posttoday

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

26 กรกฎาคม 2561

ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกที่กำจัดได้ยาก ทำยังไงก็ไม่หมดไปจากโลกนี้สักที

เรื่อง ภาดนุ

ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกที่กำจัดได้ยาก ทำยังไงก็ไม่หมดไปจากโลกนี้สักที เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยตระหนักถึงพิษภัยของมันที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมทั้งชีวิตมนุษย์และสัตว์

หากจะกำจัดพลาสติกให้ลดน้อยลงหรือค่อยๆ หมดไป นอกจากจะต้องร่วมมือกันเปลี่ยนวิถีการบริโภคและวิธีกำจัดขยะอย่างถูกต้องแล้ว เรายังต้องร่วมมือกันเพื่อคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาวิกฤตจากขยะพลาสติกกันอย่างจริงจังซะที

เหมือนอย่างที่ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ร่วมกับบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) พัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) ที่ได้ประกาศความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการกำจัดขยะพลาสติกแบบถาวรและนำไปใช้ประโยชน์ได้ขึ้นมา

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เผยว่า ที่ผ่านมา MQDC มุ่งมั่นที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถใช้วัสดุแปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว ตลอดจนเศษวัสดุต่างๆ จากท้องทะเลมาใช้ในโครงการอสังหาฯ ประเภทบ้านและคอนโดอยู่แล้ว

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

“นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง (Upcycling) เป็นวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ โดยการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทำให้เป็นวัสดุใหม่ที่สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง ซึ่งกลยุทธ์การจัดการขยะพลาสติกนี้สอดคล้องกับปรัชญาของเราที่ว่าด้วยนวัตกรรมยั่งยืนเพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน (Sustainnovation for all well-being) ซึ่งหมายรวมถึง มนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ดังนั้น MQDC ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาฯ รายแรกที่มุ่งมั่นในการนำวัสดุจากขยะพลาสติกมาใช้ในการพัฒนาโครงการของเราทุกๆ แห่งทั่วโลก จึงหวังว่าความร่วมมือระหว่าง MQDC และ GC นี้จะช่วยปลุกกระแสให้มีการนำวัสดุใหม่นี้มาใช้ในรูปแบบต่างๆ อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้ได้”

วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร GC ให้ความเห็นว่า วัสดุก่อสร้างอัพไซคลิ่งจะเป็นวัสดุที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต…“GC ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และริเริ่มโครงการ Upcycling Plastic Waste ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของจีซีสู่ธุรกิจอสังหาฯ เนื่องจากวัสดุเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งช่วยจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่คงทน แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงหวังว่าผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ รายอื่นๆ จะหันมาสนใจใช้วัสดุนี้กันมากขึ้น”

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC และผู้อำนวยการศูนย์ Scrap Lab มก. ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาฉลาก Upcycle ของประเทศไทย เผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมสร้างประสบการณ์ครั้งสำคัญให้กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และยังช่วยให้วัสดุที่ผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเมืองไทย ที่สำคัญยังนำไปใช้ในงานออกแบบโดย Scrap Lab คณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อีกด้วย

“นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง คือการให้ชีวิตใหม่กับของเหลือทิ้ง โดยการแปรรูปให้เป็นวัสดุที่นำมาใช้งานได้ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ เมื่อก่อนเราได้รู้จักคำว่า ‘รียูส’ กับ ‘รีไซเคิล’ กันมาแล้ว ซึ่งการรียูสก็คือการใช้ซ้ำ ส่วนรีไซเคิลคือการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่อัพไซคลิ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างการรียูสกับรีไซเคิล ซึ่งการรียูสนั้นคุณภาพของวัสดุจะไม่ต่ำลง แต่การรีไซเคิลนั้นคุณภาพของวัสดุที่ได้มามีโอกาสต่ำลงจากเดิมมาก ดังนั้นนวัตกรรมอัพไซคลิ่งซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสองวิธีนี้จึงเกิดขึ้น จึงช่วยทำให้คุณภาพของวัสดุที่ได้มาดีขึ้นกว่าเดิม และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุให้แพงขึ้นด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันประเทศเรามีการสร้างเมืองใหม่ คอนโด และหมู่บ้านกันเยอะมาก แถมยังใช้วัสดุมหาศาล ฉะนั้นบทบาทสำคัญของศูนย์ RISC ก็คือ มีหน้าที่ลดผลกระทบจากการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ โดยมีนักวิชาการเข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าขึ้นมา แล้วเราพบว่าขยะจากท้องทะเลนั้นมีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โฟม หรือไนลอน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นขยะสะอาด ฉะนั้นในฐานะที่ RISC เป็นศูนย์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรใหญ่อย่าง MQDC เราจึงมองว่าศูนย์นี้มีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง”

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

รศ.ดร.สิงห์ บอกว่า ขยะที่นำมาเข้ากระบวนการอัพไซคลิ่งนี้ สามารถทำเป็นอิฐบล็อกที่ใช้ตามพื้นถนนหรือขอบถนนตามทางเข้าหมู่บ้าน เฟอร์นิเจอร์ แท็งก์น้ำ ม่าน พรม ฝ้าเพดาน กระเบื้องยางปูพื้น ฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันเสียง และวัสดุอื่นๆ อีกสารพัด ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะมีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก 

“นอกจากการนำขยะพลาสติกมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ยังต้องพึ่งพาการออกแบบควบคู่กันไปด้วย เพราะหากทำออกมาแล้วหน้าตาวัสดุที่ได้ดูไม่สวย ไม่น่าใช้ ก็สร้างมูลค่าให้กับวัสดุนั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องทำให้ทั้งสวยและคุณภาพดีไปพร้อมกัน

เราจึงร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยมี GC ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อเพิ่มการรับรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้อง และร่วมพัฒนากระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับพลาสติกเหลือใช้หรือเก็บขยะจากท้องทะเลมาแปรรูปอยู่แล้ว ในขณะที่ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ, ศูนย์ RISC, มทร.ธัญบุรี, ศูนย์นวัตกรรม และ CSC (Customer Solution Center) ของ GC จะร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมในการแปรรูปขยะ จากนั้นทาง MQDC ก็จะนำวัสดุที่ได้มาใช้ในโครงการก่อสร้างคอนโดและหมู่บ้านอีกที ซึ่งการร่วมมือกันของทุกฝ่ายนี้จะช่วยสร้างมิติใหม่ในการกำจัดขยะพลาสติกเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพิทักษ์ระบบนิเวศของเราไปด้วยในตัว”

รศ.ดร.สิงห์ เสริมว่า นอกจากองค์กรต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ในอนาคตเขาอยากเห็นบริษัทเอกชนซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างบ้านและคอนโดหันมาให้ความร่วมมือกับศูนย์ RISC ด้วยเช่นกัน

“ลองคิดดูว่า ถ้าบริษัทเอกชนทุกแบรนด์หันมาร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมอัพไซคลิ่งต่อไป ก็น่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้เยอะเลย ยิ่งถ้าได้ความร่วมมือจาก กทม.เสริมเข้าไปด้วยนะ ผมคิดว่าผลจะต้องออกมาดีกว่านี้แน่นอน

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

สำหรับโครงการ Upcycling Plastic Waste ที่เราร่วมมือกันทำนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยลดขยะพลาสติกลงเท่านั้น แต่จำนวนพลาสติกเหลือใช้ยังมีอีกมหาศาล เราจึงอยากให้ทุกคนหันมาร่วมมือกันตั้งแต่การกำจัดขยะพลาสติกให้ถูกต้องเสียก่อน ถ้าทุกคนลงมือทำ ผมเชื่อว่าปัญหาขยะพลาสติกในบ้านเราต้องดีขึ้นแน่ๆ ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนจะร่วมมือกันมั้ยเท่านั้น”

รศ.ดร.สิงห์ ทิ้งท้ายว่า RISC คือศูนย์วิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปสามารถเดินเข้ามาได้ทุกเมื่อ ถ้าต้องการคำปรึกษาหรือต้องการความช่วยเหลือ หรือถ้าใครมีไอเดียสร้างสรรค์ด้านการทำธุรกิจก็สามารถเข้ามานำเสนอโครงการหรือนำเสนอไอเดียได้ เพราะที่ศูนย์นี้จะมีนักวิจัยที่มีความรู้คอยดูแลและให้คำปรึกษาอยู่เสมอ

สำหรับ ประชุม คำพุฒ ผู้อำนวยการหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา บอกว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้วัสดุใหม่ซึ่งแปรรูปจากขยะพลาสติกเกิดขึ้นในท้องตลาดได้อย่างเป็นจริง

