posttoday

Knowing your body การรู้จักร่างกายตัวเอง ตอน 1

22 กันยายน 2561

ยิ่งเรารู้จักร่างกายตัวเองได้มากเท่าไร เราก็ยิ่งดูแลตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น

โดย ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com
 
ยิ่งเรารู้จักร่างกายตัวเองได้มากเท่าไร เราก็ยิ่งดูแลตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าครูผู้สอนโยคะอาสนะทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะรู้จักร่างกายของคุณดีกว่าตัวคุณเอง (ในปัจจุบันที่เน้นเรียนกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ) หากคุณเข้าใจตัวคุณเอง คุณจะหนักแน่น ยืนหยัดในแบบที่คุณเป็นและไม่มีใครมีสิทธิที่จะบังคับให้คุณทำในสิ่งที่คุณไม่ต้องการได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณแก่ขึ้น อายุมากขึ้น หรือเป็นมือใหม่ในการฝึกอาสนะ
 
ถ้าพูดถึงร่างกายสิ่งแรกที่ควรเข้าใจคือ โครงสร้างกระดูกที่เป็นธรรมชาติของตัวเราเอง ซึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด และอาจมีบางส่วนเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเราไม่สามารถเข้าใจถึงโครงสร้างที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง การค้นหาคำตอบด้วยการถามผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา จะช่วยให้เราพัฒนาการฝึกได้
 
ในส่วนของการฝึกโยคะอาสนะ เป็นเรื่องปกติที่ส่วนใหญ่ผู้ฝึกและผู้ถ่ายทอดจะให้ความสำคัญในเรื่องของการทำท่าให้ถูกต้องตามหลักการของท่านั้นๆ มาเป็นอันดับแรกๆ เสมอ แม้ว่าการจัดระเบียบร่างกายให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักการของท่าอาสนะจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ธรรมชาติของโครงสร้างของร่างกายแต่ละคน
 

Knowing your body การรู้จักร่างกายตัวเอง ตอน 1

 
ในปี 1934 ท่านกฤษณมาจารยาได้เขียนหนังสือ Yoga Makaranda เนื้อหาในหนังสือครอบคลุมหลายเรื่องเกี่ยวกับโยคะ เช่น จักรา กริยา มุทรา พันธะในส่วนของอาสนะมีการอธิบายพร้อมภาพประกอบทั้งหมด 42 ท่า เท่าที่ครูจำได้ กูรูจีที่อินเดียเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านกฤษณมาจารยาเป็นคนที่เข้มงวดใน
กฎระเบียบต่างๆ ในการฝึกโยคะค่อนข้างมาก แต่กระนั้นในหนังสือเล่มนี้มีประโยคหนึ่งที่ท่านได้เขียนว่า “The very essence of yoga is that it must be adapted to the individual, not the other way around.” แปลเป็นไทยได้ว่า “สิ่งที่จำเป็นที่สุดของโยคะ คือการที่เราต้องเข้าใจการประยุกต์ให้เข้ากับความเป็นส่วนบุคคล ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม”
 
การจัดวางท่าอาสนะนั้นมีอยู่ ตั้งอยู่แล้ว โครงสร้างธรรมชาติของคนแต่ละคนนั้นก็มีอยู่เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องตระหนักคือการทำความเข้าใจรายละเอียดส่วนบุคคล แล้วปรับให้เหมาะสมกับอาสนะนั้นๆ ดังคำพูดยอดฮิตของเลสลี่ คามินอฟ ว่า “อาสนะไม่มีการวางแนว คนต่างหากที่มีการวางแนว” การวางแนว หมายถึง การจัดร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง Leslie Kaminoff  “Asanas don’t have alignment – people have alignment.”
 
ในความเห็นของครู “อาสนะ” เป็นสิ่งตายตัว “คน” เป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อเรานับร่างกายของส่วนบุคคล (The individual) มาก่อน ทำให้นึกถึงเรื่องๆ หนึ่ง สมัยก่อนตอนที่จิตคิดอะไรแบบหยาบๆ ครูเคยโทษอาสนะบางอาสนะ สมมติว่าชื่ออาสนะ A ว่าไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ทำทีไรก็เจ็บแล้วขัดที่ข้อต่อ (ร่างกายในท่านั้นไม่พร้อม) แล้วยังคิดว่า ประโยชน์ที่ได้จากการฝึกท่านั้นก็มีท่าอื่นทดแทนตั้งเยอะ วันหนึ่งเห็นเพื่อนทำอาสนะ A ได้แบบง่ายดายโดยไม่ส่งผลเสียอะไรกับร่างกายเขาเลย ครูจึงคิดได้ว่า อาสนะนั้นไม่ได้สร้างปัญหาให้เขาสักหน่อย แต่อาสนะนั้นอาจสร้างปัญหาให้ร่างกายครูได้ เพราะคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ครูจึงเลิกโทษอาสนะตั้งแต่นั้นมา
 

Knowing your body การรู้จักร่างกายตัวเอง ตอน 1

 
อาสนะนั้นมีอยู่ อาสนะไม่ใช่ปัญหา คนต่างหากที่มีปัญหา ดังนั้นเมื่ออาสนะไหนไม่เหมาะกับตัวเราในการฝึก ก็ไม่ต้องโทษอาสนะเพราะอาสนะนั้นมีอยู่แล้ว ส่วนตัวเราก็เลือกแล้วจัดการกับตัวเราเอง ยอมรับข้อจำกัดและเคารพร่างกายของเราด้วยความรัก เราจึงสามารถเลือกฝึกท่าที่เหมาะสมกับตัวเราเอง รวมทั้งท่าที่สร้างความสมดุล (ซึ่งก็มีบางครั้งท่าที่สร้างความสมดุลอาจเป็นท่าที่เราไม่ชอบ) นั่นหมายความว่าเราต้องเรียนรู้ข้อจำกัดของตัวเองด้วย เพื่อที่จะไม่ทำให้ตัวเองต้องบาดเจ็บจากการฝึก แล้วกลไกการป้องกันตนเองจะทำงานได้โดยอัตโนมัติ เพราะความเป็นส่วนบุคคลทำให้แต่ละคนมีเป้าหมายในการฝึกที่แตกต่างกันไป และการลงมือทำนั้นสำคัญที่สุด ในระหว่างทางบางทีเราอาจค้นหาบางอย่างเจอ
 
เพราะว่าการฝึกโยคะอาสนะและปราณายามะเป็นเรื่องของกาย-ใจ Mind-Body ดังนั้นเมื่อพูดถึงร่างกายย่อมต้องเชื่อมโยงไปในจิตใจด้วยเสมอ ดังนั้นในฉบับหน้าเราจะคุยถึงเรื่องนี้กันต่อ โดยมองให้ลึกลงไปในส่วนของจิตใจ ส่วนจะเป็นประเด็นไหนรอติดตามกันดูค่ะ 
 
CR.ขอขอบคุณภาพเขียนสีน้ำแนวอาร์ตจากคุณเจน Jane Jiit (Watercolor), IG : janewaterblog