posttoday

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

18 สิงหาคม 2561

สังคมไทยต้องหันมาจับจ้องในภัยร้ายของไขมันทรานส์ น้ำมัน ไขมันในรูปของเนย หรือนมสด นมข้น ที่นำมาใช้ประกอบอาหาร

เรื่อง : วารุณี อินวันนา ภาพ : เอพี / เอเอพี / เอพีเอ

กลิ่นหอมและรสชาติของอาหาร จะมาจากวัตถุดิบหลักที่มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะ เช่น เนื้อ หมู ปลา กุ้ง ไก่ ไข่ ที่ทำเอาคนหิวต้องน้ำลายสอ ท้องร้องจ๊อกๆ เมื่อได้กลิ่น

แล้วยังมาจากเครื่องเทศ อาทิ ขิง กระเทียม ผักชี มะนาว กะเพรา พริก ยิ่ง 2 อย่างหลัง เมื่อนำมาผสมกัน ทำเอาคนได้กลิ่นและสูดเข้าไปต้องจามฮัดเช้ย! ออกมากันเป็นทิวแถว หรือมะนาว ที่ให้กลิ่นและรสเปรี้ยว

รวมถึงน้ำมัน ไขมัน ที่นำมาใช้ประกอบอาหาร ยังทำให้กลิ่นหอมชวนกินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ น้ำมันและไขมันในรูปของเนย หรือนมสด นมข้น นอกจากจะนำมาประกอบอาหารคาวแล้ว ยังนำไปเพิ่มรสชาติให้มีความมัน นุ่มลิ้น และกลิ่นให้กับอาหารหวานได้ไม่ยิ่งหย่อนเลย

เคยไหมเมื่อเดินผ่านร้านเบเกอรี่ ร้านพิซซ่า ร้านโดนัท หรือร้านไก่ทอด กลิ่นน้ำมัน และกลิ่นเนย ที่โชยเข้าจมูก มักจะดึงดูดให้เราเข้าไปเลือกหา หยิบติดไม้ติดมือมาเพียงเพราะกลิ่นและรสชาติที่เคยลิ้มลองได้ทุกครั้ง

เราเชื่อโดยพื้นฐานว่าอาหารกินได้ต้องปลอดภัย ยิ่งอยู่ในร้านใหญ่ ยิ่งมั่นใจ แต่ที่ไหนได้...

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

แต่แล้วสังคมไทยต้องหันขวับมาจับจ้องหาความหมายและภัยร้ายของไขมันทรานส์ หรือ Trans Fat Acid แทบจะทันทีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์ ที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2561 มีผลบังคับใช้ 180 วัน หรือต้นปี 2562 เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

หากยังพบว่า มีการใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบอาหารเป็นส่วนประกอบอาหาร จะมีบทลงโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 2 หมื่นบาท ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย

นั่นหมายความว่า ตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับ ใครก็ตามที่ใช้ไขมันทรานส์ นำเข้า จำหน่าย ผลิต จะผิดกฎหมายทันที

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

คำตอบทางการแพทย์เกี่ยวกับไขมันทรานส์

คำถามต่างๆ เกิดขึ้น และเริ่มวิตกกังวลต่อสุขภาพของตัวเอง “ไขมันทรานส์” คืออะไร อยู่ในอาหารประเภทใด? ป้องกันอย่างไร? มาหาคำตอบกับ พญ.สร้อยเพชร วีระไวทยะ แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลกรุงเทพ

รู้จักไขมันทรานส์ พญ.สร้อยเพชร อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักไขมันก่อน ซึ่งไขมันมี 2 ชนิด คือ

1.ไขมันไม่อิ่มตัว เป็นไขมันดี พบในปลา อโวคาโด ลูกมะกอก ถั่ว น้ำมันพืช

2.ไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันไม่ดี พบในเนื้อสัตว์ ครีม ชีส มะพร้าว น้ำมันปาล์ม เนยโกโก้

“ส่วนไขมันทรานส์ เป็นกรดไขมันอีกชนิดที่พบได้ในอาหารที่เรารับประทานเป็นประจำ แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ไขมันทรานส์ธรรมชาติกับไขมันทรานส์สังเคราะห์ ที่ได้จากการนำไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันตัวร้าย นำไปผ่านกระบวนการความร้อนและเติมไฮโดรเจนบางส่วน กลายเป็นไขมันทรานส์ชนิด Partially Hydrogenated Oil แล้วนำไปประกอบอาหาร”

ทำไมต้องสร้างไขมันทรานส์? พญ.สร้อยเพชร ชี้ว่าเพราะไขมันอิ่มตัว มีราคาแพง และเมื่อนำไปประกอบอาหาร ไม่อร่อย เก็บอาหารไว้ได้ไม่นาน มีกลิ่นหืน เมื่อนำไปแปรสภาพเป็นไขมันทรานส์ รสชาติจะดีขึ้น ราคาจะถูกลง ช่วยลดต้นทุน และยังเก็บไว้ได้นาน หากนำไปทอดจะทำให้กรอบ

อันตรายอย่างไร? พญ.สร้อยเพชร อธิบายเพิ่มเติมว่า ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เป็นไขมันไม่ดี ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

“ช่วงแรกมีความเชื่อว่าเมื่อนำไขมันอิ่มตัวไปสังเคราะห์หรือแปรสภาพ จะทำให้ไม่เกิดการป่วยเป็นโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง เพราะมีการทำวิจัยและสังเกตเห็นว่า การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์มากๆ จะมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ Cholesterol Acyltranferase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอล ส่งผลให้ระดับไขมัน LDL ในเลือดเพิ่มขึ้น และไขมัน HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ”

พญ.สร้อยเพชร บอกว่า ทันทีที่สหรัฐอเมริกาทราบอย่างนั้น ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration) ได้ออกประกาศเตือนว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีการกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากผลิตภัณฑ์ และกำหนดให้เลิกใช้เด็ดขาด แต่ให้เวลาปรับตัวเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในต้นปี 2562

“ส่วนประเทศที่ยกเลิกใช้ไขมันทรานส์ประเทศแรกคือ เดนมาร์ก ซึ่งมีการระบุว่าทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง 70% ขณะที่ไทย ให้เวลาในการกำจัดไขมันทรานส์เด็ดขาดภายใน 180 วัน คือมาทีหลัง แต่เรากระโดดไปที่ปลายยอดเลย เราใช้เวลาเร็วกว่า”

เพราะฉะนั้นไขมันทรานส์อยู่ในอาหารอะไรบ้าง? พญ.สร้อยเพชร กล่าวว่า อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด นิยมใช้ไขมันทรานส์ไปประกอบอาหาร อย่างทอดไก่ ทอดมันฝรั่ง แฮมเบอร์เกอร์ เป็นส่วนประกอบขนมถุง ใช้ในอุตสาหกรรมขนมอบ ทำเค้กกล้วยหอม รวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของเนยขาวและมาร์การีนอย่างขนมปังเนยสด พาย พัฟฟ์ไส้ต่างๆ คุกกี้ เค้ก ครัวซองต์ โดนัท มัฟฟิน

“นอกจากนี้ ยังอยู่ในของทอดที่ใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการทอด ปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ใน 1 วัน ร่างกายควรรับต่ำกว่า 1% ของพลังงานที่กินเข้าไปทั้งวัน ซึ่งจะประมาณ 2 กรัม ในขณะที่กฎหมายกำหนดไว้ถ้าใช้ในการประกอบอาหาร ต้องต่ำกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค”

อย่างไรก็ตาม พญ.สร้อยเพชร อธิบายเพิ่มเติมว่า ไขมันทรานส์ เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย พันธุกรรม น้ำหนักที่มากเกิน ไขมันอิ่มตัวอื่นๆ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพศก็มีส่วนในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เพศชาย จะมีโอกาสป่วยสูงกว่าเพศหญิงและคนสูงอายุ มีโอกาสสูงกว่าคนหนุ่มสาว

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

วิธีป้องกันให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน ออกกำลังกายตามอายุ และอาการป่วย สม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดความเครียด ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ การรักษา พญ.สร้อยเพชร ออกตัวว่า ไม่ใช่หมอด้านหัวใจโดยตรง

“แต่เท่าที่เห็นทั่วไปคือ หากเกิดป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ในกรณีที่ตีบตัน จะมีการรักษาด้วยการใส่บอลลูนเข้าไปขยายหลอดเลือด หากหลอดเลือดตันมาก จะมีการผ่าตัด”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เคยให้ข้อมูลไว้ว่า สถิติประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจวาย เฉลี่ยเท่ากับอัตราเครื่องบินตกวันละ 100 ลำ

สำหรับการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2557 ระบุว่า ในแต่ละปีคนไทยเสียชีวิตด้วย โรคหัวใจเพิ่มขึ้นกว่า 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลนั้น จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาท/ปี

ขณะที่รายงานสถิติสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2548-2559 ระบุว่า คนไทยมีอัตราการตายด้วยโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น รูมาติก หัวใจขาดเลือด โรคหัวใจอื่นๆ จาก 28.2 คนต่ออัตราการตาย 1 แสนคน ในปี 2548 มาเป็น 32 คน ในปี 2559