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

“นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง มีกระบวนการที่เริ่มจากการนำขยะพลาสติกที่ได้จากทะเลและในชุมชนมาทำความสะอาดก่อน จากนั้นจึงนำมาผ่านกระบวนการบดย่อยด้วยเครื่อง แล้วกรองผ่านตะแกรงขนาด 4 มม. หรือ 8 มม.ภายในโรงงาน จนได้ขนาดพลาสติกที่เหมาะสมเพื่อนำไปแทนมวลโดยรวมของหินในการทำอิฐบล็อก แต่อาจต้องใช้พลาสติกบดในปริมาณที่มากสักหน่อย (แทนที่หินมากกว่าครึ่ง) เนื่องจากมีน้ำหนักเบา โดยนำมาผสมกับทราย ซีเมนต์ และน้ำในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ก็จะสามารถนำมาผลิตเป็นอิฐบล็อก (รักษ์โลก) ได้

เท่าที่ผ่านมา เราสามารถผลิตได้ทั้งอิฐบล็อกซึ่งเป็นวัสดุเอาต์ดอร์ ต่อไปก็อาจจะพัฒนาเป็นผนังภายในอาคารบ้านเรือนได้ หรือหากบดให้ละเอียดมากๆ ก็อาจนำไปทำไม้อัดเทียมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งคนทั่วไปอาจจะมองว่าวัสดุเหล่านี้เป็นขยะพลาสติกนะ แล้วมันจะทนทานเหรอ? แต่รู้มั้ยว่าในมุมมองของการก่อสร้างแล้ว พลาสติกเหล่านี้เมื่อนำไปผสมกับทราย หิน ซีเมนต์แล้ว มันก็จะเป็นคอนกรีตเสริมเส้นใยโพลีเมอร์ดีๆ นี่เอง แล้วจะมีความทนทาน ความเหนียว และมีโมเลกุลที่ยึดเหนี่ยวได้ดีขึ้น แถมน้ำหนักยังเบากว่าอิฐที่ผสมด้วยหินและทรายเท่านั้นอีกด้วย”

ประชุม เสริมว่า สำหรับการร่วมมือกันครั้งนี้ GC จะเป็นผู้สนับสนุนขยะพลาสติกที่ได้มาจากชุมชนและท้องทะเลเป็นหลัก โดยมีพาร์ตเนอร์เป็นโรงงานผลิตวัสดุอัพไซคลิ่งซึ่งอยู่แถวรังสิต คลอง 5 เป็นผู้ผลิตให้อีกที

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า

“ในมุมมองของผมแล้ว นวัตกรรมอัพไซคลิ่งนี้นอกจากจะใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกทั่วไปได้แล้ว ยังสามารถตอบโจทย์ในการกำจัดขยะพลาสติกอีก 20% ที่เหลือซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้อีกด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฉลากหรือฟิล์มพลาสติกข้างๆ ขวดน้ำ ซึ่งเราสามารถนำมาเข้าในกระบวนการอัพไซคลิ่งได้ แล้วผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ สามารถช่วยลดปริมาณการใช้หินและใช้ปูนซีเมนต์ลงได้ แล้วตอนนี้ มทร.ธัญบุรี ยังสามารถนำขยะพลาสติกบางส่วนมาผ่านกระบวนการทดลองแปรรูปให้เป็นน้ำมันสำหรับเติมรถยนต์ได้อีกด้วย

สำหรับโครงการ Upcycling Plastic Waste ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันนี้ แม้จะไม่สามารถช่วยกำจัดขยะโดยเฉพาะพลาสติกให้หมดไปได้ในตอนนี้ แต่ผมยังเชื่อว่าจะสามารถสร้างความตระหนักในเรื่องของการปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนเราได้มากขึ้น เรียกว่าเป็นโครงการที่ช่วยเสริมการรณรงค์จากภาคส่วนอื่นๆ อีกที แม้คนจะทิ้งขยะพลาสติกโดยไม่แยกชนิดเลยก็ตาม แต่ถ้านำมาผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่งเมื่อไร ก็จะสามารถนำมาบดและผสมให้เป็นอิฐบล็อกหรือทำเป็นผนังในอาคารต่างๆ ในอนาคตได้

ให้นึกถึงขวดน้ำ 1 ขวดซึ่งเราไม่ต้องเสียเวลามาแยกทิ้งฝาและตัวขวดออกจากกัน เพราะสามารถนำมาผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่งได้เลย ซึ่งในอนาคตยังสามารถส่งเสริมให้ทำในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปซะใหม่ว่า วัสดุเหล่านี้ไม่ใช่ขยะอีกต่อไปแล้วนะ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีสารพิษตกค้างและเป็นอันตราย เพราะเมื่อผ่านกระบวนการทำเป็นอิฐหรือผนังอาคารแล้ว วัสดุเหล่านี้ยังมีคอนกรีตอีกชั้นที่กั้นอยู่ จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่า