posttoday

สองเพื่อนซี้ ทำไมต้องไปเดิน...นิวยอร์ก ไพรด์

09 กันยายน 2561

“เติ้ล” กันต์ภูชิสส์ ประดิษฐ์แท่น วัย 32 ปี อาชีพฟรีแลนซ์เมกอัพ อาร์ติสต์ ในชุดนักมวยไทยสีเขียว ผู้ร่วมเดินขบวนในงาน NYC Pride March

โดย ชุติมา สุวรรณเพิ่ม ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

“เติ้ล” กันต์ภูชิสส์ ประดิษฐ์แท่น วัย 32 ปี อาชีพฟรีแลนซ์เมกอัพ อาร์ติสต์ ในชุดนักมวยไทยสีเขียว ผู้ร่วมเดินขบวนในงาน NYC Pride March เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนเพศที่สาม เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา “เขตต์” ธศร ทักษิณาพันธ์ วัย 36 ปี อาชีพพนักงานประชาสัมพันธ์สายการบิน ในชุดสีชมพูช็อกกิ้งพิงค์ สร้างสีสันสุดแซ่บข้ามโลก ได้ไปร่วมพาเหรดเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ปีนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 49 ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้เดินและผู้เข้าชมขบวนหลายล้านคน สองเพื่อนซี้มีคนเข้าคิวขอถ่ายรูปเซลฟี่สุดคึกคัก กลายเป็นดาวเด่นในขบวนพาเหรด

ทำไมต้องไปร่วมขบวนเดิน...พาเหรดนิวยอร์ก ไพรด์?!! ซึ่งก็แน่นอนว่า คำตอบก็คือประสบการณ์สุดพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิต การได้อยู่ท่ามกลางคนหลายๆ ล้านคน มุ่งมาที่เป้าหมายเดียวกัน ในงาน Pride ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก แล้วที่ได้มากกว่านั้นคือ การสร้างพื้นที่ของเพศที่มีความหลากหลาย LGBT-Lesbian Gay Bisexual and Transgender การได้เปิดเผยตัวตน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อการสร้างพื้นที่ยอมรับในสังคม

“มวยไทย” โชว์ตัวตนความสตรอง

สองเพื่อนซี้ ทำไมต้องไปเดิน...นิวยอร์ก ไพรด์

“เขตต์” ธศร “เติ้ล” กันต์ภูชิสส์ เป็นเพียงคนไทย 2 คนที่บินจากประเทศไทยไปร่วมเดินงานนี้โดยเฉพาะ

ขบวนโบกสะบัดธงสีรุ้ง สัญลักษณ์สำคัญของ LGBT Pride หรือที่นิยมเรียกกันว่า Pride Parade ธงนับร้อยพลิ้วไหวตามจังหวะเพลง ท่ามกลางเสียงเชียร์อันกึกก้อง ป้ายข้อความ Proud to me! แสดงความภาคภูมิใจในการแสดงออกรักเพศเดียวกัน ผู้คนจำนวนมากมายร่วมเดินขบวนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

งานไพรด์พาเหรดไม่เพียงจัดขึ้นทุกๆ ปี ที่เมืองต้นกำเนิดงานในมหานครนิวยอร์ก แต่มีการจัดที่เมืองต่างๆ ทั่วโลก ทั้งลอนดอน โตเกียว มุมไบ ฮานอย โซล รวมทั้งกรุงเทพฯ ในช่วงปลายปี

ธศร กล่าวถึงความประทับใจ นอกจากได้เห็นคนกลุ่มใหญ่ผู้คอยสนับสนุนจากขบวนพาเหรดหลายๆ แห่งที่มาเป็นพันธมิตรในงานระดับโลกแล้ว ก็คือการได้เห็นกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งก็คือบรรดาผู้ปกครอง พวกเขามาร่วมเดินขบวนพร้อมป้ายข้อความ เช่น “Proud of my gay son” และ “Proud of my lesbian daughter and her wife” เป็นการแสดงออกถึงการเข้าใจ การยอมรับ และความภาคภูมิใจในตัวตนของลูก และคนในครอบครัว

ไม่ว่าลูกจะแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม แต่ก็ยังเป็นลูกคนหนึ่งของพวกเขานั่นเอง

“คนกลุ่มนี้มากันเป็นครอบครัวเลยนะครับ นี่คือประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้จริงๆ ครับ ที่มีคนร่วม 3 ล้านคนมาเชียร์เรา มันคือเวทีแห่งการยอมรับ ที่ไม่ใช่แค่เพศเดียววัยเดียวกับเราเท่านั้น แต่มีทั้งเด็ก คนชรา ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง มาร่วมเฉลิมฉลองด้วยกัน ส่งสัญญาณบอกเราว่าเขาไม่ได้รังเกียจในความแตกต่างของเราเลยครับ”

นักมวยสุดแซ่บชุดสีเขียวสด กันต์ภูชิสส์ กล่าวเสริมว่า พอกลับเมืองไทยมีแต่คนซักถาม ใครสามารถไปร่วมพาเหรดได้บ้าง? คนที่สนใจต้องทำอย่างไร?

สองเพื่อนซี้ ทำไมต้องไปเดิน...นิวยอร์ก ไพรด์

“ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้ได้ครับ ในฐานะผู้ชมที่ในปีที่แล้ว เขตต์ก็ไปชมขบวน แล้วก็มีแรงบันดาลใจอยากเป็นผู้ร่วมเดินในขบวนด้วย โดยติดต่อกับผู้จัดการขบวนนั้นๆ ในปีนี้เราได้ร่วมเดินกับกลุ่ม API (Asian-Pacific Islander) Rainbow Parents ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวเอเชียและกลุ่มประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ที่มีลูกเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์เจนเดอร์ และไบเซ็กชวล แล้วผมก็ได้รู้จักกับคุณอาร์มแชร์ (ปรัชญ์ ศรีนาค) คนไทยที่อาศัยอยู่นิวยอร์ก และแต่งชุดไทยร่วมเดินในขบวนนี้มาทุกปี

ผมได้แจ้งกับคุณอาร์มแชร์ว่าเราต้องการร่วมเดินขบวนในปีนี้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งเรื่องคอนเซ็ปต์ที่จะนำไปแสดง ทางคุณอาร์มแชร์ก็ได้นำเรื่องไปปรึกษากับผู้จัดการขบวน แพทริก ลินน์ (IG : Mahjong.Butterfly) และทางแพทริกได้ลงทะเบียนให้พวกเรา การลงทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย”

“เขตต์” ธศร กล่าวถึงการแต่งตัวธีมนี้ คือ Siamese Revellers คนทั่วโลกเห็นก็รับรู้ได้ทันที ภาพชัดเจน คือมวยไทย อีกหนึ่งในเอกลักษณ์ที่คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทย

“การตระเตรียมอุปกรณ์ก็ต้องไม่ยุ่งยากนะครับ ชุดใส่กระเป๋าเดินทางจากประเทศไทยไปได้ง่ายๆ สะดวกๆ ไปถึงนิวยอร์ก ระยะทางการเดินเกือบ 5 กม. เราต้องการสื่อ Message ชัดๆ ครับ ไม่ใช่แค่การเดินโชว์แต่งตัวสวยๆ หรือแค่ใส่เสื้อผ้าแฟนซีมาเฉลิมฉลองกัน แต่ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พวกเรานำมาแสดงนั้นสามารถ Represent ความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

การแสดงออกของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของเพศ เราสองคนสรุปกันได้ว่า เราคือนักสู้นะ เรามาเพื่อโชว์ตัวตนของพวกเรา ซึ่งนี่คือเอกลักษณ์ชัดเจนของงาน NYC Pride March ที่ต้องการสื่อสารถึงการต่อสู้ให้ได้ชัดเจนที่สุด

วันงานเราตื่นกันตั้งแต่ 06.30 น. เติ้ลได้โชว์ฝีมือในงานอาชีพของเขา แต่งหน้า แต่งทั้งให้ตัวเองและแต่งให้ผมด้วย ใช้เวลาแต่งหน้าเกือบคนละ 2 ชั่วโมง

อย่างรอยสักเราซื้อ Tattoo Stickers มาจากตลาดพาหุรัด กรุงเทพฯ มีทั้งแผ่นใหญ่แผ่นเล็ก ร่วม 100 ลาย ไม่มีใครดูออกเลยว่าเป็นสติ๊กเกอร์ ฝรั่งเข้ามาชมและถามว่าสักที่ไหน พอเราบอกไปว่าไม่ใช่ของจริง ทุกคนก็ตื่นเต้นกันใหญ่ ถามหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง”

ธศร เล่าพลางหัวเราะอย่างภูมิใจในการเดินทางไปโชว์เอกลักษณ์ไทยในแดนไกล

พาเหรดโชว์เสรีภาพแห่งการแสดงออก

สองเพื่อนซี้ ทำไมต้องไปเดิน...นิวยอร์ก ไพรด์

สำหรับที่มาที่ไปจุดเริ่มต้นของ LGBT Pride มาจากการจลาจลสโตนวอลล์ ย้อนในปี 1969 เป็นช่วงที่คนรักเพศเดียวกัน ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด ถือเป็นเรื่องที่ผิดในสังคม การได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยในบาร์ Stonewall Inn ย่านกรีนิช วิลเลจ เป็นชนวนให้เกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับกลุ่ม LGBT จนเป็นเหตุการณ์จลาจลที่เรียกว่า สโตนวอลล์ และส่งผลถึงการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพครั้งแรกในประวัติศาสตร์ กล้าประกาศตัวว่าตัวเองแตกต่างบนท้องถนน แสดงให้เห็น Gay Power ผ่านสื่อทั่วโลก

เหตุการณ์นี้นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 1970 ที่เมืองนิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์

ส่วน LGBT Pride ในประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่องร่วมกว่าสิบปีที่ และครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ปี 2006 แต่ส่วนมากผู้เข้าร่วมมักเป็นนักกิจกรรม ชาวเกย์ และกะเทยในแวดวงบาร์กลางคืน และธุรกิจเกี่ยวกับเกย์ที่จัดโดยภาคธุรกิจ ซึ่งยังไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ รวมทั้งยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้สังคมยอมรับมากนัก

ธศร กล่าวย้ำอีกครั้งว่า นี่คือเหตุผลที่ต้องไปถึงนิวยอร์ก จุดกำเนิดไพรด์พาเหรดของโลก

“เราสามารถสื่อสารในสิ่งที่เราเป็นได้ชัดเจน และกลายเป็นที่สุดของความประทับใจด้วยครับ ซึ่งก็ไม่แค่มีคน 300 กว่าคนเข้าคิวมาขอถ่ายรูปกับเรา โดยที่เราไม่ได้ตั้งตัวเลยว่าจะถูกยอมรับได้มากมายขนาดนี้ (บอกพลางยิ้ม) คุณอาร์มก็บอกครับว่า เมื่อปีที่แล้วก็มีคนไทยมาเดินกันเยอะ แต่ปีนี้มีแต่คนติดทำงานกัน ก็เลยไม่ได้มาเดินร่วมขบวนด้วย แล้วก็มาเดินในชุดไม่ใช่แฟนซี คนไม่ตื่นเต้นมากนัก คือเป็นคู่สามีภรรยามาเดินด้วยกันเท่านั้น”

กันต์ภูชิสส์ กล่าวเสริมเพื่อนว่า การแต่งตัวคือสารที่ส่งกันชัดๆ ผลตอบรับก็น่าตื่นเต้นสุดๆ ไปเลย

“ตอนอยู่ในขบวนก็มีแต่คนวิ่งเข้ามาหาเรา ชมชุดเราว่ามันดีมาก สุดเก๋อะเมซิ่ง บางคนก็เข้ามาขอชกนวมเบาๆ มันมีความสุขจริงๆ ครับ การเดินบนส้นสูง 6 นิ้ว ตลอดระยะทาง 5 กม. ทำอะไรพวกเราไม่ได้เลย ไม่มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลยแม้สักนิดเดียว เพราะมีแต่คนเชียร์อัพเราตลอดสองเส้นทางที่เราเดินโชว์ ทำให้เราตื่นเต้น และมีกำลังใจเตรียมตัวสำหรับการไปเดิน NYC Pride March ที่จะครบ 50 ปี ในปีหน้าเราวางแผนจะไปกันอีกครั้ง”

สองเพื่อนซี้ ทำไมต้องไปเดิน...นิวยอร์ก ไพรด์

งานไม่ได้จัดเพียงเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ช่วงต้นทศวรรษ 1960 ของสหรัฐอเมริกา แต่ขบวนแฝงนัยความพิเศษมากกว่านั้น กลุ่มคนรักเพศเดียวกันทั้งชายและหญิงได้ปรากฏเปิดเผยตัวในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้อย่างภาคภูมิ

“วันนี้คือยุคที่ไม่มีเพศอีกแล้วนะครับ คำว่า เพศหญิง เพศชาย หรือคำที่เรียกพวกเราว่าเพศที่สาม ก็คือคำที่ระบุเรียกสถานะบนความเท่าเทียมกัน

คนดังหลายๆ คนก็มาร่วมขบวนโชว์พาเหรดในครั้งนี้ด้วย อเล็กซานเดอร์ แวง (Alexander Wang) มาเดินร่วมขบวนที่สื่อถึงการรณรงค์ให้ใส่ถุงยางอนามัย ในสหรัฐ มีการใช้ยาเพร็พ PrEP-Pre-Exposure Prophylaaxis ซึ่งเป็นการกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ผลอย่างแพร่หลาย ในกลุ่มคนรักร่วมเพศ อเล็กซานเดอร์ร่วมรณรงค์เรื่องนี้ สื่อถึงการไม่ใช้ถุงยางก็อาจจะมีโรคอื่นๆ ติดต่อได้นอกจากโรคเอดส์

ไปจนถึงขบวนเฉลิมฉลองการอนุญาตให้คู่รักร่วมเพศสามารถแต่งงานกันได้ และได้รับการสนับสนุนในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ เป็นการสื่อความสุข นั่นคือการยอมรับจากสังคมและกฎหมายของบ้านเมืองที่ทำให้ชาวเกย์ในนครนิวยอร์กมีสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เช่น การจดทะเบียนสมรส การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม หรือแม้กระทั่งการแสดงออกทางความรักในที่สาธารณะ ซึ่งชาวรักร่วมเพศในหลายๆ ประเทศยังไม่สามารถกระทำได้”

ธศร กล่าวทิ้งท้ายว่า ขบวนการเคลื่อนไหวคนรักเพศเดียวกันและข้ามเพศทั้งหมด ได้โชว์ความหลากหลายทางเพศ เพื่อผลิตตอกย้ำความทรงจำให้กับ LGBT ของเกือบทั่วโลก

การไปสัมผัสดินแดนเสรีในสหรัฐ ก็ยังได้เห็นการขยายตัวตามความหลากหลายของเพศ ที่ไม่ได้มีแค่ผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ เลสเบี้ยน หรือกะเทยเท่านั้น

ใน Pride Month ณ มหานครนิวยอร์กปีนี้ ได้เห็นการตื่นตัวอย่างจริงจัง จากในปี 2009-2016 อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้เรียกใหม่ในชื่อ “Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month” และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของภาพบรรยากาศขบวนพาเหรด และคำว่า LGBTQ

“ผู้ชายบางคนรูปลักษณ์แมนมากครับ เสรีในการแสดงออกมาก ผมสั้นกุด แต่ใส่กระโปรงเดินเล่นในสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์กอย่างไม่ขัดเขิน หรือผู้หญิงสักเต็มตัวแต่มากับคู่ชีวิตที่เป็นผู้ชายแต่งหญิง สังคมเขายอมรับในสิ่งแตกต่าง แต่สำหรับในบ้านเรา เพศที่สาม ลึกๆ แล้วยังมีข้อกำหนดบางๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้การยอมรับ เราถูกปฏิเสธ ถูกโยนไปเป็นคนชายขอบก็ว่าได้ ผมเรียนจบปริญญาตรีในคะแนนเกียรตินิยม 3.90 ไปสมัครงานบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธตรงๆ ว่า เราไม่รับคนในกลุ่ม ‘ที่เป็นแบบคุณ’ เข้าร่วมงาน ทั้งที่ผมเป็นคนไม่คิดมากในเรื่องนี้ แต่เราก็ยังเคยเสียใจในเหตุการณ์นี้” ธศร กล่าว และเพื่อนก็สำทับในเรื่องนี้ทันที

กันต์ภูชิสส์ กล่าวว่า จุดยืนที่เข้มแข็งคือสิ่งสำคัญที่สุดในการจัดพาเหรดความหลากหลายทางเพศ พ่อแม่อุ้มลูกวัย 9-10 ขวบ แต่งตัวไม่ตรงเพศออกมาให้คนเห็นว่านี่คือ “อีกทางหนึ่งในสังคม” ขณะที่บ้านเราลูกชายแต่งหญิงก็อยู่ในบ้าน ไม่อยากให้ออกไปไหน แตกต่างใน Pride Month ณ มหานครนิวยอร์ก ที่ได้ไปเห็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวอย่างจริงจัง