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

6 ขั้นตอนกำจัดไขมันทรานส์ทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ระบุว่า ไขมันทรานส์เป็นสารพิษ และไม่มีเหตุผลใดที่ผู้คนทั่วโลกต้องสัมผัส การช่วยชีวิตผู้คนให้รอดพ้นจากการถูกฆ่าโดยไม่จำเป็นการกำจัดออกจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เพื่อปกป้องสุขภาพและช่วยชีวิตมวลมนุษยชาติจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) จะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 1 ใน 3 ในปี 2573 หรือในอีก 12 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ปีละกว่า 5 แสนคน/ปี

ทั้งนี้ ได้ออกแนวทางปฏิบัติเพื่อการนำไปสู่การกำจัดกรดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทั่วโลก 6 แนวทาง และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ หันมาใช้ไขมันประเภทอื่นๆ ที่มีความปลอดภัยแทน ประกอบด้วย
1. ตรวจสอบแหล่งอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไขมันทรานส์ในการผลิตอาหาร เพื่อจะได้กำหนดนโยบายอย่างถูกต้องกับพื้นที่
2. ส่งเสริมการใช้ไขมันและน้ำมัน ที่ดีต่อสุขภาพในการผลิตอาหารแทน
3. ออกกฎหมายหรือบังใช้ใช้กฎหมายบังคับให้กำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมการผลิต
4. ทำการประเมินและตรวจสอบไขมันทรานส์ในอาหาร และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน
5. สร้างความตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพในกลุ่มผู้ผลิตอาหาร ตัวแทนจำหน่าย และประชาชน
6. บังคับให้ปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบของทางการ

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศที่มีรายได้สูงหลายแห่ง ได้มีกฎหมายกำหนดและจำกัดปริมาณการใช้ไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและส่วนผสมในอาหาร ด้วยการห้ามเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช

ทั้งนี้ ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ประกาศต่อต้านการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช และห้ามจำหน่ายอาหารทุกชนิดที่ใช้ไขมันทรานส์ในหลายระดับ อาทิ ห้ามเกิน 2 กรัมของไขมันหรือน้ำมันทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2546 ทำให้อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ลดลงอย่างมาก และจำนวนประชาชนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งไม่ได้มีมาตรการดังกล่าวและกลายเป็นผู้บุกเบิกให้กับรัฐบาลยุโรปอื่นๆ ที่ต้องการจะปกป้องสุขภาพของประชาชนจากโรคหัวใจ

ต่อมา เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาได้มีประกาศให้ร้านอาหารต่างๆ ลดการใช้ไขมันทรานส์มาร่วมทศวรรษ ซึ่งการห้ามหรือแบนไขมันทรานส์ในนิวยอร์ก ช่วยลดจำนวนคนป่วยจากโรคหัวใจวาย โดยที่รสชาติของอาหารและราคาอาหารไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่สามารถช่วยชีวิตคนได้นับล้านชีวิต

องค์การอนามัยโลก ย้ำว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลาง จำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนในประเทศได้รับการดูแลและได้รับประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

การปรับตัวและตั้งรับของอุตสาหกรรมและธุรกิจ

หลายคนบอกว่ากฎหมายไขมันทรานส์ฉบับนี้ จะทำให้วงการอาหารระส่ำ ฟาสต์ฟู้ดสะเทือน การประกาศกำจัดไขมันทรานส์ที่เติมไฮโดรเจนบางส่วนออกจากห่วงโซ่การผลิตอาหาร ยังสั่นสะเทือนวงการอาหารทั้งระบบ เพราะหมายความว่า โรงงาน โรงแรม ร้านอาหาร ที่ประกอบธุรกิจอาหาร หากใช้ไขมันชนิดังกล่าว จะต้องใช้ส่วนประกอบที่เป็นไขมันชนิดอื่นแทน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกอาหารทุกประเภทของไทย 1 ล้านล้านบาท เป็นอาหารสำเร็จรูป 2 แสนล้านบาท ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาดส่งออก โดยตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดยุโรป มีการเลิกใช้ไขมันทรานส์มา 3-4 ปีแล้ว

ทางผู้ผลิตอาหารได้ปรับตัวไปก่อนหน้านั้นด้วยการเลิกใช้ไขมันทรานส์แบบที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน มาใช้ไขมันที่เติมไฮโดรเจนโดยสมบูรณ์เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ และเพื่อให้สามารถส่งออกในตลาดที่กว้างขึ้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้วยการระบุส่วนผสมในฉลาก

กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบอาหารรายเล็กๆ ที่อยู่ตามมุมต่างๆ ของประเทศ โดยมีกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในประเทศเป็นหลัก ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านผลเสียของน้ำมันประเภทต่างๆ แต่สูตรอาหารถูกส่งมาจากรุ่นสู่รุ่น และใช้น้ำมันเก่าทอดแล้วทอดอีก

