posttoday

‘ต้นไม้เรืองแสง’ ภาพฝันที่กลายเป็นจริง

22 กันยายน 2561

มีรายงาน International Energy Outlook 2017

โดย ธนะโรจน์ สิทธาธีระวัฒน์
 
มีรายงาน International Energy Outlook 2017 ที่จัดทำโดยสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (US Energy Information Administration หรือ EIA) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในอีก 22 ปีข้างหน้า (2583) นับจากปี 2561 เราจะใช้พลังน้ำที่ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน ผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 53 ในส่วนของพลังลม แสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ จะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ครองสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของโลกร้อยละ 31 (เป็นสัดส่วนที่เท่ากันกับถ่านหิน)
 
จากการคาดการณ์นี้ ทำให้มองเห็นได้ว่ามนุษย์ต่างไม่ได้นิ่งนอนใจไปกับปัญหาโลกร้อน แต่มีความพยายามที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และในความเชื่อส่วนตัวของผู้เขียน เชื่อมั่นว่าเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ ก็คือเราจะเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนได้อย่างสิ้นเชิง
 
แต่กว่าจะถึงวันนั้น ก็ได้มีงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านนาโนไบโอนิคพืช จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ศาสตราจารย์ไมเคิล สตาร์โน มาทำให้เราชื่นใจเล่น
 
นั่นก็คือการทำให้ต้นวอเตอร์เครส (ผักสลัดน้ำ) สามารถเรืองแสงเองได้ที่ใบ ผ่านการใช้เอนไซม์ลูซิเฟอเรส ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลลูซิเฟอร์ริน ซึ่งเป็นเอนไซม์และโมเลกุลที่หิ่งห้อยใช้ในการเปล่งแสง และสามารถใช้แทนโคมไฟตั้งโต๊ะ ที่แสงของมันสามารถทำให้เราอ่านหนังสือในเวลากลางคืนได้เป็นอย่างดี และมันก็เรืองแสงเองได้ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว (แถมยังไม่ต้องเสียบปลั๊ก)
 

‘ต้นไม้เรืองแสง’ ภาพฝันที่กลายเป็นจริง

 
จากความสำเร็จอันน่าชื่นชมนี้ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ของเราชาวไทย พัฒนาและยกระดับงานวิจัยนี้ขึ้นไปอีกขั้น คือการทำให้ต้นไม้เรืองแสงเองได้ในเวลากลางคืน และดับแสงเองได้ด้วยตัวมันเองในเวลากลางวัน และปลายทางแห่งการยกระดับอีกขั้นของการวิจัยนั้น เป็นการนำต้นไม้เรืองแสงมาทดแทนเสาไฟฟ้าที่ส่องแสงอยู่ตามท้องถนนนั่นเอง
 
นับว่าเป็นโอกาสดี ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังการบรรยายของศาสตราจารย์ไมเคิล ที่ได้เดินทางมาบรรยาย ณ ศูนย์ RISC เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยศาสตราจารย์ไมเคิล ได้เล่าว่า เขาและทีมงานได้พัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นไปอีกขั้น โดยใช้อนุภาคระดับนาโนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้กับต้นไม้
 
นอกเหนือจากการเรืองแสงในที่มืด นั่นก็คือการตรวจวัดมลพิษ และตรวจวัตถุระเบิดจากการวัดระดับสารเคมีที่อันตรายจากต้นไม้นั่นเอง โดยการใช้เทคโนโลยีนี้กับต้นไม้ใหญ่ จะถูกใช้ด้วยวิธีการพ่น ฉีด หรือทาน้ำยาที่ใบไม้แทนการฝังตัว ซึ่งศาสตราจารย์ไมเคิล ตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้เป็นวิธีการทำงานแบบครั้งเดียว แต่มีผลกับต้นไม้ไปตลอดชีวิต โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีก
 
คงดีไม่น้อย ถ้าเมื่อถึงเวลากลางคืน บรรยากาศรอบตัวเราจะเป็นเหมือนฉากสวยงามเฉกเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Avatar (ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศาสตราจารย์ไมเคิล จนกลายมาเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญชิ้นนี้) มันจะเป็นภาพที่สวยงาม ที่ทำให้ชีวิตของเราทุกคนมีความรื่นรมย์ แถมยังได้รับประโยชน์ในด้านการได้รับแสงสว่างในเวลากลางคืน
 

‘ต้นไม้เรืองแสง’ ภาพฝันที่กลายเป็นจริง

 
 ในขณะเดียวกันโลกของเราก็จะมีชั้นบรรยากาศที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องมีการทำถ่านหินเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งในอีก 22 ปีข้างหน้า อาจไม่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าไปเลยก็ได้
 
ในวันที่ผมไปฟังศาสตราจารย์ไมเคิล บรรยายเรื่องต้นไม้เรืองแสงนั้น ก่อนกลับบ้าน ผมได้เจอ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC ดร.สิงห์ บอกเล่าให้ฟังว่า การมีต้นไม้เรืองแสง ถือเป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมแก่โลกของเราใบนี้เป็นอย่างมาก เพราะแสงสว่างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของการใช้พลังงานทั่วโลก!
 
คงดีไม่น้อย ถ้าแสงที่ส่องสว่างอยู่ทั่วทั้งโลก จะเกิดจากต้นไม้ที่เรืองแสงได้ด้วยตัวเอง และเป็นผลลัพธ์อันน่าชื่นชมที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือทำงานวิจัยระหว่างศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ของเราชาวไทย กับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แห่งสหรัฐ ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ไมเคิล สตาร์โน ผู้ที่ทำให้ภาพสวยงามที่เกิดขึ้นบนจอภาพยนตร์ กลายมาเป็นความจริงได้อย่างสวยสดงดงาม