posttoday

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ งดงามอลังการ

11 กันยายน 2561

จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พ.ย.-5 ธ.ค.นี้ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เรื่อง วราภรณ์

หลังจากหยุดการแสดงไป 2 ปี การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำลังจะกลับมาสร้างความประทับใจอีกครั้งกับตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ซึ่งจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พ.ย.-5 ธ.ค.นี้ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ งดงามอลังการ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดง “โขน” ซึ่งนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้อยู่สืบไป ในปี 2561 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ซึ่งมีความสนุกสนานมากตอนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์ รามเกียรติ์ สมกับการเฝ้ารอชมอย่างแน่นอน

“พิเภกสวามิภักดิ์” ความจงรักภักดี และเที่ยงธรรมสุจริต

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กล่าวถึงรายละเอียดในการจัดแสดงขึ้นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบสานและอนุรักษ์โขน ซึ่งถือเป็นสมบัติและเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ 7 ตอนด้วยกัน ได้แก่ ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี 2550 และ 2552, ชุด “นางลอย” ในปี 2553, ชุด “ศึกมัยราพณ์” ในปี 2554, ชุด “จองถนน” ในปี 2555, ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” ในปี 2556,
ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในปี 2557 และชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ในปี 2558 จนประสบความสำเร็จและได้รับกระแสตอบรับให้มีการเพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดงในทุกปี

เมื่อทีมงานได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่ามีประชาชนเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทรงปลื้มพระทัยที่เห็นทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ มาดูโขนกันทั้งครอบครัว เป็นสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น โดยปีนี้ในส่วนของการเลือกตอนจากแบบสอบถามและได้นำความกราบบังคมทูลว่า คนดูต้องการชมตอน พิเภกสวามิภักดิ์ เพราะคนดูสอบถามมามาก ทำไมพิเภกถึงไปย้ายอยู่กับพระราม จึงเป็นที่มาของการเลือกแสดง ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้น ทั้งยังอันเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดี และการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต นำเสนอในการแสดงครั้งนี้

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ของการจัดแสดงโขนครั้งแรกๆ เกิดเมื่อปี 2546 เริ่มจากช่วงปีนั้น โขนไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่าโขนซบเซาไป ไม่เป็นที่นิยมมากนัก จึงเป็นที่มาทรงช่วยอนุรักษ์โขนไว้ แม้มีกรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลปช่วยดูอยู่แล้ว แต่ทรงอยากกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจการแสดงโขนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องช่วยๆ กันหลายๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพก็มีช่างฝีมือหลายแขนง

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ งดงามอลังการ

“ตอนนั้นทรงเริ่มจากการแต่งหน้าของนักแสดงก่อน การแต่งหน้าของโขนดูจะเหมือนกันทั้งหญิงชาย คือผัดหน้าขาวเขียนคิ้วทาปาก ต่อมาเรื่องการแต่งกายมีพระดำริว่าจะทำอย่างไร การแต่งกายดูงดงามเหมือนในอดีต เพราะช่างฝีมือก็ค่อยๆ หายลดลงเรื่อยๆ ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพก็ได้ศึกษาค้นคว้าว่าโบราณเป็นอย่างไร โดยในช่วงนั้นช่างฝีมือไม่ค่อยมี จึงรับสั่งว่า ในเมื่อศิลปาชีพมีช่างปักอยู่แล้ว ก็ทรงอยากให้ช่างปัก ช่างทอ ช่างเขียนฉาก หลายๆ แขนงมาช่วยกัน เพราะการนำโขนมาจัดแสดง เมื่อก่อนเล่นกลางแปลง ไม่ได้ต้องมีฉากอะไรมากมาย แต่ถ้าเราเล่นในโรงละคร ในสถานที่ต้องใช้แสงสี เสียงที่ทันสมัยเหมือนการแสดงต่างประเทศ ต้องมีการทำฉาก ทำเทคนิคขึ้นมา จึงเป็นที่มาของการสร้างฉากอลังการที่ทุกคนมองเห็น โดยมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบฉาก มี
นักเรียนศิลปาชีพจากหลายจังหวัดที่ทรงให้ทำงานแกะสลัก เขียนภาพมาเป็นลูกมืออาจารย์สุดสาคร มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่างมาช่วยด้วย ช เด็กศิลปาชีพก็ได้เรียนรู้การทำงานที่วิจิตร ฝีมือชั้นครู และได้ฝึกฝนมาจนถึงทุกวันนี้

