posttoday

สตรีอาชีพมั่นคง ลดสังคมรุนแรง

06 กันยายน 2561

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดงาน “มหกรรมตลาดนัด สร้างอาชีพให้มั่นคง สังคมไทย ไร้ความรุนแรง”

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

หากทุกคนในประเทศมีอาชีพสุจริตและมีรายได้ที่มั่นคง ปัญหาความรุนแรงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในสังคม ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในเด็ก รวมถึงปัญหาความรุนแรงในสตรี ก็จะลดน้อยถอยลง หรือไร้ความรุนแรง (Zero Violence)

เพียงแต่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะภาครัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะคนว่างงาน ไม่มีอาชีพ ครอบครัวยากจนให้มีอาชีพที่มั่นคง เพื่อที่เขาจะมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว เพราะต้องไม่ลืมว่าปัญหาความรุนแรงนั้นส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน ทำให้เกิดความเครียดและนำมาซึ่งความรุนแรงนั่นเอง

สตรีอาชีพมั่นคง ลดสังคมรุนแรง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนภารกิจในการส่งเสริมศักยภาพสตรีและเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวโดยตรง โดยได้เข้าไปส่งเสริมด้วยการฝึกอบรมอาชีพและทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นให้กับประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีในทั่วทุกภาคของประเทศ ใช้ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นกลไกขับเคลื่อน

สตรีอาชีพมั่นคง ลดสังคมรุนแรง

ปัจจุบันตั้งแต่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เข้ามากำกับดูแลศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวได้ประมาณ 2 ปี ได้ดำเนินการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีและประชาชนที่ยากจนขาดโอกาส ได้มาฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะต่างๆ ในศูนย์ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งได้ออกไปฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนถึงในเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละศูนย์ ตอนนี้มีประมาณ 1.2 หมื่นกว่ารายที่กรมไปส่งเสริมทำให้คนเหล่านี้จากที่ยากจนขาดโอกาสไม่มีอาชีพก็มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ล่าสุด กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีกำหนดจัดงาน “มหกรรมตลาดนัด สร้างอาชีพให้มั่นคง สังคมไทย ไร้ความรุนแรง” ขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 ก.ย. 2561 ณ Hall 4 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีการจัดแถลงข่าวพร้อมกับการเดินแฟชั่นโชว์ด้วยผลิตภัณฑ์ของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา 

สตรีอาชีพมั่นคง ลดสังคมรุนแรง

เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมตลาดนัด สร้างอาชีพให้มั่นคง สังคมไทยไร้ความรุนแรงครั้งนี้เป็นการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมพื้นถิ่นฝีมือกลุ่มสตรีและครอบครัวทั่วประเทศที่ได้รับการส่งเสริม ฝึกสอน และพัฒนาฝีมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่ง ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาจำหน่ายและสาธิตวิธีการผลิต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมาชิกในครอบครัวร่วมกันทำ ก่อให้เกิดรายได้ สร้างอาชีพให้มั่นคง และสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้

“ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวมีเป้าหมายหลักในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงและครอบครัวที่ด้อยโอกาส หรือผู้ที่มีปัญหาทางการศึกษา การว่างงาน ความยากจน และมีความรุนแรงในครอบครัว โดยทางศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ให้การสนับสนุนในการเสริมสร้างทักษะอาชีพ เช่น การออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า การตัดและตกแต่งทรงผม การนวดแผนไทย การโรงแรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า กระเป๋า และของใช้ในครัวเรือน วัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตมีอยู่ในท้องถิ่นมาสรรค์สร้างเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ รวมไปถึงราคาที่คนส่วนใหญ่สามารถจับจ่ายได้ นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมต่อยอดให้สตรีได้รวมกลุ่มเพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองอีกด้วย”

สตรีอาชีพมั่นคง ลดสังคมรุนแรง

อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า งานมหกรรมตลาดนัด สร้างอาชีพให้มั่นคง สังคมไทยไร้ความรุนแรงนี้เป็นการรวมพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมไทย เพื่อจุดประกายการเริ่มต้นขับเคลื่อนการทำงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงของแต่ละภาคีเครือข่ายที่รับผิดชอบแต่ละด้าน เช่น เครือข่ายเลิกเหล้ายุติความรุนแรง พลังสุภาพบุรุษหยุดความรุนแรง พลังเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนหยุดความรุนแรง พลังครอบครัวหยุดความรุนแรง พลังเศรษฐกิจอาชีพหยุดความรุนแรง ที่จะดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2562 ในงานจะมีบูธเครือข่าย การจัดนิทรรศการ และเสวนาการยุติความรุนแรงในสังคม

“อีกประการหนึ่งเป็นการรวมพลังเครือข่ายกลุ่มอาชีพ ในส่วนที่กรมเราดูแลก็คือกลุ่มสตรีที่ฝึกทักษะอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวของเราทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 1.2 หมื่นราย กลุ่มสตรีและครอบครัวเหล่านี้ก็จะนำสินค้าและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมพื้นถิ่นของตัวเองมาจัดบูธในงานจำนวน 200 กว่าบูธ

นอกจากนี้ ยังมีเสวนาพลังสตรีกับเศรษฐกิจเพื่อลดความรุนแรงในสังคม การประกวดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตรี พบกับน้องม๊าเดี่ยว ดีไซเนอร์อีสานรุ่นเยาว์ที่จะมาเปิดเผยเทคนิคการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ในการออกแบบแฟชั่น หรือกิจกรรมต่อยอดสินค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ กับ นุ่น-ศิรพันธ์วัฒนจินดา ฉะนั้น ทั้งเรื่องความรุนแรงและอาชีพก็จะมีความเกี่ยวโยงกันถ้าขาดรายได้ก็จะทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงได้ เราจึงดึงพลังทุกภาคส่วนมาช่วยกันเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในเรื่องรายได้และความมั่นคงในครอบครัว” อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าว

ด้าน วิศิษฐ์ ผลดก ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงบทบาทของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศว่า นอกจากจะฝึกอาชีพให้กับกลุ่มสตรีและประชาชนทั้งภายในศูนย์และนอกศูนย์คือในชุมชนในพื้นที่ของแต่ละศูนย์จนเขาสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังได้ส่งเสริมในด้านการตลาด ช่องทางการขายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

“จริงแล้วกลุ่มสตรีที่ฝึกอาชีพจากศูนย์ของเราพอผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ออกมาก็จะมีตลาดของเขาเองอยู่แล้วในชุมชนบ้างที่อื่นบ้าง ขายออนไลน์ แต่กรมฯ เห็นว่าไม่พอ ก็เลยหาเวทีเพื่อให้เขาได้มารวมพลังแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อจะได้นำไปพัฒนาสินค้าของตัวเอง ได้นำสินค้ามาจำหน่าย สาธิตโปรโมทผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเพื่อให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มมาก รวมถึงช่องทางการเข้าถึงแหล่งบริการทุน ซึ่งในงานมหกรรมตลาดนัดฯ จะเชิญแหล่งให้บริการทุนมาด้วย เช่น ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอี รวมทั้งจะเชิญหน่วยงานที่ทำด้านธุรกิจหรืออาชีพมาให้คำปรึกษาให้ความรู้ เช่น การทำแพ็กเกจจิ้ง การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำการตลาด การขาย เป็นต้น”

ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กล่าวว่า ทุกวันนี้กลุ่มสตรีและประชาชนที่ได้มาฝึกอาชีพกับศูนย์ ไม่ว่าจะเข้ามาฝึกในศูนย์หรือทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ไปฝึกให้ถึงชุมชน ซึ่งเดิมเป็นคนยากจน ว่างงาน ขาดโอกาสทางสังคม บางคนถูกเลิกจ้าง และได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไม่มีรายได้แน่นอน ทุกวันนี้จากเดิมรายได้ต่อเดือนไม่พอใช้จ่าย แต่ทุกวันนี้มีรายได้อย่างต่ำต่อเดือน 5,000-1 หมื่นบาท ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขขึ้น

“เรื่องรายได้และความมั่นคงในอาชีพของเขามีแน่นอน อีกอย่างช่องทางการขาย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็มีร้านทอฝัน by พม. อยู่ 5 สาขา คือ วังสะพานขาว ที่อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 4 ตรงข้ามมาดามทุสโซ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ชั้น 2 เลียบด่วนรามอินทรา ศูนย์บริการคนพิการ กทม. ตลาดเคหะประชารัฐ (พลาซ่า) เยส บางพลี สมุทรปราการ ซึ่งร้านเหล่านี้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสร้างโอกาส สานความฝัน และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต่างๆ ในการกำกับดูแลของกรมต่างๆ ของ พม. ซึ่งผลิตภัณฑ์จากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 ศูนย์ก็จะส่งมาขายที่ร้านทอฝันด้วย” วิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับสินค้าของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและสถาบันครอบครัวที่ขายดีในร้านทอฝัน เช่นที่ วังสะพานขาว อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. ก็จะเป็นผ้าขาวม้า จากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและสถาบันครอบครัวรัตนาภา จ.ขอนแก่น ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าผ้าขาวม้าใหญ่ จากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและสถาบันครอบครัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ

เพราะฉะนั้น งานมหกรรมตลาดนัดสร้างอาชีพให้มั่นคง สังคมไทยไร้ความรุนแรง ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 12-16 ก.ย.นี้ อย่าลืมไปสนับสนุนสินค้าของกลุ่มสตรีที่มีกว่า 200 บูธในงาน