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 411,000-415,000 ล้านบาท ขยายตัว 4-5% จากปี 2560 ด้วยมูลค่าที่สูงกว่า 4 แสนล้านบาท ดึงดูดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหม่เข้าสู่ตลาดธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นปี 2560 มีจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวม 12,630 ราย เพิ่มขึ้น 9% จาก ณ สิ้นปี 2559

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเดิมในตลาดยังขยายการลงทุนทั้งในรูปแบบการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารขึ้นมาใหม่เอง รวมถึงการซื้อแฟรนไชส์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

นอกจากนี้ ร้านอาหารในไทย มีบางส่วนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีหลายบริษัทที่มีการผลิต นำเข้า วัตถุดิบ จำหน่ายเบเกอรี่ ขนมอบกรอบ ฟาสต์ฟู้ด และอยู่ภายใต้การบริหารของโรงแรม ต่างก็ถูกสังคมจับจ้องว่าใช้ไขมันทรานส์ เนยหรือมาร์การีน ที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนบางส่วนหรือไม่

ทางฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้ทำการสำรวจพบว่ามี บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) มรี ายไดห้ ลกั จากขายเบเกอรี่ 90% ของยอดขาย บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท (SNP) มีรายได้จากเบเกอรี่ 42%

บริษัท อาฟเตอร์ ยู (AU) คาดว่า สินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบคือ ไอศกรีมบางรสชาติ ที่ผสมครีมเทียม

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) อาหารที่กระทบคือ Mister Donut มีส่วนผสมไขมันทรานส์ ขณะที่ KFC และ Auntie Anne’s ยืนยันว่าอาหารปราศจากไขมันทรานส์

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ร้านอาหารและขนมที่คาดกระทบ ได้แก่ Dairy Queen Swensen’s, Pizza Company และ Breadtalk

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้สอบถามไปยัง CENTEL MINT และ AU ได้รับคำตอบว่า การห้ามใช้ไขมันทรานส์น่าจะกระทบกำไรเล็กน้อย และแต่ละรายมีแนวทางในการปรับสูตรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากต้นทุนสูงขึ้นก็จะมีการปรับกลยุทธ์ โดยการขึ้นราคาขาย หรือคงราคาเดิม แต่ลดขนาดและปริมาณลง

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบธุรกิจฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหาร ต่างออกมายืนยันว่า ไม่ได้ใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบและผลิตอาหาร หนึ่งในเหตุผลเพราะเป็นข้ามชาติที่มีการทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกาหรือส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกา จึงได้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกามานานแล้ว

ไขมันทรานส์ ลาก่อน... ความอร่อยร้ายลึก

ไม่ว่าจะเป็น เคเอฟซีประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ร้านพิซซ่าฮัท ประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท พีเอช แคปปิตอล แมคโดนัลด์ บริษัท เอส แอนด์ พี ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ทุกรายการไม่มีส่วนประกอบไขมันทรานส์ รวมถึงบริษัท เดลี่ฟู้ดส์ ผู้จำหน่ายนมข้นหวานต่างยืนยันผลิตภัณฑ์ไม่ได้ใช้ไขมันทรานส์

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคระบุว่าในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิได้แถลงผลทดสอบไขมันทรานส์ในโดนัทรสช็อกโกแลต จำนวน 13 ยี่ห้อ พบว่ามี 5 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมี 2 ยี่ห้อ ที่เกินมาตรฐาน ซึ่งได้รับจดหมายยืนยันว่าได้เปลี่ยนสูตรแล้ว

ทางด้าน ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ระบุว่า ผู้ผลิตต้องเตรียมแผนรับมือและปรับปรุงการผลิตใหม่ ตามมาตรฐานเพื่อส่งผลดีต่อผู้บริโภคแสดงข้อมูลอาหารในฉลากผลิตภัณฑ์ ทั้งสารอาหาร คุณค่าอาหาร แหล่งผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับมาถึงผู้ผลิตอาหารได้

ขณะเดียวกัน ควรมุ่งสู่การผลิตอาหารพร้อมรับประทาน อาหารเสริมสุขภาพ อาหารเชิงยา และอาหารที่เจาะกลุ่มลูกค้าในแต่ละวัยที่ต้องการสารอาหารแตกต่างกันผลิตอาหารใหม่ที่ใช้โปรตีนจากพืชแทน ทดแทนโปรตีนจากสัตว์

ทราบความร้ายกาจของไขมันทรานส์และค่ารักษาที่สูงลิ่ว รีบปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงอาหารไขมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก เพื่อหนีให้ห่างจากโรคหัวใจและหลอดเลือด หากโชคดีรักษาทัน แต่เงินเก็บที่สะสมมานั้น อาจหมดในวันรุ่งขึ้นอาจทำให้อนาคตที่วางไว้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน