posttoday

BookMarx Vol.2 วรรณกรรมข้ามพรมแดน

19 สิงหาคม 2561

บุ๊กมาร์ก (BookMarx) ของสำนักพิมพ์ผจญภัย เป็นบุ๊กกาซีนรายสะดวกที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาด้านวรรณกรรมและศิลปะที่น่าสนใจ

โดย พริบพันดาว 

บุ๊กมาร์ก (BookMarx) ของสำนักพิมพ์ผจญภัย เป็นบุ๊กกาซีนรายสะดวกที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาด้านวรรณกรรมและศิลปะที่น่าสนใจ ตอนนี้มีบุ๊กมาร์ก เล่ม 2 (BookMarx Vol.2) ออกมาเรียบร้อยแล้ว ที่น่าสนใจคือเล่มนี้ทิ้งห่างจากเล่มแรกถึง 8 ปี (Bookmarx เล่ม 1 : คุยข้ามคืนกับ แดนอรัญ แสงทอง)

สำหรับเนื้อหาก็ยังเน้นความหลากหลายด้านศิลปะและวรรณกรรมร่วมสมัยไทย-เทศ จากซีไรต์ ถึงโนเบล มีทั้งบทปาฐกถาพิเศษขนาดยาว บทสัมภาษณ์ บทวิจารณ์ บทความวิชาการ ความเรียง บันทึกการเดินทาง กวีนิพนธ์ กวีนิพนธ์แปล เรื่องสั้น เรื่องสั้นแปล ฯลฯ

สองบรรณาธิการผู้เป็นเจ้าสำนักพิมพ์ผจญภัย เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ กับ ศิริวร แก้วกาญจน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง มาขยายความถึงหนังสือเล่มนี้ที่พวกเขาตั้งใจทำกัน

“อยากให้มันเหมือนที่คั่นทางความคิด ที่คั่นทางอุดมคติ ที่คั่นทางวัฒนธรรมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งไม่อยากให้สองฝั่งที่มีความต่างกันล่วงละเมิดหรือสาดซัดกันจนเกิดความโกลาหลอลหม่าน ประเด็นแรก คือ นึกถึงสังคมการเมืองไทยว่ามันต้องมีที่คั่นอะไรสักอย่างเพื่อเตือนสติกันให้แต่ละฝั่งได้ตระหนัก

แล้วเราก็คิดไปถึงปรัชญาเชิงความคิด เชิงวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างที่คั่นอะไรขึ้นมาสักอย่าง อย่างน้อยแทนที่จะสาดโถมใส่กันก็จะได้ชะงัก ได้ไตร่ตรอง แต่ในขณะเดียวกันนอกจากจะเป็นที่คั่นแล้วก็ยังเป็นตัวเชื่อมและตัวประสานด้วย เหมือนเส้นทางเชื่อมระหว่างคาบสมุทร” ศิริวร เล่าถึงแนวความคิดโดยรวม พร้อมพูดถึงวรรณกรรมข้ามพรมแดน ว่า

BookMarx Vol.2 วรรณกรรมข้ามพรมแดน

คำว่า ‘พรมแดน’ มันเกิดจากความเป็นรัฐชาตินั่นแหละ เราก็มาตีความพรมแดนใหม่ว่านอกจากพรมแดนเชิงรัฐชาติแล้ว มีพรมแดนอะไรอีกบ้าง พรมแดนทางวัฒนธรรมที่ถูกคั่นไว้ พรมแดนทางความเชื่อ ความศรัทธา พรมแดนภาษา อะไรอย่างนี้ พอไม่มีนักล่าอาณานิคมเข้ามาฉกชิงพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์เลยถูกนิยามใหม่ พอถูกนิยามใหม่ขึ้นมา พื้นที่พรมแดนจึงไม่ใช่พื้นที่ชายขอบอย่างที่เราคุยกัน

วรรณกรรมข้ามพรมแดนก็เช่นกัน มีความน่าสนใจในหลายมิติ เพราะเป็นได้ทั้งการเชื่อมและประสานศิลปะทุกแขนงเข้าด้วยกัน นักแต่งเพลงมองภาพเขียนแล้วนำมาแต่งเป็นเพลง คนเขียนหนังสือมีมุมมองของดนตรีและสุนทรียะ มันเหมือนว่าถ้าเราพูดถึงคำว่าศิลปะส่องทางมันเคยมีคำนี้เกิดขึ้นมา แต่เราจะไม่ใช้คำนั้น เราจึงใช้คำว่า ‘ข้ามพรมแดน’ เพราะทุกอย่างคืองานศิลปะ มันคือสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ฝั่งไหน

คนเขียนเพลงถ้าเป็นคนที่มีพื้นฐานด้านวรรณกรรมอาจจะมีมุมมองที่ลึกและแตกต่าง อย่างเช่น บ็อบ ดีแลน ที่ได้ข้ามพรมแดนจากศิลปะแขนงหนึ่งไปสู่ศิลปะอีกแขนงหนึ่ง นักเขียนก็ต้องข้ามพรมแดนไปสู่ศิลปะแขนงอื่นด้วย ต้องฟังเพลง ต้องเสพศิลปะ ดูหนังอะไรอย่างนี้ มันเป็นเหมือนจุดตัดที่ข้ามกันไปข้ามกันมา

เพราะว่าจุดตัดในเรื่องมุมมองสำคัญ บางทีเราได้ดูหนังเราก็ได้ต่อยอดความคิด หนังดีๆ บางเรื่องก็ทำมาจากวรรณกรรม ผู้กำกับหนังที่เก่งๆ กระทั่งนักวิชาการทั่วโลกที่ยืนอยู่แถวหน้าส่วนใหญ่มักจะอ่านวรรณกรรมกันอย่างจริงจังหนักหน่วง รวมถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขาบอกว่างานของ ดอส โตเยฟสกี ให้อะไรมากกว่าพวกงานวิชาการ นอกจากคนอื่นจะข้ามมาหาเราแล้ว เราก็ต้องข้ามไปหาคนอื่นด้วย”

BookMarx Vol.2 วรรณกรรมข้ามพรมแดน

บุ๊กมาร์ก เล่ม 2 นี้ มีทั้งบทกวี บทกวีแปล ความเรียง บทความทางวิชาการ เรื่องสั้น เรื่องสั้นแปล บทวิจารณ์วรรณกรรมจากนักเขียนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มากมาย กับความหนากว่า 600 หน้า หัวข้อที่น่าสนใจ เช่น นกกวีนิพนธ์ บินจากเมืองไทยไปไต้หวัน คุยกับเจ้าของร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน คาสึโอะ อิชิงุโระ ม้ามืดรางวัลโนเบลปี 2017 ผู้ท่องทะยานจากพรมแดนเอเชียสู่พรมแดนยุโรป คำให้การของพระเจ้าหัวหยิก : บ็อบ ดีแลน เป็นต้น ความคาดหวังถึงหนังสือเล่มนี้ เรืองกิตติ์ อีกหนึ่งบรรณาธิการ บอกว่า

“ถ้าถามถึงความคาดหวัง เราไม่ควรคาดหวัง เราแค่นำเสนอความคิด นำเสนอองค์ความรู้ นำเสนอมุมมองแล้วก็ไม่ควรคาดหวังกับมัน แต่ว่าเราได้ทำ นั่นคือสิ่งที่เชื่อ เราเชื่อแบบนี้เราก็ทำ ทำเต็มที่ของเรา อย่างน้อยก็ได้เปล่งเสียงออกไป นั่นคือความเชื่อของเราผ่านหนังสือเล่มนี้

แต่เมื่อมันถูกนำเสนอไปแล้ว อย่างน้อยมันก็น่าจะส่งแรงกระเพื่อมบ้าง ได้สะกิดอะไรบ้าง สมมติว่าคนที่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยอ่านเรื่องสั้น เรื่องแปลก็อาจจะได้อ่าน แล้วพวกกวีที่อาจจะขยาดกับงานวิชาการ งานทฤษฎี พออ่านบทกวีแล้วก็ได้อ่านบทสัมภาษณ์ อ่านเรื่องสั้นแล้วลองอ่านบทวิจารณ์ อ่านงานวิชาการดู”