posttoday

ติดเหล้า ไม่มีอะไรดี

19 กันยายน 2561

ต้องยอมรับชีวิตที่ติดแอลกอฮอล์ไม่มีอะไรดี ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในสังคมไทย

เรื่อง วรธาร  

ต้องยอมรับชีวิตที่ติดแอลกอฮอล์ไม่มีอะไรดี ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในสังคมไทย ครอบครัวต้องแตกแยก หย่าร้าง เป็นการสร้างภาระให้คนอื่นในครอบครัว ไร้ความอบอุ่น ร่างกายเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บไร้สมรรถภาพ ทำให้มีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ กระนั้นคนติดแอลกอฮอล์ก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเมื่อหันไปดูสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 มีคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 15.9 ล้านคน ลดลงจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 17.2 ล้านคน แต่ถ้าเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ดื่มยังมีแนวโน้มคงที่อยู่ที่ประมาณ 32% ขณะที่ผู้ไม่ดื่ม 68% และนักดื่มหน้าใหม่อายุระหว่าง 15-19 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับนักดื่มหน้าเก่าที่มีแนวโน้มลดลง

ติดเหล้า ไม่มีอะไรดี

นักดื่มหน้าใหม่เพิ่ม หน้าเก่าลด

ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงต้องดูที่ปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน โดยเฉพาะนโยบายและมาตรการที่ให้คนลดละเลิกเหล้าของภาครัฐ โดยปัจจัยที่ทำให้นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากตัวของแต่ละคนเองและปัจจัยแวดล้อมด้วย เช่น บางคนเห็นผู้ใหญ่ดื่ม โตขึ้นก็อยากลองเพื่อแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่บ้าง หรือการมีค่านิยมผิดๆ ทางสังคม เช่น เห็นรุ่นพี่ที่เรียนในสถานศึกษาเดียวกันดื่มหรือชักชวนให้ดื่มก็ดื่มโดยไม่ปฏิเสธ หรือในชุมชนที่มีกิจกรรมหรืองานประเพณีต่างๆ ซึ่งมีการดื่มเหล้าเยาวชนก็อยากดื่มบ้าง นอกจากนี้ยังรวมถึงการทำโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม การทำตลาดของเจ้าของธุรกิจแอลกอฮอล์ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ทำให้เยาวชนมองการดื่มมากขึ้นและมองว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา

“สำหรับนักดื่มหน้าเก่าที่มีแนวโน้มลดลงมาจากการที่ผู้ดื่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญ นักดื่มหน้าเก่าส่วนใหญ่เป็นคนมีครอบครัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็จะคำนึงถึงครอบครัวมากขึ้น ไม่เอาเงินไปซื้อเหล้ากิน บางคนเกิดสำนึกตัวที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อครอบครัว บางคนครอบครัวได้สามีภรรยาและลูกๆ คอยสนับสนุนให้กำลังใจในการเลิกเหล้า นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจก็มีส่วนช่วยทำให้นักดื่มหน้าเก่าลดลงด้วยเพราะเมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการปรับราคาสูงขึ้น แต่รายได้น้อยก็ไม่อยากซื้อกินเพราะคิดถึงครอบครัว ไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อนมีความเป็นอยู่ลำบาก”

ติดเหล้า ไม่มีอะไรดี

การบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจัง

ธีระ กล่าวว่า การที่จะทำให้คนลด ละเลิกเหล้าได้ ต้องทำหลายนโยบายและหลายมาตรการประกอบกัน เพราะถ้าทำด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผล อย่างนโยบายการรณรงค์ให้คนเลิกเหล้า เช่น การรณรงค์ลดเหล้าเข้าพรรษา การรณรงค์งดเหล้าตลอดชีวิต ลดละเลิกเหล้าคนหัวใจเพชร ฯลฯ ก็จะมีการตั้งชมรมเครือข่ายต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้นักดื่มมีโอกาสลดละเลิก รวมถึงการสร้างชุมชนเข้มแข็งควบคู่ไปด้วยกัน เช่น ชุมชนคนสู้เหล้า เป็นต้น

อย่างที่สอง นโยบายป้องกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ก็จะมีมาตรการเรื่องภาษีและราคาเพื่อให้คนเข้าถึงแอลกอฮอล์ยากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการของกรมสรรพสามิตที่จะปรับเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับราคาสินค้าตัวอื่นๆ เพื่อลดแรงจูงใจในการที่จะซื้อหรือตัดสินใจซื้อแอลกอฮอล์

“อีกมาตรการคือการควบคุมการโฆษณาการส่งเสริมการขายและการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการสำรวจชัดเจนว่าเวลาที่เจ้าของธุรกิจใช้กลยุทธ์โปรโมชั่นลดราคาหรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่ดึงดูดใจผู้คนก็จะหันไปซื้อมากขึ้น เช่น จากเดิมตั้งใจซื้อ 1 ขวด ก็เพิ่มเป็น 2-3 ขวด เป็นต้น ซึ่งในส่วนที่เป็นโปรโมชั่น การส่งเสริมการขายและการตลาดมี พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ที่ควบคุมอยู่ แต่ภาคธุรกิจก็มีการละเมิดอยู่โดยการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย

ติดเหล้า ไม่มีอะไรดี

อีกนโยบายคือการจำกัดสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ดื่ม สถานที่จำหน่าย รวมถึงการจำกัดอายุในการซื้อ ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง รวมถึงในทุกนโยบายและทุกมาตรการที่กล่าวมา ก็เชื่อว่าผู้ดื่มจะลดลง ซึ่งการควบคุมแอลกอฮอล์ให้ได้ผลนั้น ผมมองว่าควรต้องทำเหมือนบุหรี่ที่มีประสบการณ์มาก่อน ตอนนี้บุหรี่มีแนวโน้มลดลงมาก จากนักสูบประมาณ 20% ปัจจุบันเหลือ 11% แต่ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ยังอยู่ที่ 32% เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาในเชิงนโยบายและมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจำนวนผู้ดื่มจะน้อยลง”

ธีระ ยอมรับว่า บางมาตรการยังต้องปรับแก้ไขให้เข้าที่ เช่น มาตรการภาษีที่สินค้าบางชนิดไม่สมดุลกัน อย่าง เหล้าขาวราคาต่ำกว่าเบียร์ ทำให้คนหันไปกินเหล้าขาว ซึ่งเหล้าขาวก็มีแอลกอฮอล์สูงกว่า เพราะฉะนั้นการขึ้นภาษีต้องให้สอดคล้องกับสินค้าแต่ละตัว ส่วนการควบคุมการโฆษณาก็ยังมีจุดอ่อนให้เจ้าของธุรกิจใช้ช่องว่างโฆษณาสินค้าอยู่ บางเจ้าก็ไปโฆษณาน้ำดื่มแต่ก็ยังเป็นยี่ห้อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ติดเหล้า ไม่มีอะไรดี

ติดเหล้าทำไมเลิกยาก

ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์ถือเป็นสารเสพติดชนิด พอกินเข้าไปก็จะไปกดเส้นประสาทแล้วหลั่งสารความสุขออกมา คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาจากหลายปัจจัย เช่น ค่านิยมทางสังคม อยากลอง บางคนเครียด ชีวิตมีปัญหาก็อยากหาทางออกด้วยการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายเครียด

“พอดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมันก็จะออกฤทธิ์ไปกดเส้นประสาทแล้วหลั่งสารความสุขออกมา สารนี้ทำให้คนดื่มมีความสุขลืมปัญหาต่างๆ ไปชั่วคราว พอกินเรื่อยๆ สมองก็จะได้รับการกระตุ้นเกิดอยากดื่มมากขึ้น พอดื่มหนักขึ้น เมื่อไรก็ตามที่สมองไม่ได้รับแอลกอฮอล์สมองก็จะออกอาการภาวะถอนพิษ เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจหวิว มือไม้สั่น บางรายแอลกอฮอล์ไปทำลายสมองบางส่วนอาจมีอาการประสาทหลอนได้หากติดแอลกอฮอล์อย่างหนักการจะเลิกได้ต้องใช้เวลา คนที่จะเลิกต้องทำใจสู้กับภาวะอยากสุราให้ได้ และต้องเข้าคอร์สบำบัดและอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้ควรต้องมีคนอื่นช่วยโดยเฉพาะคนในครอบครัวคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ อยากจะบอกว่าคนที่ไม่อยากเลิกสุรานั้น เพราะมีแต่ผู้คนตำหนิซ้ำเติมอย่างนั้นอย่างนี้ทำให้ไม่มีแรงจูงใจลุกขึ้นมาแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นกำลังใจสำคัญที่สุดที่คนรอบข้างควรต้องมีให้อยู่เสมอ” ธีระ กล่าว

