posttoday

เก็บแต้มก่อนสูงวัย

09 สิงหาคม 2561

ไม่ว่าใครก็ใครอยากอยู่ให้ชีวิตยืนยาวด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าตั้งเงื่อนไขว่าอายุเท่านั้นที่ยาว

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ไม่ว่าใครก็ใครอยากอยู่ให้ชีวิตยืนยาวด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าตั้งเงื่อนไขว่าอายุเท่านั้นที่ยาว ส่วนคุณภาพชีวิตเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ปากเบี้ยวไปไหนไม่ได้ พิกลพิการแขนขาลีบเป็นโรคจิตโรคซึมเศร้า ต้องให้ลูกหลานดูแล รับรองว่าไม่มีใครอยาก

ก็ไม่มีใครอยากที่มีชีวิตแบบนั้น ชีวิตสูงวัยแต่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องแบบนี้ต้องดูแลตัวเองเสียตั้งแต่ก่อนวัยยังไม่สูง

1.อาหารดีมีประโยชน์

นักวิจัยพบว่าเมื่อคนเราอายุเกิน 50 ปี ร่างกายจะต้องการสารอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ นอกเหนือจากอาหารที่กินเข้าไปเป็นปกติ สารอาหารเหล่านั้นได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี กรดโฟลิก แคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสีและอื่นๆ หากไม่ใส่ใจสุขภาพเพียงพอ อาจพบปัญหาหรือโรคที่เกิดจากความเสื่อมในวัยสูงอายุได้

สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนเมื่อเริ่มสูงวัยอีกอย่างหนึ่ง คือ รูปแบบการกิน ควรเคี้ยวให้นานขึ้น เคี้ยวให้ละเอียดขึ้น เพื่อให้โมเลกุลอาหารเล็กที่สุด ช่วยการย่อยไม่ให้มีอาหารเหลือตกค้างในกระเพาะ รวมทั้งควรกินอาหารให้ช้าลง วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องกินอาหารเกินจำเป็น เนื่องจากเมื่อกระเพาะอาหารอิ่มแล้วจะส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อบอกว่าอิ่ม ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 20 นาที

2.การออกกำลังกายให้พอเหมาะ

ควรออกกำลังกายให้เหมาะสม ถือว่าสะสมแต้มเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสมรรถนะสูงสุดตามวัย การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ (หรือไม่สูงอายุบางคน) ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรูปแบบหรือระยะเวลาในการออกกำลังที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละคน ในช่วงกลางวันการออกกำลังกายที่แนะนำคือการเดินเร็ว ส่วนในเวลากลางคืน ถ้าอยากออกกำลังกายตอนกลางคืนด้วย ก็ควรเลือกแบบเบาๆ ประเภทยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ หรือพิลาทิส ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย

3.ปรับไลฟ์สไตล์

ไม่ใช่แก่แล้วแก่เลยหรืออะไรแบบนั้น ควรอัพเดทตัวเองในเรื่องไลฟ์สไตล์ที่ดีงามพอเหมาะพอสม ได้ยินเรื่องหลายคนที่เปลี่ยนตัวเองจากนั่งดูโทรทัศน์ (เฉยๆ) ลุกขึ้นมาแกว่งแขนหรือออกกำลังกายเบาๆ ขณะเพลิดเพลินกับหน้าจอโทรทัศน์ วิธีนี้ทำให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ ไม่ใช่กินแล้วนั่งจุมปุ๊ก จนกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารรวมทั้งลำไส้ถูกกดทับ อาหารค้างในลำไส้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้

อิริยาบถนั่ง ไม่ได้จำกัดแค่การนั่ง หลายคนหมายถึงการเกร็งกล้ามเนื้อขณะอยู่บนเก้าอี้ นวดหรือกดจุดบริเวณใบหน้า ศีรษะ ดวงตา เพื่อผ่อนคลายระบบประสาท ฯลฯ ยังมีอีกหลายอิริยาบถสร้างสรรค์ที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจของเรายั่งยืนอย่างมีคุณภาพ

4.ไฟในการทำงาน

ถึงจะอายุมาก แต่ก็ไม่ผิดกติกาที่จะลุกขึ้นมาทำงานบ้างอะไรบ้างสมัยนี้คือยุคทำงานไม่ว่าจะวัยไหน แต่ไม่ว่าจะวัยไหนหรือสูงอายุแค่ไหนก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของสุขภาพการทำงาน เช่น หลายคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์  ก็ต้องถนอมเป็นพิเศษในเรื่องของสุขภาพดวงตา อย่าตะบี้ตะบันจ้องหน้าจอจนกลายเป็นต้อหินต้อกระจก แต่ให้ยึดหลักการทำงานควบคู่การพักผ่อน จ้องหน้าจอสลับทอดสายตาไปไกลๆ เพื่อพักผ่อนกล้ามเนื้อและประสาทตา เป็นต้น

ส่วนการทำงานประเภทอื่น ก็ยึดหลักเดียวกันคือการพักผ่อนที่สำคัญสลับไปกับการทำงาน ถ้าทำงานเครียดมากใช้สมองมากก็หาเวลาพักผ่อนหรือท่องเที่ยว เพื่อพักสมองบ้าง กรณีเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะแรงงานด้านใดด้านหนึ่ง ก็พึงใช้หลักการเดียวกัน นั่นคืออย่าตะบี้ตะบันทำงาน พักผ่อนด้วย

5.การผ่อนคลายตัวเอง

คนทำงานที่ดีคือคนที่รู้จักผ่อนคลายตัวเองได้ดีเท่าๆ กับทำงานได้ดี หลักการนี้ใช้ได้ชั่วชีวิต สำหรับการสร้างบรรยากาศผ่อนคลายนั้น ก็พึงให้เป็นไปตามจริตและความชอบส่วนบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน บางคนใช้กลิ่นเพื่อผ่อนคลาย ก็สร้างสรรค์ที่พักหรือที่ทำงานให้กลิ่นช่วยสร้างความผ่อนคลายได้ (Olfactory Nerve) แนะนำกลิ่นดอกไม้ต่างๆ เช่น ลาเวนเดอร์ มินต์ กุหลาบ ฯลฯ นอกจากนี้ก็มีหลายคนที่ใช้สีสันช่วยให้สดชื่น หรือผ่อนคลายตัวเองจากเรื่องเครียดๆ หนักๆ ได้เช่นกัน

6.สำรวจกิจวัตรประจำวัน

ก่อนจะสู่วัยสูงอายุ อย่าลืมสำรวจกิจวัตรประจำวันตัวเอง ที่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยก็อาจไม่เหมาะหรือกลายเป็นอันตรายได้ หลายคนละเลยในเรื่องนี้ คิด (หรือไม่คิด) ว่าเคยทำได้ก็จะทำต่อไป แต่กลายเป็นว่ากิจวัตรประจำวันที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดเรื่องที่น่าเศร้าหรือควบคุมไม่ได้ขึ้น