venus Of Willendorf) ยันจีน
(辽宁喀左东山嘴女神像)

รูปสลักที่ขุดพบไม่เน้นใบหน้า แต่เน้นเนื้อหนังมังสาและไขมันพอกพูน เป็นหญิงที่ถูกขุนจนสมบูรณ์ เป็นแม่พันธุ์แห่งการให้กำเนิดลูกชั้นยอด

ยิ่งเกิดมากยิ่งดี

นี่ยังเป็นที่มาที่วัฒนธรรมจีนและอีกหลายวัฒนธรรมบูชาสรรพสัตว์ประเภท ปลา กบ และคางคก

เพราะปลาและสัตว์ประเภทกบ มีลูกได้ครั้งละมากมาย ทั้งหมดยังมากับน้ำฝนและน้ำหลาก ที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์งอกเงย กบร้องระงมเริงร่าในสายฝนยังพองตัวเข้าออกได้ ดูคล้ายตอนคนตั้งท้องที่พร้อมจะให้กำเนิดชีวิต

ในการสำรวจวัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว (ช่วงยุคราชวงศ์เซี่ย) ค้นพบภาพ ปลา กบ วาดอยู่บนไหดินเผา หลายครั้งจะพบลายประดับเป็นจุดมากมายภายในกบตัวกลม จุดภายในตัวกบแทนลูกอ๊อด ซึ่งก็แทนการให้กำเนิดลูกหลาน

คนโบราณโฟกัสไปที่ความอัศจรรย์ในการให้กำเนิดของปลาและกบ และปรารถนาจะมีลูกมีหลานได้มากมายอย่างพวกมัน จึงนำภาพในจินตนาการมาจารึกไว้ตามเครื่องใช้ต่างๆ

ในอียิปต์มีเทพธิดา Heqet (เฮเคต) เทพธิดาองค์นี้มีตัวเป็นคนหัวเป็นกบ เป็นเทพแห่งการให้กำเนิดและการกลับชาติมาเกิด ส่วนในกลุ่มชนตระกูลไท-ไต ก็มีกลองกบ ฆ้องเขียด และพิธีกรรมบูชากบ ล้วนเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์

กบและคางคกที่พองลมส่งเสียงในหน้าฝน ยังทำให้นึกถึงดวงจันทร์ที่เว้าแหว่งแล้วกลับมากลม พร้อมกับการให้กำเนิดดวงดาวเสียนี่กระไร

ในยุคจ้านกว๋อ ซึ่งการบันทึกประวัติศาสตร์เริ่มงอกเงย ก็ปรากฏบันทึกที่มีเรื่องราวต้นเค้าเกี่ยวกับตำนานพระจันทร์กับเทพคางคก รวมถึงตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อที่หนีจากโลกมนุษย์ไปอยู่บนดวงจันทร์

(เรื่องเทพธิดาฉางเอ๋อนั้น เป็นหนึ่งในต้นตำนานพิธีไหว้พระจันทร์ในทุกวันนี้)

แต่หากสันนิษฐานจากศิลปะบนวัตถุโบราณทั้งหลาย คาดว่าตำนานพระจันทร์กับเทพคางคกน่าจะเกิดขึ้นก่อนตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อ

หลักฐานในบันทึกชิ้นแรกๆ ของจินตนาการว่ามีสัตว์บนดวงจันทร์อยู่ในบทกวี “天问 (เทียนเวิ่น)” ของชวีหยวน (กวียุคจ้านกว๋อที่เป็นต้นกำเนิดตำนานบ๊ะจ่าง)

ในบทกวีกล่าวถึงสัตว์ชนิดหนึ่งบนดวงจันทร์ (...顾菟在腹) แต่ยุคต่อมาตัวอักษรที่หมายถึงสัตว์ชนิดนั้น (菟) กลับไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าหมายถึงสัตว์ประเภทใด ตัวอักษรนั้นคล้ายอักษรกระต่าย (兔) นักวิชาการจีนบางท่านคิดว่าตัวอักษรนั้นแปลว่าคางคก

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าจะเป็นที่มาแรกๆ ที่คางคกบนดวงจันทร์กลายร่างเป็นกระต่ายแทน

ตำนานพระจันทร์ คางคก กระต่าย จึงบูรณการกันหลากหลาย กลายเป็นตำนานนับสิบเวอร์ชั่น

เทพธิดาฉางเอ๋อที่เราไหว้กันในวันไหว้พระจันทร์จึงมีเพื่อนขึ้นไปอยู่แก้เหงาเป็นกระต่ายหยก หรือบางตำนานว่าคางคกสามขา หรือบางตำนานก็ว่า ฉางเอ๋อถูกสาปเป็นคางคกซะเองเลยก็มี

เสื้อคลุมที่ขุดพบในสุสานหม่าหวางตุย ซึ่งเป็นของของสตรีสูงศักดิ์นางหนึ่งสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีรูปคางคกท้องกลมลอยอยู่บนฟ้าพร้อมพระจันทร์เสี้ยวและกระต่าย เห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องพระจันทร์และเทพคางคกยังคงเกี่ยวพันและสานต่อกันเรื่อยมา

และเป็นไปได้ที่เพราะว่ากระต่ายน่ารักคิกขุกว่า นานวันเข้าตำนานพระจันทร์กับคางคกจึงได้รับความนิยมลดลง จนตำนานเทพธิดาและกระต่ายน้อยครองตลาดส่วนใหญ่แทน

อย่างน้อยก็ไม่ถือว่าผิดคอนเซ็ปต์เท่าไร เพราะกระต่ายก็ออกลูกเยอะและบ่อยใช่ย่อย แถมยังน่ารักน่าชัง เป็นโลโก้นิตยสารปลุกใจเสือป่าก็น่ารัก อยู่บนกล่องขนมไหว้พระจันทร์ก็น่าทานมากกว่าคางคกตัวตะปุ่มตะป่ำตั้งเยอะแยะ

ชีวประวัติของ นีล อาร์มสตรอง บอกเราว่า บนพระจันทร์ไม่มีคางคก ไม่มีกระต่าย ไม่มีเทพธิดาฉางเอ๋อ แต่หลายคนเมื่อมองขึ้นดูดวงจันทร์ทีไร ก็ยังคงไม่วายพยายามหาร่องรอยของลายกระต่าย ลายคางคกบนดวงจันทร์

ภาพจินตนาการที่บรรพบุรุษเราจินตนาการเชื่อมโยงขึ้นทั้งหมดไม่มีอยู่จริง จะเคยมีก็แต่จิตใจของบรรพบุรุษ ที่ได้เห็น ได้คิด ได้คาดหวัง ซึ่งแสดงว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ผ่านอะไรมาบ้างในชีวิต พร้อมกับความพยายามอธิบายเชื่อมโยงสรรพสิ่ง ระหว่างตัวตนกับธรรมชาติ ระหว่างชีวิตอันบอบบางกับปรากฏการณ์อันน่าฉงน

ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ ทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวของเราในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่เพียงแหงนขึ้นมองพระจันทร์ในค่ำคืนนี้ ก็จะเห็นภาพเดียวกันกับที่บรรพบุรุษของพวกเราเห็น หวังว่าทุกท่านคงจะสัมผัสได้ถึงจิตใจที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ความหวังและการดิ้นรนเพื่อให้ครอบครัวและชุมชนอยู่รอดต่อไป ผ่านจินตนาการจากรุ่นสู่รุ่นนับพันปี