posttoday

ไลฟ์สไตล์ก่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ มีอะไรบ้าง

08 กันยายน 2562

สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย คือโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ผิดๆ ที่ทำให้คนไทยเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น

สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย คือโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ผิดๆ ที่ทำให้คนไทยเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น

โรคหัวใจและหลอดเลือด นับเป็น 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย นอกจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ เนื่องจากโรคหัวใจเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าเป็น และไม่เคยเข้ารับการตรวจหรือการรักษามาก่อน ยังไม่นับรวมการที่โรคหัวใจมักเป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง โดยโรคหัวใจที่คนไทยเป็นมากที่สุดคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

ซึ่งมักเกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด จนเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยในอดีตมักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ในปัจจุบันจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม อาหารไขมันสูง ไปจนถึงการทานบุฟเฟ่ต์หรือปิ้งย่างเป็นประจำ ประกอบกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีความเครียดสูง รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีกลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 40 ปี มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น

ไลฟ์สไตล์ก่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ มีอะไรบ้าง

คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ยวันละ 150 คน อุบัติการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นทุกปี โดยส่วนมากเป็นประชากรในช่วงอายุระหว่าง 40-60 ปี นับเป็นอันดับต้นๆ และหากมองถึงสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของคนทั้งประเทศ อาจกล่าวได้ว่าสูงถึงเฉลี่ย 150 คน/วัน โดยส่วนใหญ่เป็นอาการแบบเฉียบพลัน ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงและไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา หรือการตรวจคัดกรองใดๆ และยังคงใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ได้ระมัดระวังหรือป้องกันแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที และการรักษาแบบต่อเนื่อง

การปรับพฤติกรรมการกิน งดละอาหารเค็ม มัน ปิ้งย่าง ลดเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ จะเป็นตัวช่วย “พฤติกรรมการกินเป็นสิ่งแรกที่ควรปรับให้เหมาะสม เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการกินมาก แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการกินที่อร่อย ไม่ใช่การกินที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นของปิ้งย่าง อาหารรสเค็มจัด หวานจัด ขนม หรือเครื่องดื่มหวานมัน ไปจนถึงการทานบุฟเฟ่ต์ในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย”

ดังนั้น ควรหันกลับมาเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทานให้ครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ทานมากไปหรือน้อยไป และลดอาหารที่มีความเสี่ยง เช่น ประเภทปิ้งย่าง หรือประเภทที่มีไขมันสูงๆ ต่อมาควรหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายที่หนัก เน้นที่การออกกำลังกายเบาๆ แต่ต่อเนื่องอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง อย่างการเดิน วิ่ง แกว่งแขน เต้นแอโรบิก หรือไทเก๊กก็ได้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของการทำงานของหัวใจ

คนไทยเข้าใจผิดคิดว่ากินเข้าไปมากๆ เดี๋ยวไปออกกำลังกายหนักๆ เบิร์นเอาเดี๋ยวก็หมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอาหารที่มีไขมันสูงหรือปริมาณมากเหล่านี้ เมื่อกินเป็นประจำจะไปสะสมเป็นไขมันบนผนังหลอดเลือด ซึ่งการออกกำลังกายไม่สามารถไปสลายไขมันบนผนังหลอดเลือดได้ หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือแม้แต่นักกีฬาที่ออกกำลังกายมากๆ ก็จะคิดว่าตัวเองร่างกายแข็งแรง แต่บางครั้งร่างกายแข็งแรงแต่หัวใจอ่อนแอก็ได้ หากเรายังมีพฤติกรรมการกินที่ผิดๆ และไลฟ์สไตล์ที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด จึงเห็นได้ว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันระหว่างการวิ่ง หรือการออกกำลังเป็นจำนวนมากเช่นกัน

สัญญาณของโรคหัวใจคือ อาการแน่นหน้าอกตรงกลางในลักษณะของการเจ็บจุก บางครั้งอาจมีการเจ็บร้าวไปถึงกราม หรือร้าวไปที่หลังและแขนทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับการเหนื่อยหอบ เหงื่อแตกและใจสั่น ซึ่งหากมีอาการครบทั้ง 3 ประการ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและตรวจสุขภาพหัวใจโดยด่วน นอกจากนั้นหากมีอาการวูบหรือเป็นลมไปโดยไม่มีสาเหตุ และฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหัวใจเช่นกัน

“ข้อแนะนำสำหรับทั้งผู้ที่ยังไม่ป่วย และผู้ป่วยที่ได้ทำการรักษาไปแล้ว คือการดูแลตัวเองในด้านหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายที่ถูกต้อง และการลดปัจจัยลบต่อร่างกายต่างๆ อาทิ การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือสภาวะความเครียดต่างๆ และสำหรับผู้สูงอายุที่มักมีโรคเรื้อรังอื่นๆ ร่วมด้วย ยิ่งต้องดูแลตัวเองอย่างดี และรับประทานยาที่แพทย์ทุกคนสั่งให้ครบตามเวลาที่กำหนด เพราะสุดท้ายแล้วหมอสามารถรักษาได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือตัวผู้ป่วยเองต้องช่วยรักษาด้วย กันไว้ดีกว่าแก้คือการตรวจหัวใจประจำปี”