posttoday

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (80)

23 กันยายน 2561

สายสกุลรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่อง วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย : สายสกุลรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับคุณประไพ สุจริตกุล เมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 2464 ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน ปีเดียวกันนั้นเอง พระองค์ก็ได้สถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ วรวรรณ พระขนิษฐาของอดีตพระวรกัญญาปทาน ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้นและมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรสในภายหน้า และในปลายปีเดียวกันนั้นก็ได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ แต่ทั้งสองพระองค์มิได้อภิเษกสมรส หรือมีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน ในที่สุดจึงต้องตัดสินพระทัยแยกกันอยู่

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (80) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ประสูติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปี 2442 ณ วังวรวรรณ ตำบลแพร่งนรา จังหวัดพระนคร พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด มนตรีกุล มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหญิงติ๋ว ทั้งนี้พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูและอบรมจากเจ้าจอมมารดาเขียน ผู้เป็นย่ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาได้เสด็จไปประทับอยู่กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

พระองค์ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ทรงมีความคิดอ่านอิสรเสรี ซึ่งพระบิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณ ทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติผิดแผกแตกต่างไป สตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ

หม่อมเจ้าวรรณพิมล ทรงเปิดพระองค์อยู่ในสังคมชั้นสูงที่มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมและความบันเทิง ทำให้หลายคนต่างมองเห็นภาพความสนุกสดใสของบรรดาพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า “... ไม่มีผู้หญิงคนไทยครอบครัวใดที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่าองค์หญิงตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักพบมา...”

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (80) พระนางเธอลักษมีลาวัณ ฉลองพระองค์เสือป่าหญิง

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณจึงเสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ซึ่งรวมไปถึงพระภคินีคือ หม่อมเจ้าวรรณวิมล ซึ่งต่อมาได้ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอันมาก

ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผย ทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างที่ทรงหมั้นอยู่ และพบว่าทรงติดต่อกันทางจดหมายเพื่อระบายความทุกข์ส่วนพระองค์ และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เสมอ เช่น


รักสมรย้อนคนึงแสนซึ้งจิต ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่

แม้มิมัวหลงเลยเชยอื่นไป ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน

และ

นึกถึงเมื่อให้กล่องน้องยังห่าง ยังแรมร้างมิได้รักสมัครสม

ชอบกันฐานพี่น้องต้องอารมณ์ ตามนิยมเยี่ยงแยบแบบวงศ์วาร

โอ้งวยงงหลงงมชมที่ผิด จึงมิได้ใกล้ชิดยอดสงสาร

จนต้องแสนซึ้งค้อนร้อนรำคาญ ไร้สราญเหลือล้นจนวิญญา


และหลังจากการถอดถอนหมั้นเพียงไม่กี่เดือน ก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี 2464 ขณะพระชันษาได้ 22 ปี และในวันที่ 8 กันยายน ปี 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส กระนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ประทานกลอนเตือนพระสติ ความว่า


แม้ลูกรักพ่อขอให้นึก

แต่รู้สึกเสงี่ยมองค์อย่าหลงเหิม

ถึงแม่ติ๋วลอยละลิ่วก็ติ๋วเดิม

เดชเฉลิมบุญเราเพราะเจ้าเอย


หลังจากการเฉลิมพระยศได้เพียงหนึ่งเดือนสิบเก้าวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระสุจริตสุดา ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 2464 และทรงตัดสินพระราชหฤทัย “แยกกันอยู่” กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ซึ่งยังมิได้อภิเษกสมรสกัน ต่อมาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2465 เสมือนรางวัลปลอบพระทัย

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (80) พระนางเธอลักษมีลาวัณ

การนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา ได้ประทานบทกลอนปลอบพระทัยพระนางเธอลักษมีลาวัณ ความว่า


ลาภยศเหมือนบทละครเล่น สัตย์ธรรม์นั้นเป็นแก่นสาร

เมื่อเบียฬเพียรผดุงปรุงญาณ บิกบานกรุณาอารีย์

พ่อชราไม่ช้าจะลาสูญ สุดนุกูลสมรักลักษมี

ฉลาดคนึงพึ่งองค์จงดี สมศักดิ์จักรีเกษมพร


หลังจากนั้นพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก็ทรงพอพระทัยที่จะแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงาพระนางจึงทุ่มเทไปกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละครร้องและการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา ทั้งนี้หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับส่วนแบ่งจากพระราชมรดก อาทิ เพชร, ทอง, สังวาล, กระโถนทอง และพานทอง

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพรรณนาไว้ว่า


รูปน้องประกอบเบญจาง คะลักษณะอย่าง

พิเศษพิสุทธิ์สตรี

ประภัสสรพรรณฉวี เกศางามมี

ละเลื่อมสลับแดงปน

เนตรแม้นดาราน่ายล ระยับอยู่บน

นภางคะเวหา


ส่วนพระกิริยาอัธยาศัย ก็งดงามนัก ดังพระราชนิพนธ์ ความว่า


งามพร้อมจริตกริยา ไพเราะวาจา

จะตรัสก็หวานจับใจ

เย็นฉ่ำน้ำพระหฤทัย สุจริตผ่องใส

สอาดประเสริฐเลิศดี

รู้จักโอบอ้อมอารี เอาใจน้องพี่

แลญาติมิตรทั่วกัน

ปราศจากฤษยาอาธรรพ์ โทโสโมหัน

ก็รู้จักข่มเหือดหาย


แต่ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงผู้เดียว แม้เจ้าพี่เจ้าน้องจะคอยมาสนใจความเป็นอยู่แต่พระองค์ก็มิได้นำพา โดยรับสั่งด้วยสำนวนติดพระโอษฐ์ว่า “I don’t care” พระองค์มักมีปัญหากับเหล่าคนใช้และจบด้วยการไล่คนใช้ออก ท่ามกลางความเงียบเหงา พระองค์จึงทุ่มเทกับงานพระนิพนธ์มากขึ้น และเมื่อยิ่งมีพระชนมายุที่สูงขึ้นก็ทรงพอพระทัยในความวิเวกสันโดษ ทรงเก็บพระองค์ในพระตำหนักลักษมีวิลาศไม่มีพระประสงค์จะพบปะสังสรรค์กับผู้ใด

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (80) พระนางเธอลักษมีลาวัณ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแยกจากเจ้าพี่เจ้าน้องอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ริมคลองแสนแสบ ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ และทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระนิพนธ์ร้อยกรอง บทละคร และนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า “ปัทมะ” “วรรณพิมล” และ “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ทรงดำเนินกิจการคณะละครปรีดาลัยที่พระบิดาได้ทรงริเริ่มไว้ และรับคณะละครปรีดาลัยในพระอุปถัมภ์ ได้สร้างศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต, ทัต เอกทัต และจอก ดอกจันทน์

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา และทรงพระนิพนธ์บทกวี และนวนิยาย เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และเสื่อมเสียงสาป

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงใช้ชีวิตเพียงลำพัง ต่อมาโดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ และ วรรณพิมล โดยมีผลงานพระนิพนธ์ดังนี้

1.ยั่วรัก 2.ชีวิตหวาม 3.เสื่อมเสียงสาป

4.รักรังแก 5.สนเท่ห์เสน่หา 6.โชคเชื่อมชีวิต

7.เรือนใจที่ไร้ค่า 8.ภัยรักของจันจลา 9.หาเหตุหึง (บทละคร)

10.ปรีดาลัยออนพาเหรด (บทละคร) 11.เบอร์หก (บทละคร)

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (80) พระนางเธอลักษมีลาวัณ (ขวา) ทรงร่วมแสดงละครเรื่อง โพงพาง