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ งดงามอลังการ

“อย่างช่างทอจากเนินธัมมัง จ.นครศรีธรรมราช ก็มาช่วย มีการนำผ้าทอโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย มาให้ลวดลาย สอนวิธีการย้อมด้วยวิธีธรรมชาติ สอนการทอด้วยวิธีโบราณที่เคยทำมา เด็กๆ สมาชิกศิลปาชีพจากจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือผ้าซิ่นของตัวนางก็มาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนการปักผ้ามีหลายจังหวัดช่วยเรื่องเครื่องแต่งกาย เสื้อตัวเอกตัวประกอบมาจาก จ.สิงห์บุรี ราชบุรี อยุธยา เพชรบุรี กาญจนบุรี และสกลนครก็มี เพราะเรานำเด็กๆ มาเรียนปักแล้วเขาก็ปักได้ สอนวิธีปักด้วยดิ้นเหลี่ยม ดิ้นกลม เด็กๆ ก็ได้ความรู้ไปด้วย ส่วนช่างเขียนทำฉาก อุปกรณ์ หัวโขนก็ทำอยู่ที่อ่างทอง เราทำตั้งแต่กระดาษข่อย ขึ้นมาเป็นหัวโขน สอนโดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คิดว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เล่าต่อว่า การเตรียมการแสดงโขนครั้งแรกใช้เวลาศึกษาค้นคว้า และลงมือทำนานมากตั้งแต่ปี 2546 กว่าจะมาแสดงจริงในปี 2550 แต่หลังจากนั้นก็มีบรรทัดฐานที่ดีเรื่อยมา

“แรกๆ ทรงรับสั่งให้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ก่อน รับสั่งกับอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ ให้ศึกษาว่าโบราณทำกันอย่างไร สมัยอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ทำอย่างไร ต้องดูแบบแผนในอดีตทำไว้อย่างไร เพื่อทรงอยากอนุรักษ์ให้โขนยังอยู่คู่สังคมไทยและมีความงดงามของช่างฝีมือไทย ให้อยู่คู่แผ่นดินไทย เมื่อทรงรับทราบว่าคนไทยเป็นจำนวนมากให้การต้อนรับการแสดงโขนเป็นอย่างดี พาปู่ย่าตายายมาชมโขน สะท้อนจิตใจที่อ่อนโยนของลูกหลานที่พานั่งวีลแชร์มาชม เป็นสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น พระองค์ก็ทรงปลื้มพระทัย”

นักแสดงรุ่นใหม่ช่วยสืบสานงานโขน

ไม่เพียงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ให้การอนุรักษ์โขน ตลอดจนความงดงามของช่างฝีมือไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ยังมีพระราชดำริให้นักแสดงรุ่นใหม่มาร่วมแสดงด้วย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เล่าว่า สำหรับการแสดงครั้งนี้ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่เมื่อปี 2559 เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม โดยคัดเลือกจากนักเรียน นักศึกษา ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจัดให้มีคัดเลือกนักแสดง จำนวน 5 ตัวละคร คือ โขนพระ มีผู้สมัคร 73 คน ละครพระ มีผู้สมัคร 198 คน ละครนาง มีผู้สมัคร 204 คน โขนยักษ์ มีผู้สมัคร 137 คน และโขนลิง มีผู้สมัคร 160 คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัครจำนวน 772 คน ซึ่งแต่ละประเภทตัวละครจะมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเพียง 5 คน รวมจำนวน 25 คน

