posttoday

พัฒนาทักษะการฟัง ให้มีประสิทธิภาพ

20 สิงหาคม 2562

การฟังเป็นทักษะการสื่อสารแรกและสำคัญที่สุดของมนุษย์ ไม่มีใครพูดได้คล่องจากการอ่านและไม่มีใครอ่านหนังสือได้คล่องหากไม่รู้จักการฟัง

โดย  กั๊ตจัง ภาพ : Pixabay

การฟังเป็นทักษะการสื่อสารแรกและสำคัญที่สุดของมนุษย์ ไม่มีใครพูดได้คล่องจากการอ่านและไม่มีใครอ่านหนังสือได้คล่องหากไม่รู้จักการฟัง ดังนั้นทักษะการฟังเป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกและพัฒนา เพราะจะสามารถทำความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้อง ลดความผิดพลาดในการทำงานจากการจับประเด็นที่ผิดพลาด วันนี้เรามาดูกันว่าทักษะการฟังนั้นจะฝึกฝนพัฒนาได้อย่างไรบ้าง

1.ฝึกสมาธิกับสิ่งที่ฟัง

การมีสมาธิกับสิ่งที่กำลังฟังอยู่นั้นมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนและการทำงาน วิธีการฝึกเริ่มต้นจากการนั่งสมาธิให้ได้นานที่สุด โดยค่อยๆ เพิ่มเวลาจาก 5 นาที เป็น 10 นาทีและค่อยๆ เพิ่มจนถึงระดับชั่วโมงในที่สุด แต่เพียงแค่ 30 นาที ก็จัดว่าเพียงพอกับการเรียนและการทำงานทั่วไปแล้ว

ปกติคนเราจะมีสมาธิในการทำงานอยู่เพียงแค่ 15 นาที ก่อนที่จะหยุดคิดเรื่องอื่นเวลาใช้เวลาอีกประมาณ 2 - 5 นาที ในการรวบรวมสมาธิกลับมา ดังนั้นการฝึกสมาธิจึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้เราตั้งใจฟังสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน โดยไม่คิดหยิบสมาร์ทโฟนออกมาดูข้อความหรือใจลอยออกไปนอกหน้าต่าง

2.ฝึกจับใจความ

หลายครั้งที่การประชุมหรือการเข้าฟังในงานสัมมนามักจะมีเนื้อหาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือคือโฆษณาและพรรณนา ดังนั้นการฝึกแยกแยะเนื้อและน้ำในหัวข้อการฟังคือสิ่งสำคัญ ปัญหาก็คือเมื่อผู้พูดหรือผู้บรรยายพูดออกมานั้นดูเหมือนจะมีความสำคัญไปเสียทุกอย่าง

เคล็ดลับก็คือจำเฉพาะหัวข้อเรื่องที่เขากำลังพูด ขั้นตอน ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหา จดจำเป็นประโยคสั้นที่สามารถขยายความเข้าใจออกมาโดยง่ายเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

พัฒนาทักษะการฟัง ให้มีประสิทธิภาพ

3.รู้จักการตัดบทสนทนา

ไม่มีใครที่สามารถทนฟังเรื่องเดิมๆ วนซ้ำเป็นชั่วโมง สัปดาห์ละหลายครั้ง การตั้งใจฟังเป็นสิ่งที่ดีแต่การบอกให้ผู้พูดรู้จักการกระชับเนื้อหานั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่า ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราประหยัดเวลาในการฟังโดยได้เนื้อหาครบถ้วน แต่ยังช่วยให้ผู้พูดรู้ตัวว่าไม่ควรพูดเยิ่นเย้อ ต้องรู้จักกระชับเนื้อหาก่อนพูด

เทคนิคในการตัดบทที่มักจะได้ผลเสมอก็คือการเริ่มต้นด้วยคำว่าขอโทษครับ (นะคะ) แล้วตัดเข้าคำถามสำคัญในเนื้องาน หรืออ้างว่ากำลังมีธุระช่วยกระชับเนื้อหาให้ได้หรือไม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะตัดบทสนทนาก็ต้องดูเนื้อหาที่กำลังคุยก่อนว่าเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร หากเป็นเรื่องงานเกี่ยวกับความคืบหน้าเราสามารถตัดบทได้โดยไม่เสียงาน

หากเป็นเรื่องงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต้องฟังถึงปัญหาตั้งแต่ต้นให้จบ ตัดบทเท่าที่จำเป็นและถามหาแนวทางการแก้ไข ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นความทุกข์ใจของเพื่อน คนรัก และคนในครอบครัวการตัดบทเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

4.รู้จักมารยาทในการฟัง

มารยาทในการฟังเป็นอีกสิ่งที่เราควรรู้ ผู้ฟังที่ดีต้องทำให้ผู้พูดรู้สึกว่ากำลังตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดต้องการบอก ไม่เหม่อมองไปทางอื่นในขณะที่เขากำลังพูด ไม่รับโทรศัพท์ในทันทีหากมีสายเข้ามา หากเป็นสายไม่จำเป็นควรตัดสายทิ้งแล้วสนทนาต่อ หากเป็นสายสำคัญจากเจ้านายควรกล่าวขออภัยผู้พูดว่าเป็นสายสำคัญ แล้วจำเนื้อหาสุดท้ายก่อนรับสาย อย่ารับสายในทันทีที่มีสายเรียกเข้า

เมื่อรับสายเสร็จแล้วให้กลับมาเข้าเนื้อหาสนทนาต่อด้วยการเอ่ยถึงข้อความล่าสุดที่เพิ่งพูดกันไป บางครั้งเรารับสายนานไปก็ทำให้ผู้พูดและผู้ฟังลืมเนื้อหาสนทนาไปได้เหมือนกัน

ไม่ควรล้วงแคะแกะเกาต่อหน้าผู้พูด นิดหน่อยพอได้แต่ถ้ามากไปเราเองจะดูไม่ดีในสายตาคนอื่น ถ้ามีความจำเป็นให้ขอตัวไปทำธุระในห้องน้ำให้เสร็จแล้วกลับมา อย่าเผลอหลับในห้องประชุม หรือนั่งเอนหลังจนเกือบนอนบนเก้าอี้

รู้จักเก็บอารมณ์ระหว่างฟัง อย่าเผลอแสดงอาการโกรธ สงสัย เครียด หรือสีหน้าที่แลคล้ายดูหมิ่นความคิดผู้พูด เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันเอาไว้ ในโลกการทำงานแม้เราจะไม่ชอบใจในความคิดของใคร แต่วันข้างหน้าเราอาจจะมีโอกาสได้กลับมาทำงานด้วยกันอีก

ที่สำคัญในการฟังก็คือรู้จักเลือกฟังแต่เรื่องที่ดี ในโลกการทำงานมีทั้งคนที่มักพูดแต่เรื่องดีๆ และคนที่พูดแต่เรื่องร้ายๆ การให้ความสำคัญกับการฟังเรื่องดีๆ เข้าหาคนที่พูดแต่เรื่องดีๆ จะช่วยให้เรามีพลังในการทำงานมากขึ้น