เลิกเหล้าอยู่ที่ใจ

ชาญ ยิ้มจันทร์ กำนันตำบลพักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เป็นคนหนึ่งที่เคยติดเหล้ามานานกว่า 30 ปี แต่ปัจจุบันได้เลิกเหล้าเด็ดขาดมานานหลายปี และเป็นกำนันที่ทำงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ด้วย เล่าว่า เริ่มกินเหล้าตั้งแต่เริ่มรับราชการในกรมชลประทาน โดยไปประจำการในต่างจังหวัดจนถึงอายุ 33 ปี จึงได้ลาออกเพราะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

“ตอนที่ทำงานพอเงินเดือนออกก็เอาไปซื้อเหล้ากินกับเพื่อน แทบไม่ได้หยิบยื่นให้ทางบ้าน ตอนหลังแต่งงานมีครอบครัว ก็ไม่ค่อยได้ส่งเสียเลี้ยงดูลูกๆ และครอบครัว มีแต่เพื่อน สังคมอย่างเดียว เงินเดือนออกมาติดลบ เรียกว่าลืมครอบครัวไปเลย ภาระครอบครัวตกเป็นของภรรยาที่ต้องดูแลลูก ยังดีที่ภรรยาเป็นครู ก็พออ้อมแอ้มไปบ้าง

ผมรับราชการอยู่จนอายุ 33 ปีก็ลาออกมาเปิดอู่ซ่อม แต่ยังทำตัวเหมือนเดิม พอดีมีเลือกตั้ง อบต. เลยสมัคร ได้เป็น อบต. ผู้ใหญ่บ้านเกษียณก็สมัครผู้ใหญ่ฯ กำนันเกษียณก็สมัครกำนันได้เป็นทุกอย่างแต่ผมยังทำตัวเหมือนเดิม จนในที่สุดภรรยาต้องไปอยู่โรงพักครูที่โรงเรียน แต่ผมยังไม่สำนึก ทำตัวเหลวแหลก จนกระทั่งปี 2557 ได้เข้าโครงการพักทันพักตับของ สคล. ในที่สุด ผมตัดสินใจหักดิบไม่กินเหล้าเลย โชคดีที่ร่างกายผมยังไม่เป็นโรคอะไรการหักดิบจึงไม่ได้ส่งผลลบต่อร่างกายเหมือนที่คนอื่นๆ บางคนเป็น”

กำนันชาญ เล่าว่า หลังจากที่เลิกเหล้าแล้วครอบครัวกลับมาอบอุ่นและมีความสุขมาก ภรรยากลับอยู่ด้วยกัน ลูกๆ ต่างก็ดีใจ เขาเองก็สุขใจที่สามารถเลิกเหล้าได้เด็ดขาด ทุกวันนี้อายุ 59 ปี นอกจากทำหน้าที่กำนันแล้วยังทำงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าใน จ.สิงห์บุรี อีกด้วย นอกจากนี้กำนันยังทำเกษตร มีเหลือก็แบ่งปันลูกบ้าน

กำนันชาญฝากบอกทุกคนว่า เหล้าไม่มีอะไรดี ยิ่งกินยิ่งเสื่อม มีแต่โทษ ถ้าไม่โดนกับตัวคงจะไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะกินอย่าลืมท่อง “สติ” ไว้ก่อนแล้วชีวิตจะปลอดภัย โชคดี และมีความสุข