posttoday

กีฬาร่มร่อนล่องนภาท้าใจ

29 กรกฎาคม 2561

บนจี้จัมพ์ กระโดดหอ เครื่องเล่นท้าใจเหล่านี้สนุกแค่ไหนก็ต้องหลบทางให้กับร่มบิน

โดย กั๊ตจัง  ภาพ : เอเอฟพี 

บนจี้จัมพ์ กระโดดหอ เครื่องเล่นท้าใจเหล่านี้สนุกแค่ไหนก็ต้องหลบทางให้กับร่มบิน กีฬาร่มร่อนเป็นหนึ่งในกีฬาท้าความสูง แต่ก็เป็นกีฬาที่ให้ความสุขกับการท่องเที่ยวไปในตัว มีคนกล่าวว่าไม่มีกีฬาชนิดไหนในโลกที่จะให้ความรู้สึกอิสระ เหมือนนกที่โผบินได้เท่ากับร่มร่อนอีกแล้ว

หากจะย้อนประวัติศาสตร์กีฬาร่มบินก็น่าจะย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2523 เมื่อชาวอังกฤษได้ทดลองปรับปรุงรูปแบบร่มชูชีพแบบใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วพบว่าร่มทรงสี่เหลี่ยมพื้นผ้าสามารถต้านแรงลมและยกตัวเองขึ้นมาได้ ร่วมทั้งสามารถร่อนบินไปได้ไกลกว่าร่มชูชีพทรงกลมแบบเดิมที่เคยใช้เป็นแค่ร่มชะลอความเร็วในการตก จึงพัฒนารูปทรงและวัสดุที่ใช้จนมีรูปแบบที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล

ประมาณปี 2537 เริ่มมีการใช้ร่มร่อนในประเทศไทยในลักษณะกิจกรรมกีฬาครั้งแรกที่ จ.ระยอง จากนั้นกีฬาร่มร่อนจึงเริ่มแพร่หลายในกลุ่มคนเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม และพัฒนารูปแบบมาเป็นกีฬาร่มบิน (พารามอเตอร์) และแฮงไกล์ดิ้ง (เครื่องร่อนปีกสามเหลี่ยม) ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องบินเล็ก

กีฬาร่มร่อนล่องนภาท้าใจ

ธนวรรณ์ ชูศรี นักกีฬาร่มร่อนที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี เล่าถึงเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ว่าหากเทียบกับกีฬาทางอากาศชนิดอื่นๆ ร่มร่อนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อันที่จริงแล้วหากจะเปรียบเหมือนการถ่ายรูป กีฬาร่มร่อนก็คือการถ่ายรูปด้วยระบบแมนวล ส่วนร่มบิน และแฮงไกล์ดิ้ง เป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ แม้จะไม่มีแรงลมช่วยก็สามารถบินได้

ในขณะที่ร่มร่อน เป็นการใช้ร่มชูชีพร่อนไปตามกระแสลม ผู้เล่นต้องรู้จักวิธีการบังคับ การแก้ไขปัญหา รู้จักการดูทิศลมการสังเกตสภาพอากาศจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เสน่ห์ของร่มร่อนก็คือการที่เราได้ใช้กระแสลมช่วยในการบินเหมือนเป็นนกที่บินได้จริง มีความเงียบสงบได้อยู่กับความสวยงามของธรรมชาติมากกว่า

แต่ยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่มีต้นทุนสูงทั้งในแง่ของอุปกรณ์ ค่าขนย้ายเดินทาง และเวลาที่จะต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยในการเล่นของตัวเอง

กีฬาร่มร่อนล่องนภาท้าใจ

เริ่มจากอุปกรณ์ที่ใช้ก็คือร่มร่อนที่มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน แต่อาจจะลดต้นทุนได้ด้วยการใช้ของมือสองบางอย่างที่มีอายุใช้งานยาวนาน ไม่เสียหายง่าย ส่วนตัวร่มร่อนและสายต่างๆ แนะนำให้ใช้มือหนึ่ง ต่อมาคือการหาครูฝึกสอนซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ฝึกจนกว่าจะชำนาญแล้วจึงต้องไปขอใบอนุญาตการบิน เพราะจัดเป็นอากาศยานขนาดเบา

สมัยก่อนร่มร่อนยังไม่แพร่หลายการบินจำกัดเฉพาะคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่เมื่อมีการบินกันมากขึ้นก็จำเป็นต้องมีการคุมกำกับดูแล เพราะอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเหมือนกับปัญหาการใช้งานเครื่องโดรนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ในเรื่องอุปกรณ์การบินก็มีอายุการใช้งานและต้องได้รับการตรวจสอบเหมือนกับเครื่องบิน ที่สำคัญที่สุดก็คือร่มร่อนอายุใช้งานประมาณ 300 ชั่วโมงบิน หลังจากนี้ก็จะเริ่มตั้งลำยาก ควบคุมบังคับได้ไม่ดีควรทิ้งแล้วซื้อใหม่เพื่อความปลอดภัย

กีฬาร่มร่อนล่องนภาท้าใจ

ส่วนมากแล้วร่มร่อนเป็นกีฬาที่มีความปลอดภัยสูง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติทางการบิน ไม่ต่างจากเครื่องบิน ที่ต้องมีทีมช่างดูแลให้เครื่องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน นักบินต้องมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการพักผ่อนร่างกายและดูแลตัวเองให้ดีพอ เลือกร่มที่เหมาะสมกับตัวเอง

ห้ามบินในเขตห้ามบิน เช่น สนามบินเขตฐานทัพทหาร ห้ามบินเกินความสูง 500 ฟุต หรือบินในวันที่สภาพอากาศเลวร้ายเช่น มีฝนตก หมอกลง ทัศนวิสัยไม่ปกติ บินตอนกลางคืน ห้ามบินหากสภาพร่างกายและอุปกรณ์ไม่พร้อมไม่มีวิทยุติดต่อสื่อสาร หรือบินเพียงลำพัง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นร่มร่อนต้องตระหนัก โดยเฉพาะสภาพลมหากแรงเกินไปก็ไม่สามารถเล่นได้ ไม่เหมือนกับร่มบินและแฮงไกล์ดิ้ง ที่สามารถบินได้แม้จะมีกระแสลมแรงเกิน 40 กม./ชม.

แต่ส่วนมากแล้วจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเวลาเล่นมักจะเล่นกันเป็นกลุ่ม เวลามีปัญหาจะได้ช่วยเหลือกันได้ รวมทั้งมีทีมช่วยเหลืออยู่ด้านล่าง เช่น ขับรถมาส่งบนภูเขาแล้วมีทีมงานรับอยู่ด้านล่าง กำหนดจุดร่อนและจุดแลนดิ้งที่ชัดเจน

กีฬาร่มร่อนล่องนภาท้าใจ

หากทำได้เช่นนี้กีฬาร่มร่อนก็พร้อมเปิดรับให้ทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ด้านการบินด้วยตัวเอง และยังได้ความรู้เอาไปต่อยอดการเล่นกีฬาทางอากาศอื่นๆ เช่น ร่มบิน สำหรับการบินระยะไกลได้อีกด้วย