posttoday

หนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์

14 สิงหาคม 2561

ในโลกยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เงินกระดาษหรือธนบัตรกำลังถูกแทนที่ด้วยเงินดิจิทัล

เรื่อง วราภรณ์ , ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ระบบการเงินก็มีการพัฒนาตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน เงินกระดาษหรือธนบัตรกำลังถูกแทนที่ด้วยเงินดิจิทัล ทำให้ 2 องค์กรใหญ่ ได้แก่ MOCA Bangkok หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย จับมือกับ ธนาคารธนชาต จัดทำหนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ ขุมปัญญาตำนานเงินกระดาษฉบับแรกแห่งสยาม สู่ธนบัตรยุคต้นรัตนโกสินทร์ ที่คณะจัดทำหนังสือเล่มพิเศษนี้เชื่อว่า เมื่อผู้สนใจได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราจะรักประเทศไทยมากขึ้น

หนังสือรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าตำนานธนบัตรไทย ที่ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ผ่านอุปสรรคปัญหาเรื่องการผลิตนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะเป็น “ธนบัตรไทย” ที่ผลิตได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื้อหาและรูปภาพธนบัตรในหนังสือ ล้วนถ่ายจากธนบัตรจริงของนักสะสมอันดับต้นๆ ของประเทศ คือ บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งเจ้าสัวบุญชัยเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะสามารถเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับธนบัตร รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ ที่เกือบครบถ้วนด้วยเนื้อหาและมีความถูกต้องอันดับต้นๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้

หนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ตัวอย่างธนบัตรไทย ในหนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘

เจตนารมณ์หนังสือ

บุญชัย กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการจัดทำหนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ ว่า ความตั้งใจในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้มาจากความรักและหลงใหลในการสะสมธนบัตรมาหลายสิบปี ทำให้เขาเห็นว่าการเสาะแสวงหาธนบัตรเก่าแต่ละฉบับมาสะสมนั้น ต้องมีความเพียรพยายามในการค้นคว้าข้อมูล และตระเวนไปประมูลธนบัตรตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

กว่าจะเก็บสะสมมาเป็นคอลเลกชั่นที่มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะเงินกระดาษ หรือธนบัตรในยุคแรกๆ ของไทย บางฉบับแทบจะหาไม่ได้ หรือบางฉบับอาจมีการสูญหายไปบ้างแล้ว ดังนั้นเขาจึงอยากจะบันทึกรวบรวมธนบัตรเก่าที่เขามีอยู่เกือบทุกฉบับ ทุกหมวด เลขหมาย โดยมีเจตนามุ่งมั่นให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ทั้งนี้การสะสมธนบัตรไม่อยากเน้นเพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ผู้สะสมธนบัตรเกิดความรู้ ความสนุกสนาน สะสมแบบนักโบราณคดี สืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นๆ ที่เกิดธนบัตรแต่ละแบบ มีเหตุการณ์ทางบ้านเมืองอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากทั้งการผลิตที่มีความพิถีพิถันในการจัดทำและออกแบบนำเสนอรูปภาพธนบัตรจากธนบัตรจริงอย่างครบถ้วน และที่สำคัญได้ทีมนักเขียนและคณะที่ปรึกษา ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธนบัตรได้ทุ่มเทและตั้งใจในการจัดทำเนื้อหาอย่างถูกต้อง ซึ่งใช้เวลารวบรวมค้นคว้าหาข้อมูลนานถึง 5 ปีกว่าหนังสือเล่มนี้จะแล้วเสร็จสิ้นสมบูรณ์

“ผมใช้เวลาในการสั่งสมธนบัตร บางใบผมใช้เวลารอนานมากกว่า 35 ปี ในการสะสมธนบัตร อย่างภาพธนบัตรหน้าปกหนังสือเล่มนี้ก็มีความสำคัญ เพราะธนบัตรใบนี้สร้างความตื่นเต้นให้นักสะสมไทยมาก

ผมจำได้ว่ายุคนั้นต้องบินไปประมูลถึงสิงคโปร์ นักสะสมทั้งหมดเตรียมเงินไปบ้าง แต่พอไปเจอคนที่มีใบสั่งว่า ต้องประมูลให้ได้ ซึ่งได้ในราคาประมูลที่แพงมาก เรานักสะสมคนไทยสู้ไม่ไหว เราก็ประมวลดูว่าแต่ละคนเตรียมเงินกันไปคนละเท่าไหร่ ซึ่งในการประมูลครั้งนี้มีเลขสวยๆ หลายใบ บางคนประมูลได้ธนบัตรใบละ 20 บาท 1 บาท แต่ใบนี้นักสะสมคนอื่นประมูลได้ไปเพราะราคาพุ่งไปที่ 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ พวกเราเลยหยุด เพราะไม่อยากทำตัวให้ฝรั่งหัวเราะ

