posttoday

วัยใกล้เกษียณก็ต้องมีพอร์ตการลงทุน

06 กันยายน 2561

3 ขั้นตอนการจัดพอร์ตการลงทุนวัยเกษียณ

เรื่อง กันย์ ภาพ Pixabay

ทั่วโลกวันนี้สังคมผู้สูงวัยใกล้เข้ามาทุกที โดยเฉพาะที่ประเทศไทยอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ แถมลูกหลานก็ยังน้อย บางคนไม่ได้แต่งงาน เพราะฉะนั้นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แม้มีลูกหลานก็อย่าไปหวังพึ่งเขาดีที่สุด จะได้ไม่ผิดหวังเสียใจถ้าเราพึ่งเขาไม่ได้ ดังนั้นจงเตรียมความพร้อมไว้ด้วยตัวคุณเอง วางแผนการเกษียณเอาไว้เสียแต่เนิ่นๆ เป็นดีที่สุด แม้จะช้าแค่ไหนก็ดีกว่ายังไม่ได้ลงมือทำ ที่สำคัญไม่ว่าอายุแค่ไหนก็ยังลงทุนได้ เพียงแต่เลือกการลงทุนให้เหมาะกับเงินที่มีและเหมาะกับวัยของเราในตอนนั้นๆ อย่าคิดว่าใกล้เกษียณแล้วเรื่องการลงทุนต้องหยุดนิ่ง นั้นเข้าใจผิด

ยิ่งอายุเยอะโรคภัยไข้เจ็บกำลังจะมาเยือน ดังนั้นควรยังต้องมีรายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินยามเจ็บป่วย พยายามลงทุนให้ต่อเนื่องพอเกษียณก็อยากให้เงินทำงานออกดอกออกผลต่อ ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเงินเฟ้อ ในขณะที่บางคนก็ต้องการสร้างเงินมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลานด้วย ลองดู 3 ขั้นตอนการจัดพอร์ตการลงทุนวัยเกษียณดังนี้

1.สร้างภาพจำลองการเงินรายปีล่วงหน้า เริ่มจากการจดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่ายในช่วง 2-3 เดือนแรกที่เกษียณว่ามีไลฟ์สไตล์อย่างไร มีค่ากินอยู่เท่าใด ต้องการทำกิจกรรมใดที่ต้องใช้เงินเพิ่มหรือไม่ จากนั้นค่อยประมาณการค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ก็จะเห็นยอดรวมคร่าวๆ ว่า ในแต่ละปีต้องทยอยถอนเงินออมออกมาใช้เท่าไร เพียงเท่านี้เราก็จะรู้ว่า มีเงินออมส่วนที่พร้อมนำไปวางแผนลงทุนต่อยอดเป็นจำนวนเท่าไร

2.จัดสรรเงินลงทุนสำหรับเป้าหมายต่างๆ ตามสภาพคล่อง เช่น เก็บเงิน 1 ส่วน เป็นสภาพคล่อง เพื่อใช้จ่ายดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (ปัจจัย 4) และเป็นค่าดูแลสุขภาพ ซึ่งควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ถอนได้ทันทีที่ต้องการใช้ เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น และเงินลงทุน โดยเก็บเงิน 1 ส่วน เป็นเงินลงทุนเพื่อใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบ สร้างความมั่นคงให้ลูกหลาน และอุทิศเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หากไม่บรรลุผลก็ไม่ได้กระทบกับการดำเนินชีวิตมากนัก จึงสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นสามัญ เป็นต้น

3.ลงมือจัดพอร์ตลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น ต้องการคุ้มครองเงินลงทุน ต้องการสร้างรายได้ประจำ หรือต้องการเพิ่มค่าเงินลงทุน เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ พอร์ตนี้หลายๆ คนที่เริ่มใช้ชีวิตหลังเกษียณ คงจะเริ่มมองหาหรือทบทวนแผนการลงทุนอีกครั้ง เพราะมีเงินก้อนใหญ่ที่ได้มาจากการเก็บออม ไม่ว่าจะเป็นเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเงินบำเหน็จ ที่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ เพื่อรักษามูลค่าของเงินก้อนนี้เอาไว้ และควรจะปรับเพิ่มหรือลด การลงทุนอะไรบ้างหรือไม่ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างที่ตั้งใจ เพราะบางทีคำว่า ปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับคนที่เกษียณแล้ว อาจจะไม่ได้หมายความว่าให้ลงทุนแต่เฉพาะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่เป็นการลงทุนที่เผื่อว่าอายุจะยืนยาวกว่าที่ต้องการ เพราะฉะนั้นยิ่งคาดว่าจะอายุยืนยิ่งต้องกล้า ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเลือกจัดพอร์ตลงทุนแบบไหน ต้องไม่ลืมแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำของครอบครัวอยู่เสมอ ซึ่งควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

พยายามลงทุนหลายๆ แบบเพื่อกระจายความเสี่ยง และเป็นตัวช่วยต่อยอดเงินออมให้เรา เช่น ฝากเงินกับธนาคาร ซื้อสลากออมสินและสลาก ธ.ก.ส. นอกจากได้ดอกเบี้ยอาจมีลุ้นถูกรางวัลต่างๆ อีกด้วยแถมเงินต้นก็ไม่สูญหาย ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ได้ดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทนแน่นอนและสม่ำเสมอ ตามอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่กำหนดไว้ ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก เพื่อให้เงินออมได้มีโอกาสเติบโตบ้าง ลงทุนในกองทุนรวม สามารถลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ได้หลายตัวพร้อมๆ กัน ตามนโยบายการลงทุน ของแต่ละกองทุน ทำให้โดยรวมแล้วจะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีเลยทีเดียว แถมในปัจจุบันก็มีกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับคนวัยเกษียณ แถมกำไรจากการขายกองทุนรวมก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วย และลงทุนในหุ้น

ตลาดหุ้นยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่วัยเกษียณยังสามารถลงทุนได้ หากมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่มากเกินไป เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเลือกลงทุนในหุ้นที่มั่นคง ราคาไม่เปลี่ยนแปลงแบบหวือหวา เพราะอาจทำให้เงินก้อนสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณของเราลดน้อยลง เลือกลงทุนแบบความเสี่ยงน้อยแต่มั่นคงเพื่อรักษาเงินต้นแต่ได้ส่วนต่างที่ดีพออย่างน้อยก็มากกว่าการฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว