posttoday

ชมศิลปะเยอรมัน ยุคไวมาร์

19 สิงหาคม 2561

เทต โมเดิร์น กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จัดแสดงนิทรรศการ Magic Realism Art in Weimar Germany : 1919-1933

โดย อฐิณป ลภณวุษ
 
เทต โมเดิร์น กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จัดแสดงนิทรรศการ Magic Realism Art in Weimar Germany : 1919-1933 เสนอผลงานศิลปะเยอรมันจากยุคไวมาร์ รีพับลิก ให้คนรักศิลปะเข้าชมฟรีเป็นเวลา 1 ปีเต็ม (ถึง ก.ค. 2019) 
 
ไวมาร์ รีพับลิก เป็นชื่อเรียกเยอรมนีอย่างไม่เป็นทางการ ในยุคระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์
 

ชมศิลปะเยอรมัน ยุคไวมาร์

 
งานนี้เป็นความร่วมมือกับ เดอะ จอร์จ อีโคโนโมอู คอลเลกชั่น กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่ขนเอาภาพเขียนของศิลปินชาวเยอรมันยุคระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 มากว่า 70 ชิ้นงาน ทั้งงานเพนติ้งและดรออิ้งบนกระดาษ
 
ผลงานแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นบรรยากาศและวิธีคิดของผู้คนชาวเยอรมันในยุคไวมาร์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทัศนคติที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองในยุคนู้น อย่างแนวคิดแบบเสรีนิยม (Liberalisation) รวมไปถึงค่านิยมต่อต้านทหาร (Anti-Militarism) อันเนื่องมาจากการไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง 
 

ชมศิลปะเยอรมัน ยุคไวมาร์

 
คอลเลกชั่นภาพเขียนจากยุคไวมาร์นี้ เป็นภาพชุดหาชมยากและไม่เคยจัดแสดงในสหราชอาณาจักรมาก่อน นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงจุดมุ่งหมายของการมีขึ้นของ เทต โมเดิร์น ตั้งแต่เมื่อครั้งแรกเริ่มราวเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ในการนำเสนอผลงานศิลปะสไตล์โมเดิร์นนิสม์อีกด้วย
 
คำว่า Magic Realism นั้น ฟรานซ์ โรห์ ศิลปินนักถ่ายภาพและนักวิจารณ์ศิลปะจากยุคไวมาร์ เป็นคนที่ให้คำจำกัดความจิตรกรรมที่ร่วมสมัยเดียวกับเขาเอาไว้ตั้งแต่ปี 1925 -- ศิลปะที่บรรจุเอาความวิตกกังวลใจ และมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างล้นเหลือ สไตล์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ผสมผสานเข้ากับความเป็นจริงอันแสนโหดร้าย เป็นการตีความแบบเรียลิสม์ใหม่ในสังคมอันง่อนแง่นจากยุคสงคราม โดย Magic Realism ปัจจุบันมักจะนำมาใช้ในแวดวงวรรณกรรมมากกว่า โดยเฉพาะในแวดวงวรรณศิลป์ลาตินอเมริกาที่มักจะใส่จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึกเข้าไป กลายเป็นความอัศจรรย์ที่สมจริง
 
การแตกสลายของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งการตกเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อจิตใจของชาวเยอรมันทุกคน โดยเฉพาะบรรดาศิลปิน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางความคิด ความรู้สึกของตัวเองออกมาเป็นภาพวาด สิ่งที่ชาวเยอรมันยุคไวมาร์ต้องการมากที่สุด ก็คือ การกอบกู้ชีวิตประจำวันแบบเดิมๆ เมื่อครั้งที่เคยรุ่งเรืองกลับมาให้ได้เหมือนเก่า
 

ชมศิลปะเยอรมัน ยุคไวมาร์

 
นอกจากจิตรกรจะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ศิลปะมากจินตนาการออกมาช่วยเยียวยาจิตใจผู้คน โดยเปิดการแสดงงานในที่สาธารณะ หรือให้คนเข้าไปชมในสตูดิโอวาดภาพกันแล้ว ในยุคนั้นยังก่อเกิดความบันเทิงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาบาเรต์หรือละครสัตว์ โดยทั้งหลายทั้งปวงนี้ ยังมาควบรวมเป็นงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวของยุคสมัยเอาไว้ได้อีกต่อหนึ่ง อย่างที่เราเห็นเรื่องราวของความบันเทิง โดยเฉพาะภาพจากคณะละครสัตว์ ปรากฏในงานศิลปะสุดแฟนตาซีของศิลปินกลุ่มนอยเยอ ซักลิกไคต์ (Neue Sachlichkeit) เช่น ออตโต ดิกซ์,จอร์จ โกรสซ์ หรือมักซ์ เบคมันน์
 
จิตรกรกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าภาพวาดของพวกเขาสะท้อนเรื่องราวชีวิตของคนยุคไวมาร์ เช่นเดียวกับ อัลเบิร์ต เบียร์เคอเลอ,จันน์ มัมเมน และรูดอล์ฟ ชลิกเทอร์ ฯลฯ โดยศิลปินกลุ่มนี้มีอายุการทำงานสั้นมากในเยอรมนี คือรุ่งเรืองเฉพาะในยุคไวมาร์เท่านั้น อย่างที่รู้กันคือหลังจากที่นาซีเรืองอำนาจ ศิลปะจากยุคโมเดิร์นก็ถูกกวาดล้างให้หมดไปตามนโยบายของท่านผู้นำ
 

ชมศิลปะเยอรมัน ยุคไวมาร์

 
นิทรรศการ Magic Realism Art in Weimar Germany : 1919-1933 นับเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์รำลึก 100 ปี ของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ของเทต แกลเลอรี่ ซึ่งจัดแสดงที่เทต โมเดิร์น กรุงลอนดอน ควบคู่ไปกับนิทรรศการ Aftermath : Art in the Wake of World War One ณ เทต บริเทน กรุงลอนดอน ที่จัดแสดงงานศิลปะของศิลปินชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (เปิดให้ชมฟรีเช่นกัน ถึง 24 ก.ย.)