ผมคิดว่าธนบัตรเหล่านี้เป็นสมบัติผลัดกันชม ปล่อยให้เขาไปก่อน เดี๋ยวรอวันหลัง หลังจากนั้นผมต้องรอนานอีกเป็น 10 ปี กว่าธนบัตรราคานี้จะออกมาประมูลอีกครั้ง ผมจึงประมูลไม่เลิก ผมจึงได้มา เรียกว่าเราต้องสู้กว่าที่จะได้ธนบัตรมา”

บุญชัย เปิดเผยว่า ธนบัตรใบหน้าปกนี้มีมูลค่าตอนประมูลราว 3 ล้านบาท แต่ตอนนี้ราคาน่าจะขยับไปที่ 10 ล้านบาทแล้ว

หนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์

หนังสือทรงคุณค่า

หนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ เป็นหนังสือปกแข็ง หน้าปกปั๊มทองเค มีจำนวน 408 หน้า รายละเอียดเนื้อหาของหนังสือบอกเล่าเรื่องราว ก่อนจะมีธนบัตรที่ใช้กันอย่างเช่นทุกวันนี้ หากย้อนประวัติศาสตร์การเงินการคลังจะพบว่า คนไทยรู้จักเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนในการค้าขายในชีวิตประจำวันต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักร
ฟูนาน อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรลพบุรี เรื่องมาจนถึงสมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคปัจจุบัน เงินในยุคก่อนรูปร่างหน้าตาจะแตกต่างไปตามภูมิภาคของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนเงินยอดนิยมที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดและถือเป็นเงินตราของไทยอย่างแท้จริงคือ “เงินพดด้วง”

จากกระทั่งมาถึงแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 นับเป็นช่วงเวลาที่แผ่นดินสยามมีการค้าขายเฟื่องฟูมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติมากขึ้น จนถึงเงินพดด้วงที่เคยผลิตด้วยมือ และใช้ในประเทศเริ่มไม่พอต่อการใช้จ่าย ปี 2403 คือบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสุดท้ายของเงิดพดด้วงเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “โรงกษาปณ์สิทธิการ” นับเป็นโรงกษาปณ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่สร้างขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง โรงกษาปณ์แห่งนี้มีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้แทนเงินพดด้วงที่เคยใช้มาอย่างยาวนาน

การค้าขายกับชาวต่างชาติยังคงเจริญรุดหน้าจนถึง พ.ศ. 2398 สยามได้ทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีค้าขายกับอังกฤษและนานาประเทศมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบเงินตราจากที่ใช้เหรียญกษาปณ์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น จึงเป็นการเริ่มต้นใช้ “เงินกระดาษ” เข้ามาใช้ในระบบเงินตราร่วมกับเงินต่างชนิดอื่นๆ และเป็นที่มาของตำนานธนบัตรไทย ซึ่งผ่านการปรับเปลี่ยนหลายครั้งนับไม่ถ้วน จนกลายเป็น “ธนบัตรไทย” ที่ผลิตได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ จัดเป็นหนังสือเพื่อให้การเผยแพร่องค์ความรู้ตั้งแต่เริ่มมีการใช้เงินกระดาษขึ้นในแผ่นดินสยาม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เนื้อหาสาระของหนังสือครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับธนบัตรไทย โดยปรากฏภาพธนบัตรทุกแบบ ทุกรุ่น ทุกราคา ทุกลายเซ็น อันเป็นธนบัตรในคอลเลกชั่นสะสมส่วนตัวของบุญชัยที่มีอยู่จริงทุกใบ เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ด้านการเงินการคลังของประเทศ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าด้านการสะสมธนบัตรไทย ให้แก่นักสะสมธนบัตรรุ่นหลังๆ สืบไป

“ผมสะสมธนบัตรตั้งแต่ยุคแรกๆ ทุกราคา ทุกลายเซ็น พอคิดจะจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ผมจึงไปขอความรู้จากพี่ๆ รุ่นเก่าๆ รุ่นพี่ รุ่นอา ที่แต่ละคนมีเสียชีวิตไปบ้าง สุดท้ายได้คุณสุเทพเป็นคนให้ความรู้ เราขอข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ขอลิขสิทธิ์เพราะอยากให้การจัดทำหนังสือมีความถูกต้อง เล่มนี้เราเล่าประวัติความเป็นมาว่า ขณะที่ประเทศไทยเราในยุครัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงพยายามนำพาประเทศให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ ยุคนั้นเราจึงมีแบงก์อินโดจีน มีแบงก์อังกฤษมาใช้ ซึ่งล้วนเป็น 2 ประเทศมหาอำนาจที่แย้งเซาท์อีสเอเชียกันในยุคนั้น อีกทั้งธนบัตรยังสะท้อนพระปรีชาของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร มีเนื้อหาบอกเล่าในเล่มนี้ทั้งหมด” บุญชัย กล่าว

หนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ บุญชัย เบจรงคกุล , สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ

เงินยุคกระดาษสู่ยุคเงินดิจิทัล

สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวถึงมุมมองต่อเรื่องยุคเงินกระดาษ สู่ยุคเงินดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ สังคมต้องปรับตัวอย่างไร สมเจตน์ให้ข้อคิดว่า ในยุคไม่มีธนบัตรเราปฏิเสธไม่ได้ โลกก้าวมาใช้เงินเพื่อความสะดวกสบาย แต่ไม่มีนัยหรือความหมายในเชิงประวัติศาสตร์และคุณค่า เพราะเงินที่เกิดแต่ละยุคสมัยมีที่มาที่ไป แม้ไม่ได้เกี่ยวพันกันโดยตรง ในโลกยุคธนบัตรจริงๆ ในเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงคุณค่าธนบัตรยังทรงคุณค่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดในอดีต เพราะธนบัตรแต่ละใบเกิดมาแตกต่าง

ด้านบุญชัย กล่าวว่า ในฐานะนักสะสมตัวยง เขาวาดฝันในการเตรียมตัวอย่างไรในยุคที่สังคมไทยจะก้าวสู่เงินดิจิทัล เจ้าสัวบุญชัย กล่าวว่า ตอนนี้เขานำธนบัตรที่เก็บสะสมไว้และมีเกินมาแบ่งปันในแวดวงเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมชื่นชมได้

“ผมอยากเท้าความไปถึงแสตมป์ แม้ยุคนี้เราส่งจดหมายกันน้อยลง แต่แสตมป์ที่มีใช้กันตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ก็ยังมีมูลค่าสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะแสตมป์ที่ติดอยู่บนซอง ผมเคยเห็นแสตมป์ติดบนซองในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งไปสถานทูตอังกฤษ และเขาก็เอาแสตมป์อังกฤษติดบนซอง เมื่อจดหมายซองนั้นได้ออกจากประเทศไทยสู่อังกฤษ รู้ไหมแสตมป์เหล่านั้นมีมูลค่า 3-4 ล้านบาททีเดียว

ต่อไปนี้ธนบัตรจะไม่ใช่ของสะสม แต่กลายเป็นประวัติศาสตร์ แต่มีคนอีกจำนวนมากยังพอจะนำมาเล่นเพื่อเป็นเครื่องผ่อนคลาย ได้ศึกษาประวัติก็ได้ความรู้ เพราะธนบัตรของไทยมีทั้งที่พิมพ์ที่อังกฤษ ญี่ปุ่น อเมริกาและพิมพ์ที่ไทย จึงทำให้มีความหลากหลายในแง่การเก็บสะสม

ตอนนี้ผมกำลังทำเว็บไซต์เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งในเล่มมีหนังสืออยู่ 2 หน้า คือ หน้าที่ 91 และหน้าที่ 108 ผมไม่มีธนบัตรจริง ผมหามา 50 ปีแล้วก็หาไม่เจอ เผื่อคอลเลกชั่นไปอยู่ที่เยอรมันก็ได้ เพราะต่างชาติ เช่น แคนาดา นอร์เวย์ ก็นิยมสะสมธนบัตรไทย พวกเขาอาจเก็บสะสมไว้ แต่เราไม่เคยมีหลักฐาน ใครมีหรือเคยเห็นแบงก์ 20 ที่หายไปก็อาจนำมาอวดกันก็ได้”

หากใครสนใจสั่งซื้อหนังสือธนบัตรไทย 2 เล่ม หรือการสั่งซื้อเป็นชุด ได้แก่ หนังสือธนบัตร ร.๙-๗๐ ปี ใต้ร่มพระบารมี และหนังสือธนบัตรไทย รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๘ จะได้รับกล่องใส่หนังสืออะครีลิก มูลค่า 500 บาท ฟรี (จำนวนจำกัด) ทั้งนี้ประชาชนผู้สนใจสามารถสั่งซื้อชุดหนังสือธนบัตรไทยฯ ได้ที่ธนาคารธนชาตทุกสาขา หรือร้าน MOCA Shop พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย