posttoday

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้

12 สิงหาคม 2561

คนบางคนก็เกิดมาเพื่อเป้าหมายเดียว คือการพาชีวิตไปตามฝันที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจจะต้องแลกกับอะไรบางอย่างในชีวิต

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์
 
คนบางคนก็เกิดมาเพื่อเป้าหมายเดียว คือการพาชีวิตไปตามฝันที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจจะต้องแลกกับอะไรบางอย่างในชีวิต บางคนเลือกมุ่งหน้าสู่โหมดทำงานสุดโต่ง ยิ่งถ้าได้ทำงานที่ตรงกับแพสชั่นของตัวเองด้วยแล้ว ทุกอย่างก็คือยอมพร้อมแลก บางคนเลือกเงินและผลตอบแทนที่คุ้มค่าสู้จนต้องละทิ้งบางอย่างที่มีคุณค่า
 
แม้ทุกคนมีเป้าหมายที่ต่างกัน และใช้วิธีเดินทางไปสู่จุดนั้นต่างกันเช่นกัน บางทีเราก็เลือกวิธีการที่โหดสาหัสกับตัวเอง ทำงานหนัก บากบั่น หรือบีบบังคับตัวเอง บีบคั้นตัวเองมากเกินไป จนลืมเมตตากับตัวเอง ร่างกายอันเป็นบ้านหลังใหญ่ของชีวิตก็เลยประท้วงในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางโรคบ้าง ทางอารมณ์บ้าง
 
เมื่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งพาเราไปสู่จุดที่แย่ที่สุด ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เศร้าใจ ชื่นใจ ก็อย่าเพิ่งไปคลุกคลีกับมันเยอะ วางใจไว้ให้อยู่ในสภาวะกลางๆ ยินดีก็รู้ว่ายินดี เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ ร้องไห้ก็รู้ว่าร้องไห้ ไม่ไปคลุกเคล้าเอามายึดติดจนมากเกินไป
 
แม้กระทั่งการป่วยไข้ของใครคนหนึ่ง อาจจะเป็นเทียนส่องสว่างให้ชีวิตอีกหลายๆ คนได้พบทางออกที่สั้น ง่าย และไวขึ้น เช่นชายหนุ่มคนนี้ นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว เจ้าของ บริษัท นาวินคอนซัลแตนท์ จากครีเอทีฟนักโฆษณาที่ประสบความสำเร็จ เคยไปทำงานให้กับเอเยนซีดังๆ ระดับโลกทั้งเอเชียและยุโรป  มีรางวัลการันตีมากมาย จนออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ที่เรียกตัวเองว่าเป็นครีเอทีฟบัดดี้ หน้าที่การงานของเขากำลังไปได้สวย ชีวิตพุ่งไปข้างหน้า ตลอดเวลาเขามีความสุขในการทำงาน แอ็กทีฟอยู่เสมอ
 

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้

 
จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว เขาเริ่มรับรู้ในความผิดปกติของตนเอง  เขาไม่อยากตื่นไปทำงาน เบื่อสังคม หลบเลี่ยงไม่อยากพบเจอใคร อยากจะเก็บตัวเงียบๆ อยู่ในบ้าน ที่เคยชอบดูหนัง ฟังเพลง ก็ดูหนังไม่จบเรื่อง เบื่อ เครียด กับทุกสิ่งอย่าง จนไปทำงานไม่ได้ บางคนอาจจะรีๆ รอๆ ยังไม่ไปพบแพทย์ เพราะคิดว่าเป็นความเบื่อ ความเครียดจากการทำงานที่หนักเกินไป ได้พักสักระยะอาจจะหายไปเอง
 
แต่เขาไม่รอ เพราะเขาทำงานไม่ได้ เขาไม่มั่นใจตัวเอง ไปพบลูกค้าไม่ได้ เขารู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับตนเอง จึงตัดสินใจไปหาหมอ และพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า เขารับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ 6 เดือน จนอาการดีขึ้น ไปทำงานได้ตามปกติ แล้วก็ชะล่าใจ หยุดยาเอง ทั้งๆ ที่หมอบอกให้กินยาต่อไปอีกสักระยะ แต่ก็ดื้อหยุดยาเอง ประมาท ไม่ฟังหมอ
 
“นี่เป็นเพราะเราเป็นคนกดดันตัวเอง ใจร้อน ชีวิตที่ผ่านมาของผมนั้นประสบความสำเร็จเร็ว ทำให้ชีวิตพุ่งไปข้างหน้าเร็วเกินไป ไม่มีติดเบรกเลย ความเครียดจึงสะสมไว้เยอะโดยไม่รู้ตัว แล้วชีวิตก็โฟกัสแต่เรื่องงาน ไม่มีมุมอื่นเลย ชีวิตมีแต่เรื่องงานๆ เพราะอยากสร้างแลนมาร์คในเรื่องงานเพียงอย่างเดียว รู้ดิ่งแต่โง่กว้าง ไม่มีเบรกเลย”
 
เขาเล่าว่า พอหยุดยาเองได้สัก 7-8 เดือน อาการกำเริบอีก พอเป็นรอบสองนี่หนักกว่ารอบแรก มีบางช่วงที่รู้สึกว่าอยากจะกระโดดตึกตาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาการเงินหรืองานด้วย แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ของเคมีในสมองล้วนๆ เป็นเสียงของอัตตาด้วย
 

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้

 
คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสารเคมี 3 อย่างในสมองไม่สมดุล คือ โคปามีน เป็นสารแห่งความภูมิใจ เซโรโทนีน สารที่ทำให้ใจสงบ รู้สึกปลอดภัย และเอนดอร์ฟิน สารแห่งความสุข การกินยาเพื่อปรับสาร 3 ตัวนี้ให้สมดุลกัน ถ้าสาร 3 ตัวไม่ครบ ความรู้สึกก็จะติดลบ ขาดๆ ไป
 
ในความโชคร้ายก็มีความโชคดี คือคุณหมอ นอกจากจะรักษาด้วยยาแล้วยังรักษาใจด้วยการนำหลักธรรมะมาช่วยในการรักษา ด้วยการปรับทัศนคติ มุมมองในชีวิตให้มองโลกแบบใหม่ด้วย คือให้ใช้ชีวิตแบบสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ที่สำคัญต้องมีเมตตากับตนเองบ้าง หมอให้ลองนั่งสมาธิแบบลืมตาแบบของหลวงพ่อเทียน วัดสนามใน ถ้าหลับตาแล้วจะฟุ้งซ่าน ถ้าลืมตาจะช่วยได้ดีกว่า เขาเริ่มปล่อยวาง ไม่สุดโต่งเกินไปคือ ตถาตา มันเป็นเช่นนั้น อยู่กับกาย อยู่กับปัจจุบัน
 
“เมื่อก่อนจะเป็นคนคิดตลอดเวลา ขับรถก็คิด นั่งกินข้าวก็คิดๆ เรื่องงาน ตอนนี้ปรับใหม่ เวลาส่วนตัวอยู่บ้าน อยู่กับลูก กินข้าว นั่งเล่น เราจะไม่คิดแล้ว ให้คิดเฉพาะตอนไปทำงานเท่านั้น พอมารักษารอบสองนี่เราให้ความร่วมมือกับคุณหมออย่างเต็มที่ ไม่ดื้อ ไม่ประมาท ซึ่งผลการรักษาก็ดีขึ้น โดยคุณหมอนัดห่างออกไปเรื่อยๆ ยังคงกินยาอยู่ในปริมาณที่ลดลงทุกครั้งที่ไปพบหมอ”
 
สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้านี่เป็นแพตเทิร์นแทบจะทุกคน คือ โลภ หลง โลภคือ (ภวตัณหา) : อาการลุ้น ความอยาก คาดคั้น คืออาการอยากหาย คำถามซ้ำๆ ในหัวว่าเมื่อไรจะหาย อยากหายเร็วๆ อยากกลับไปเป็นคนเก่า อยากกลับไปสดใส ร่าเริง หมอบบอกว่าโรคซึมเศร้ายิ่งอยากหาย ยิ่งไม่หาย แถมหมอบอกว่า ต่อให้เราหายแล้ว ถ้ามีกิเลสเข้มข้น ลุ้นอยากได้อะไรมากๆ จนเกินพอดี มันก็คือความเครียดที่มองไม่เห็น ก็จะมีสิทธิกลับมาเป็นได้อีก แปลว่าต่อให้หายจากโรคซึมเศร้าแล้ว ก็ต้องทันทุกความคิดโลภ เมื่อไรที่อยากได้ อยากเอา อยากเป็น ก็ต้องรู้เท่าทัน เพื่อจะไม่ต้องกลับมาเป็นซึมเศร้าอีก อยากประสบความสำเร็จได้ อยากรวยได้ อยากมีความมั่นคงได้ อยากให้ลูกได้ดีได้ อยากเป็นหัวหน้าได้ อยากมีบ้านได้ อยากมีรถได้ อยากกินของอร่อยได้ อยากให้งานออกมาดีได้ ไม่ว่าจะอยากอะไรต่อมิอะไร ถ้ามันอยู่ในเลเวลที่พอดี คำสอนสุดคลาสสิกของพระพุทธเจ้า คือ เดินทางสายกลาง เอามาประยุกต์ใช้ได้เลยกับความอยาก
 

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้

 
หลังจากที่เขารักษาซึมเศร้าผ่านมาเกือบปีและอาการดีขึ้นจนเป็นปกติ เขาก็เลยเปิดเพจให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โดยนำประสบการณ์ตรงมาเขียนเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับคนอื่นๆ ใช้ชื่อเพจว่า เมื่อครีเอทีฟพบจิตแพทย์ ซึ่งเขาได้สร้างเพจนี้มาได้ 3 เดือนกว่า โดยเขียนเรื่องของเขาเป็นตอนๆ จำนวน 20 ตอน หลังจากที่เปิดเพจนี้มาก็มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก และมีผู้อ่านถามไถ่ขอข้อมูลเข้ามาเป็นจำนวนมาก นั่นแสดงว่ามีคนเครียดสะสมจนอาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะในสังคมเมืองที่มีการแข่งขันและรีบเร่งเช่นนี้ และมีคนมาปรึกษาหลายสิบคนที่อยากจะฆ่าตัวตาย บางคนจะขับรถพุ่งชนกำแพงก็มี เขาก็พยายามปลอบใจจนยอมจอดรถมาคุยกัน
 
นอกจากเขียนเพจแล้ว เขายังอัดคลิปรักษาโรคซึมเศร้าฉบับภาคพิสดารมาให้ความรู้แบบขำๆ ไม่ซีเรียส แต่นำไปใช้ได้จริง อธิบายถึงการเอาตัวรอดในภาวะที่มีอารมณ์ชั่ววูบอยากจะฆ่าตัวตาย เช่น ดึงสติลมหายใจ เอาเท้าสัมผัสพื้นให้รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ทุบต้นขาตัวเองเบาๆ ให้รู้สึกตัว บอกตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป เพราะการคิดฆ่าตัวตายเป็นอารมณ์ชั่ววูบจากการที่เคมีในสมองที่ผิดปกติมันไม่สมดุล จึงต้องคอยเตือนตัวเองให้มีสติรู้ตัวหลุดจากอารมณ์ชั่ววูบนั้นให้ได้
 
การกินยาคือการรักษาเคมีในสมองให้สมดุล นอกจากยาที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ควรรักษาใจด้วยการนำหลักธรรมะมาช่วยเรื่องทางสายกลาง การอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป
 
บทเรียนที่ได้จากการป่วยครั้งนี้ก็คือ การที่ทำให้เขาได้กลับมาทบทวนตนเอง มีเมตตากับตนเอง ทำให้ชีวิตรู้จักติดเบรกบ้าง ไม่เช่นนั้นเขาจะพุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียวจนเครื่องพังเข้าสักวัน การป่วยครั้งนี้ทำให้เขาได้ปล่อยวางมากขึ้น กดดันตัวเองน้อยลง รู้จักพอมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนไม่เคยพอใจกับงานได้เท่าไรก็อยากเพิ่มอีก มีแต่อีโก้ ยังดีไม่พอ เพิ่มเลเวลไปเรื่อยๆ จนเครื่องมันคงจะระเบิด
 

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้

 
การเปิดเพจก็เพื่อแบ่งปันว่าโรคซึมเศร้านั้นรักษาให้ดีขึ้นได้ “คือเราหายแล้วก็ไม่อยากหายคนเดียว อยากให้คนอื่นหายเหมือนเรา และผมอยากจะเอาเรื่องราวที่ผมเขียนไว้ทั้ง 20 ตอนมาพิมพ์เป็นหนังสือขายราคาถูกๆ เล่มละ 30-40 บาท เพื่อให้ใครก็ซื้อหาอ่านได้ หรือเอาไปแจกตามโรงพยาบาล กำลังหาทุน แล้วก็มีพี่ๆ น้องๆ ที่ตามเพจของผมหลายคนเป็นอาสาสมัครจะช่วยวาดรูปประกอบในแต่ละตอนให้ ซึ่งงานของหลายๆ คนนี่ฝีมือดีเยี่ยมเลย ก็ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย” เขาเล่าอย่างตั้งใจ
 
ทุกวันนี้เขายังอัพเดทเพจของเขาเสมอ ใครมีปัญหาด้านนี้ถามมาได้เลย ยินดีตอบตลอดเวลา จะโทรคุยก็ได้ถ้าว่างไม่ติดประชุม เขาบอกว่ารับสายตลอด ถ้าอินบ็อกซ์ไว้เขาก็จะตามไปตอบให้เร็วที่สุด
 
การป่วยไข้ครั้งนี้ เหมือนครูที่มาสอนว่าอย่าทำกล่องชีวิตของตัวเองให้ใหญ่เกินไป เพราะมันจะใส่อะไรไปเท่าไรก็ไม่เคยเต็ม ไม่เคยพอ ถ้ากล่องชีวิตคุณเล็กลง จะเติมจะใส่อะไรเข้าไปมันก็เต็มง่าย สุขได้กับเรื่องง่ายๆ เช่นกัน ทางสายกลางนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ตึงไปหย่อนไปสักวันก็ขาดผึงแบบเขานี่ล่ะ และการเป็นโรคซึมเศร้าก็รักษาให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร เมื่อเป็นก็รักษา ยอมรับกับโครที่เป็น แต่จะไม่ยอมแพ้ เพราะมันหายได้ อย่ากังวลใจเกินไปเลย