posttoday

ทัวร์สีเขียวที่ "สโลวีเนีย" จากไอเดียสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

19 กันยายน 2561

ตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่สร้างการท่องเที่ยวประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่สร้างการท่องเที่ยวประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สโลวีเนียเป็นประเทศเล็กๆ ที่สวยงามอยู่ระหว่างเทือกเขาแอลป์ที่มียอดหิมะปกคลุม กับทะเลเอเดรียติกสีครามและอบอุ่น จึงมีภูมิประเทศที่หลากหลาย ยังไม่นับความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม สโลวีเนียจึงสวยงามราวกับดินแดนในเทพนิยาย เป็นจุดหมายปลายทางที่หลายคนอยากจะมาเยือนสักครั้งในชีวิต

ในบรรดาอดีตรัฐยูโกสลาเวีย ประเทศสโลวีเนียถือว่าโชคดีกว่าเพื่อน เพราะหลังจากยูโกสลาเวียแตกสลายกลายเป็นประเทศต่างๆ สโลวีเนียไม่ต้องเผชิญกับช่วงสงครามกลางเมืองที่ยาวนาน มีเพียง “สงคราม 10 วัน” เพื่อแยกตัวออกมา จากนั้นก็สามารถตั้งประเทศได้อย่างเรียบร้อย คงเพราะสภาพบ้านเมืองที่สงบสุข ทำให้คนในประเทศนี้คิดอะไรที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้าน

หลายคนคงไม่ทราบว่า สโลวีเนียได้รับฉายาว่าประเทศที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด โดยการท่องเที่ยวสโลวีเนียได้วางแนวทางเพื่อการท่องเที่ยวสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2009 เพื่อทำให้ประเทศมีความยั่งยืน ซึ่งค่อนข้างตรงกันข้ามกับหลายๆ ประเทศที่ขูดรีดทรัพยากรตัวเอง เพื่อเก็บเกี่ยวเงินจากนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด และแยแสกับคำว่า “ความยั่งยืน” น้อยที่สุด

ทางการสโลวีเนียผุดไอเดียสุดเจ๋งออกมาชิ้นหนึ่ง เรียกว่า แนวทางการท่องเที่ยวสีเขียวในสโลวีเนีย หรือ GSST ภายใต้แบรนด์ Slovenia Green เพื่อกำหนดมาตรฐานการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะมอบป้ายประกาศระดับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับภาคท้องถิ่นและภาคธุรกิจ

เช่น กรุงลูบลิยานา เมืองหลวง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้รับป้ายประกาศระดับโกลด์ (ที่ 1) เช่นเดียวกับเมืองโปเชอร์เตรเตก และเมืองเบล็ด ส่วนเมืองที่ได้ป้ายรับรองระดับซิลเวอร์ (ที่ 2) เช่น เมืองคัมนิก เมืองอิดรียา เมืองโนวาโกริกา เป็นต้น ส่วนเมืองที่ได้ป้ายรับรองระดับบรอนซ์ (ที่ 3) เช่น เมืองเชเลีย เมืองลิทียา เมืองลาสโก เป็นต้น

ระดับโกลด์ ซิลเวอร์ และบรอนซ์ เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่า หากจัดการดีก็ย่อมมีคนไปเยี่ยมเยือนมาก เพราะนี่คือจุดขายหลักอย่างหนึ่งของประเทศไปแล้ว

ทัวร์สีเขียวที่ "สโลวีเนีย" จากไอเดียสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

นอกจากหน่วยงานบริหารระดับเมืองแล้ว แม้แต่หน่วยงานบริหารอุทยานแห่งชาติ ยังต้องผ่านการประเมินด้วยว่า “เขียว” พอหรือไม่ เพราะอุทยานแห่งชาติคือระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดของชาติ แต่ขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะผสานการท่องเที่ยวเข้ากับการอนุรักษ์อย่างกลมกลืน

ไม่เฉพาะแค่ภาครัฐเท่านั้นที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และเข้าร่วมกับโครงการ Slovenia Green อย่างแข็งขัน เช่น มีการระบุชื่อโรงแรมที่่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง เช่น Hotel Thermana Park Laško โรงแรมกึ่งสปาเพื่อสุขภาพ หรือจะเป็น Camp Koren Kobarid ซึ่งเป็นบริการที่ตั้งแคมป์ที่เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม และยังพยายามให้บริการผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากท้องถิ่นภายใต้มาตรฐานสีเขียว และ Farm Stay Urška ให้บริการที่พักในฟาร์มและอาหารที่ผลิตจากฟาร์มออร์แกนิค รวมถึงบริการด้านสุขภาพที่ครบครัน

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจสีเขียวของที่นี่ไม่ได้เน้นแค่รักษาสิ่งรอบๆ ตัวเท่านั้น แต่ยังเอาใจใส่ต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย เพราะมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และภาวะรอบตัวที่สดชื่นอาจช่วยปรับทัศนะของมนุษย์ให้ตระหนักว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ

ในส่วนของบริการนำเที่ยว หรือเอเยนต์ทัวร์ ก็ใช้หลักการเดียวกัน เช่น Visit Good Place บริการพาเที่ยวด้วยจักรยานด้วยเส้นทางที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่ทางหลวง หรือถนนที่ลาดยางอย่างดี แต่เป็นเส้นทางที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ระหว่างทางนักท่องเที่ยวยังสามารถอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ Responsible Trade ซึ่งเน้นความพอเพียง ไม่ล้างผลาญแต่สร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่

ยานา อาปิห์ กรรมการผู้จัดการของเอเยนต์ทัวร์รายนี้ ให้สัมภาษณ์กับ Sustainability Leaders Project ว่า ก่อนที่จะตั้งบริษัทขึ้นมาเธอได้ลองสำรวจดูธุรกิจทัวร์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงคิดว่าควรที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลง และยังตระหนักว่าการท่องเที่ยวของสโลวีเนียในเวลานั้นไม่มีจุดเด่นที่แน่ชัด เธอจึงตัดสินใจที่จะตั้งบริษัทขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกระทรวงการท่องเที่ยวและคณะกรรมการการท่องเที่ยว เพราะหน่วยงานภาครัฐทั้งสองแห่งตระหนักว่า การท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนคือแนวทางการพัฒนาของสโลวีเนีย

นี่เป็นตัวอย่างที่ดียิ่งสำหรับการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การสร้างแนวทางเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การปล่อยให้เกิดการทำลายมรดกทางธรรมชาติอย่างหนัก จนต้องปิดซ่อมให้ธรรมชาติฟื้นตัวเหมือนบางประเทศ

ที่มา www.m2fnews.com

ทัวร์สีเขียวที่ "สโลวีเนีย" จากไอเดียสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน