posttoday

อัศร์ อติรักษ์ บริหารธุรกิจ ด้วยแนวคิดครอบครัว

18 กันยายน 2561

ตกผลึกความคิดและการใช้ชีวิตของทายาทรีสอร์ทสัญชาติไทย

เรื่อง/ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ตกผลึกความคิดและการใช้ชีวิตของทายาทรีสอร์ทสัญชาติไทย อัศร์ อติรักษ์ ผู้จัดการทั่วไป เทวาศรมหัวหิน รีสอร์ท ลูกชายคนสุดท้องของบ้าน ที่เข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ช่วงที่เป็นวัยรุ่น จนถึงวันนี้ในวัย 35 ปี เขาได้เรียนรู้ “การใช้ชีวิต” จากการบริหารงานและบริหารคน

อัศร์เคยเป็นหนุ่มบัญชี หลังจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกเพื่อมาร่วมก่อตั้งรีสอร์ทกับครอบครัว

เขาได้เล่าถึงความท้าทายในการเปลี่ยนบทบาทจากนักบัญชีมาสู่ผู้บริหารว่า การบริหารรีสอร์ทเป็นเรื่องของการบริหารคน และการจัดการองค์ประกอบหลายอย่างให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าจะมีกรอบของกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติแต่ก็ยังต้องมีความยืดหยุ่นในการปกครอง ซึ่งแตกต่างจากงานบัญชีโดยสิ้นเชิง

“ช่วงปีแรกๆ เราโชคดีที่มีโอกาสเรียนรู้การทำงานจากทีมบริหารและผู้จัดการทั่วไป ที่เราให้เขาเข้ามาบริหารในช่วงแรก ส่วนการบริหารคนผมได้เรียนรู้จากคุณแม่เป็นหลัก ผมเห็นคุณแม่เป็นอาจารย์ อาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มามาก ทำให้ท่านมีประสบการณ์ในการบริหารคนที่หลากหลาย คุณแม่จึงมีความละเอียดและมีความเข้าใจคน ดังนั้นพนักงานทุกคนจึงไม่ใช่แค่พนักงานแต่ท่านดูแลเสมือนลูกหลาน และได้แนะนำแนวทางทั้งหน้าที่การงานไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน”

อัศร์ อติรักษ์ บริหารธุรกิจ ด้วยแนวคิดครอบครัว

เขากล่าวถึงคุณแม่ ราศรี อติรักษ์ กรรมการผู้จัดการ เทวาศรม หัวหิน รีสอร์ท หญิงเก่งในวัย 64 ปี ที่หันหลังให้กับความสำเร็จในหน้าที่การงานและตำแหน่งที่ปรึกษาในหลายองค์กรใหญ่ เพื่อมาตั้งต้นธุรกิจรีสอร์ทกับครอบครัว ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว พื้นที่ริมชายหาดชะอำในเวลานั้นยังมีแต่ความว่างเปล่า แต่ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างที่พักสำหรับครอบครัว และสามารถทำเป็นธุรกิจได้ในเวลาเดียวกัน ครอบครัวอติรักษ์จึงลงทุนสร้างรีสอร์ทขนาด 24 ห้อง

“หลังจากเรียนจบบัญชี เด็กจบใหม่ทุกคนอยากทำงานในบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ แต่เมื่อทำไปได้ประมาณ 4 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ได้ตอบสนองความสุขของตัวเอง เพราะตัวงานคือการตรวจสอบ ทำให้ผมเห็นความทุกข์ของคนอื่นจนต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังทำอะไร หลังจากนั้นจึงได้ปรึกษากับคุณแม่ในเรื่องธุรกิจโรงแรมและก็เริ่มหาโอกาสหาที่ดินจนมาเจอที่ผืนนี้”

อัศร์ กล่าวด้วยว่า หัวใจสำคัญที่ใช้ในการพัฒนารีสอร์ท คือ “การคิดอย่างแขก” เพราะในช่วงเริ่มต้นไม่มีใครมีความชำนาญในการบริหารรีสอร์ท แต่ทุกคนคุ้นเคยกับการเป็นผู้เข้าพักมาก่อน ดังนั้นการคิดในมุมมองของผู้เข้าพักจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี

“ข้อดีของแนวคิดนี้คือ ทำให้เราไม่อยู่ในกรอบของคนทำโรงแรม พออยู่นอกกรอบทำให้เราเปิดกว้างในเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงได้ยินบ่อยว่าบางอย่างที่เราทำอยู่ คนทำโรงแรมทั่วไปเขาไม่ทำกันเพราะมันไม่คุ้ม แต่พอเราคิดในมุมของแขก เราก็คงอยากได้ เราเลยเพิ่มเติมในจุดที่โรงแรมอื่นอาจไม่มีขึ้นมาเพื่อเติมเต็มให้แขกรู้สึกอิ่มเอมและรู้สึกดี”

นอกจากนี้ การทำธุรกิจแบบครอบครัวก็มีความท้าทายเช่นกัน เนื่องจากในช่วงแรกต้องปรับตัวจากความใกล้ชิดมาเป็นการทำงานร่วมกัน แต่เมื่อถึงจุดที่ทุกคนปรับตัวได้ การทำธุรกิจแบบครอบครัวก็กลายเป็นจุดแข็งที่สามารถทำให้ธุรกิจทะยานขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว

“จุดแข็งคือ เราคุยกันได้ง่ายและทำให้ทุกอย่างไปได้เร็ว โดยในช่วงขวบปีแรกอาจจะยากในการพูดกันตรงๆ แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกัน ทำให้ต้องปรับวิธีการกันใหม่หมดว่าเราต้องคุยกันได้ตรงๆ สามารถปรึกษากันได้ และเคารพบทบาทของกันและกัน” นอกจากคุณแม่ที่ดูแลภาพรวมของรีสอร์ท เขายังทำงานร่วมกันพี่ชายที่ปัจจุบันรับหน้าที่ดูแล เทวาศรม เขาหลัก ซึ่งเป็นเทวาศรมแห่งที่ 2 โดยคาดว่าจะเปิดตัวในเดือน ธ.ค. 2561

“โชคดีที่แต่ละคน เก่งคนละอย่าง อย่างคุณแม่ที่มีประสบการณ์การทำงานสูงมาก ทำให้ท่านสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ลุ่มลึก อย่างเวลาเจอปัญหา เราอาจคิดมากไปหลายชั้น แต่คุณแม่จะถอยกลับมาที่สเต็ปแรกแล้วใช้วิธีการแก้ไขที่เรียบง่ายที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ต้องกังวลมากเกินไป ปรากฏว่ามันจบได้เร็วและง่ายกว่า ส่วนพี่ชายจะแม่นในเรื่องของการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล และการคิดอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ทำให้ไม่มีจุดไหนตกหล่นไประหว่างทาง เขาสามารถเห็นจุดอ่อนในหลายๆ ปัญหา และเห็นปัญหาก่อนที่มันจะเกิด นอกจากนี้ พี่ชายยังเป็นวิศวกรที่ชอบงานสถาปัตย์ จึงเข้ามาดูแลในเรื่องของการดีไซน์ สถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายในต่างๆ ของรีสอร์ททั้งสองแห่ง

อัศร์ อติรักษ์ บริหารธุรกิจ ด้วยแนวคิดครอบครัว

ส่วนผมเองมองว่าน่าจะเป็นการดูแลและบริหารความสุขให้ผู้อื่น เพราะด้วยความที่เป็นคนใส่ใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น และจับความรู้สึกของคนอื่นได้เร็ว ซึ่งคนอื่นอาจมองเป็นจุดอ่อนเพราะมองเป็นความเซ็นซิทีฟ แต่ผมคิดว่ามันคือของขวัญมากกว่าคำสาป เพราะเมื่อเรารู้สึกได้เร็วกว่าก็สามารถคิดกระบวนการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของแขกได้รวดเร็ว และช่วยให้พนักงานทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น”

แม้ว่าวันนี้แบรนด์เทวาศรมจะอยู่มานานถึง 8 ปี จนกลายเป็นที่รู้จักและติดตลาด แต่มุมมองของผู้บริหารยังมองเห็นความท้าทายใหม่ที่เปลี่ยนไปทุกปี จากช่วงแรกๆ ที่มีคำถามว่าจะทำได้ไหม หรือเทวาศรมจะไปอยู่จุดไหนของหัวหิน ซึ่งเขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากความคิดเห็นของผู้เข้าพักที่เลือกให้เทวาศรมเป็นที่ 1 ในหัวหินจากทริปแอดไวเซอร์ จนถึงวันที่เทวาศรมก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการโรงแรมบูติก ความท้าทายใหม่จึงเป็นเรื่องของ “ทิศทาง” สำหรับก้าวต่อไป

“เราพยายามจะหาว่ายังมีอะไรอีกบ้างที่เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งความยากของมันก็คือ ถ้าคุณอยู่ที่หลังๆ มันยังพอมีอะไรให้เทียบเคียงว่าเราต้องไปข้างหน้ายังไง แต่เมื่อคุณอยู่หัวแถวกับคนอื่น มันกลายเป็นว่า เราเองที่ต้องมองหาทิศทาง เหมือนเราเป็นกลุ่มเรือที่อยู่กลางมหาสมุทร เราต้องหาทิศทางเพื่อเดินทางต่อไป และเราไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ ไม่เช่นนั้นลำอื่นก็จะแล่นนำเราไป และเราก็จะสูญเสียตำแหน่งโรงแรมแถวหน้า ซึ่งผมคิดว่าการไม่หยุดพัฒนาของโรงแรมรีสอร์ทเหล่านี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพราะที่พักคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเดินทางเข้ามากลายเป็นรายได้ให้ผู้ประกอบการและเป็นรายได้ของประเทศ”

นอกจากนี้ ผู้บริหารหนุ่มยังมีความสนใจในเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีหลายแง่มุม โดยเขามุ่งหวังที่จะดูแลพนักงานทุกคนให้มีความสุขและทำงานร่วมกันได้ โดยเขาเผยว่า บางอย่างต้องตั้งเป็นกฎเกณฑ์ แต่ในรายละเอียดของแต่ละบุคคลต้องใช้ความใกล้ชิดเป็นสื่อกลาง

“พอเราพูดถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลจะว่าง่ายมันก็ง่าย แต่ความยากก็มีเยอะ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถบริหารคนได้ แต่จะบริหารได้ดีมากน้อยแค่ไหนมันต้องเข้าถึงรายละเอียดเพื่อเซตกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คนอยู่ร่วมกัน ดังนั้นผู้บริหารต้องเข้าถึงพนักงานเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และให้ทำงานร่วมกันได้อย่างดี เพราะงานโรงแรมคืองานบริการ ดังนั้นถ้าเราบริหารงานดีแค่ไหน แต่ถ้าพนักงานของเราทำไม่ได้ เราก็จะไม่สามารถให้บริการที่ดีแก่แขกได้”

ถามต่อว่าในฐานะที่เป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวและต้องบริหารโรงแรมแรกของครอบครัว เขามีความกดดันหรือต้องพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็นหรือไม่ อัศร์ตอบว่า ช่วงแรกเขามีความคิดเช่นนั้น แต่เมื่อเทวาศรม คือ ธุรกิจของครอบครัว และครอบครัวคือทีมเดียวกัน จึงไม่มีใครต้องพิสูจน์ตัวเองกับใคร เพียงแค่ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และสนุกไปกับงานก็พอ

อีกประเด็นที่เคยถกกันในครอบครัว คือ การขยับขึ้นไปเป็นเจ้าของโรงแรมเต็มตัวแล้วจ้างคนอื่นมาบริหารงานแทน โดยประเด็นนี้เขาและคุณแม่เห็นตรงกันว่า การบริหารงานเองทำให้คล่องตัวกว่า ตัดสินใจได้เร็วกว่า แต่เทวาศรมคงไม่หยุดอยู่แค่ 2 โรงแรม ซึ่งในอนาคตอาจต้องขยายทีมงาน และคงต้องมาพิจารณาอีกทีว่า จากธุรกิจครอบครัวจะปรับสู่ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างไร

นอกจากนี้ ผู้บริหารวัย 35 ปี ยังกล่าวถึงหลักการทำงานของตัวเองว่า เขายึดหลักในความตรงไปตรงมา เน้นความเรียบง่าย แต่ไม่ง่าย และเลือกที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยที่ยังสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและคนรอบข้าง

“ในแต่ละช่วงชีวิตของคนมีเป้าหมายต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ไปจบตอนสุดท้าย คือ ความหมายในการใช้ชีวิต ในวันสุดท้ายของเราเราคงกลับมาคิดแค่ว่า ที่ผ่านมาทั้งหมดมันมีความหมายแค่ไหน และเมื่อถึงวันนั้นเราอย่าเสียดายว่ายังไม่ได้ทำอะไรหรือไม่น่าทำอะไร ดังนั้นวันนี้ก็ทำหรือไม่ทำมันซะ และมีความสุขกับทุกการกระทำที่เหมาะสมและสร้างประโยชน์ ซึ่งเวลาพูดมันง่ายแต่ทำนั้นยาก เพราะเราต่างก็มีแกนในชีวิตหลายอย่างทั้งเรื่องงาน ครอบครัว ชีวิตส่วนตัว แต่ถ้าเราจัดการได้ จัดการกับความทุกข์ได้ เราก็จะมีความสุขในทุกวัน” เขากล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดในสังคมอย่าง “ครอบครัว” จึงสำคัญที่สุดสำหรับคำว่า ธุรกิจครอบครัว และแนวคิดในการทำงานแบบครอบครัวยังเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ดังเช่นที่ครอบครัวอติรักษ์ทำให้เทวาศรมก้าวขึ้นมาเป็นรีสอร์ทแถวหน้าอย่างในปัจจุบัน