posttoday

วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก

18 กันยายน 2561

15 ก.ย.ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย

15 ก.ย.ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก โดยปีนี้ ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ประธานคณะทำงานการวิจัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย (Thai Lymphoma Study Group) กล่าวว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อย

สำหรับสถานการณ์โรคในประเทศไทย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 3,000 ราย หรือ 8 ราย/วัน ทั้งนี้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดนัน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma หรือ NHL) จะสูงขึ้นตามอายุ และปัจจุบันสามารถพบในเด็ก หรือกลุ่มคนอายุน้อยได้มากขึ้นอีกด้วย โดยเพศชายพบบ่อยมากกว่าเพศหญิง

วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก

ด้านมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma หรือ HD) ศ.นพ.ธานินทร์ เล่าว่า จะพบบ่อยในช่วงอายุ 20-30 ปี ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกรายได้อย่างชัดเจน แต่พบมีความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่

1.อายุ : อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยอุบัติการณ์สูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 60-70 ปี

2.เพศ : เพศชายพบเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าเพศหญิง

3.การติดเชื้อ : พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดกับการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร (H.Pylori) การติดเชื้อไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus)

4.ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย : ผู้ป่วยติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น

5.โรคภูมิแพ้ตนเอง : ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE) พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น

6.การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

“สภาวะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงถือเป็นอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ซึ่งตรวจพบผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 8 หมื่นราย”

แม้โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะพบมาก แต่ก็เป็นโรคมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่มีโอกาสรักษาให้หายขาด แต่ปัญหาของผู้ป่วยในระยะแรกจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากอาการของโรคเหมือนอาการอื่นๆ ที่พบในภาวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อ ภูมิแพ้
เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นไข้ และน้ำหนักลด ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจ การดูแลสุขภาพตนเองอย่างดี รวมถึงการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้การวินิจฉัยรักษามีประสิทธิภาพ มีโอกาสหายจากโรคมากขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วนั้น ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนสำคัญในการผลักดัน และให้กำลังใจผู้ป่วยระหว่างการรักษา ร่วมกับแพทย์ที่จะให้การรักษาที่ดีที่สุด และมีโอกาสหายมากที่สุด โดยทั่วไปอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักจะกินเวลานาน และไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น แต่อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งชนิดนี้สามารถตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และยาแอนติบอดีได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น

ด้านวิธีการรักษาด้วยนวัตกรรม ได้แก่ การใช้เคมีบำบัด การใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ การฉายแสง และการปลูกถ่ายไขกระดูก (สเต็มเซลล์) โดยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งเป็น 4 ระยะ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดถึงร้อยละ 70-90% ส่วนผู้ป่วยที่รับการรักษาในระยะที่ 2-4 มีโอกาสหายขาด 60% เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

“ล่าสุดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการอนุมัติการใช้ยา Monoclonal Antibody แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนัน-ฮอดจ์กิน แบบ Aiffused Large B-cell Lymphoma ที่มีเป้า CD 20 เป็นบวก ซึ่งให้คู่กับยาเคมีบำบัดสูตรมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่จะมีโอกาสหายจากโรคมากขึ้น”