“จึงอยากเชิญชวนให้คนรักโขนรวมถึงประชาชนคนไทยรีบจองบัตร เพราะการแสดงโขนเต็มรูปแบบมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น และตั้งแต่ปี 2558 เราได้เห็นคนรุ่นใหม่ใส่ชุดไทยมาชมโขนถือเป็นการปลุกกระแสและสร้างค่านิยมในกลุ่มโซเชียลให้คนไทยใส่ชุดไทย ผ้าไทย กันมากขึ้น ในปีนี้ก็เช่นกันอยากเชิญชวนผู้ชมแต่งชุดไทยสวยๆ มาชมโขนกันเยอะๆ”

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ งดงามอลังการ

ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงฯ เล่าเสริมว่า ระยะแรกมีการใช้นักแสดงจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ก่อน หลังจากนั้นมีพระราชเสาวนีย์ให้คนรุ่นใหม่น่าจะมาร่วมแสดงด้วย ทีมงานจึงรับพระราชเสาวนีย์มา โดยทำการเริ่มออดิชั่นครั้งแรกปี 2553 คือนางลอย มีเด็กนาฏศิลป์มากมายสนใจเข้ามาร่วมออดิชั่น โดยเริ่มแรกมีเด็ก 60 คนเข้ามาออดิชั่น แต่ปี 2559 ที่เปิดออดิชั่นมีเด็กจำนวนมากถึง 800 คน ใช้เวลาออดิชั่นเกือบ 10 วัน จึงถึงรอบสุดท้าย เรียกว่าเยาวชนตื่นตัวจากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นจำนวนมาก

เรื่องราวสนุกสนาน สมการรอคอย

ด้าน อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง และคัดเลือกบทแสดง กล่าวว่า การทำบทการแสดงครั้งนี้จะเห็นว่าแตกต่างจากการแสดงที่ผ่านๆ มา เพราะได้ผสมผสานสร้างสรรค์มาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 โดยทางคณะกรรมการทุกท่านตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความประณีต ทั้งการบรรจุเพลงขับร้อง มีผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินแห่งชาตินาฏศิลป์ ดนตรี ได้ร่วมฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ถ่ายทอดการแสดงโขนให้อยู่สืบไป โดยแบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ และองก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก, ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์, ตอนที่ 3 มณโฑทูล ตัดศึก, ตอนที่ 4 สนามรบ และตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท ที่ยังคงความวิจิตรงดงาม กระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวง พร้อมที่จะสร้างความสนุก ความประทับใจให้กับผู้ชมสมการรอคอยอย่างแน่นอน

“ที่เลือกตอนนี้เพราะคนสงสัยว่าทำไมพิเภกจึงไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ในการทำบทครั้งนี้ เราจะเห็นเป็นการทำบทที่แตกต่างจากที่เคยแสดงกันมาก เป็นการทำบทจากการผสมผสานด้วยการนำบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1, 2 และ 6 มาผสมผสานกันซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนใหญ่ที่เราเคยดูกันคือ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 พิเภกไปอยู่กับพระราม โดนขับไล่ไป แต่วิธีการไปแตกต่างกัน คือหลักการเลือกของเราคือ ตอนใดที่ประชาชนยังไม่เคยเห็นและมีความสวยงาม ประณีตในเรื่องบรรจุเพลงขับร้อง เราได้ผู้เชี่ยวชาญศิลปินแห่งชาติ เช่น คุณทัศนีย์ให้คำปรึกษาว่าบทร้องใดจะสูญไปเรานำกลับมา เราได้ศิลปินแห่งชาติหลายๆ ท่านมาช่วยทำบทร้องให้ เรียกว่าร่วมกันฟื้นฟูเอาของเก่ามาปรับปรุง ทำให้เกิดความงดงาม เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นโขนสมเด็จพระนางเจ้าฯ คนก็ยินดีช่วยกันถ่ายทอด”

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำหนดจัดแสดง วันที่ 3 พ.ย.-5 ธ.ค. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 02-262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน