posttoday

ศรัณย์+ณัฐชญา ไมตรีเวช ทำธุรกิจแบบสายกลางพอดีๆ

21 กรกฎาคม 2561

มักได้ยินคำกล่าวตามแนวความคิดแบบศาสนาพุทธว่า คนที่จะอยู่กันได้นั้นมักจะมีธรรมะเสมอกัน

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

มักได้ยินคำกล่าวตามแนวความคิดแบบศาสนาพุทธว่า คนที่จะอยู่กันได้นั้นมักจะมีธรรมะเสมอกัน คนที่มาเจอกันเกี่ยวข้องกันไม่ว่าทางใดทางหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ต้องเคยทำบุญหนุนนำร่วมกันมา

เช่นเดียวกับบุคคลคู่นี้ โดยหน้าที่การงานแล้วทั้งคู่เติบโตกันมาคนละทางไม่น่าจะมาบรรจบกันได้ แต่เขาก็ได้มาเจอกันได้ ศรัณย์ กับ ณัฐชญา ไมตรีเวช

ศรัณย์+ณัฐชญา ไมตรีเวช ทำธุรกิจแบบสายกลางพอดีๆ

ฝ่ายชายนั้นเป็นนักเขียนดังในแนวธรรมะ ใช้นามปากกาว่า “ดังตฤณ” ส่วนฝ่ายภรรยานั้น เป็นแพทย์ทางด้านผิวพรรณและความงาม เจ้าของคลินิก ณัฐชญา คลินิก ผู้ให้บริการความงามแบบครบวงจรทั้งการใช้เครื่องไม้เครื่องมือจากเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาช่วยในการรักษา ขณะเดียวกันก็ยังให้การรักษาแบบธรรมชาติบำบัดแบบองค์ร่วมกันไปด้วย ซึ่งมีแนวคิดในการทำธุรกิจที่ต้องควบคู่กับจรรยาบรรณทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

ทั้งสองได้พบกัน เพราะมีสายธรรมะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ เนื่องจากพี่สาวของศรัณย์ ได้ไปปฏิบัติธรรมและทำบุญที่วัดแห่งเดียวกับที่คุณหมอสาวไปปฏิบัติธรรมเช่นกัน จึงแนะนำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกัน และทั้งคู่มีแนวคิดมุมมองความคิดในทางธรรมและการใช้ชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน แม้วัยจะต่างกันถึง 10 กว่าปี ก็ไม่ใช่อุปสรรค การได้พูดคุยดูใจกันหลายปีจึงแต่งงานกันมานานกว่า 10 ปี จนมีลูกชายวัย 7 ขวบ เป็นโซ่ทองคล้องใจทั้งคู่วัยด้วยกัน

“เราสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีผมเขียนหนังสือทำงานที่บ้าน ภรรยาไปทำงานที่คลินิกต่างคนต่างมีทางของตัวเอง มีความเหมือนกันเพื่อให้เข้าใจกัน มีความต่างกันเพื่อให้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ศรัณย์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ภรรยาสนับสนุนเส้นทางธรรมเป็นอย่างดี

ศรัณย์+ณัฐชญา ไมตรีเวช ทำธุรกิจแบบสายกลางพอดีๆ

ศรัณย์ บอกว่าแต่เดิมนั้นเขาไม่คิดจะแต่งงานเลย คิดว่าบั้นปลายจะบวชเป็นพระ จึงอยู่เป็นโสดมานานถึง 40 ปี จึงมาเจอเธอและเห็นในแนวทางการใช้ชีวิตของภรรยาว่ามีความสนใจในหลักทางธรรมเช่นเดียวกัน ตอนที่เริ่มคบหาดูใจกันก็บอกว่า เขาเป็นผู้สนใจธรรมะทำงานเกี่ยวกับธรรมะ ไม่มีความหวือหวา ไม่มีสีสันในชีวิต ไม่โรแมนติก ไม่เที่ยวสรวลเสเฮฮา ใช้ชีวิตอยู่ในความสงบและเรียบง่าย และถ้าหากแต่งงานแล้วไม่มีลูกก็ขอไปบวชในช่วงบั้นปลายชีวิต

“การทำงานการต่างๆ ของผมก็จะไม่สะสมเงินทองมากมาย เพื่อกินเพื่อใช้ไปพอสมควรแก่เหตุ อีกครึ่งหนึ่งก็เพื่อทำบุญแบ่งปันสะสมบุญมากกว่าสะสมเงิน ถ้าใครจะมาร่วมชีวิตต้องเข้าใจตรงกัน ซึ่งโชคดีมากที่เธอเข้าใจความตั้งใจของผม เราจึงไปกันได้ด้วยดี ไม่ต้องมาทุกข์ร้อนใจ เพราะเห็นไม่ตรงกันก็จะทำให้ชีวิตคู่มีแต่เรื่องร้อนใจ” ศรัณย์ เล่าอย่างจริงจัง

ในขณะที่เรื่องงานของเธอเขาก็สนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งการให้แนวคิดหรือส่งเสริมเงินทุนอย่างสมเหตุสมผล เพราะเข้าใจว่าพวกเรายังเป็นคนที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพ มีลูกน้องต้องดูแล การทำบุญก็ต้องทำบ้าง เรียกว่าทางโลกไม่ให้ช้ำ ทางธรรมไม่ให้เสื่อม ทั้งสองอย่างนี้สามารถทำควบคู่กันไปได้

“คืองานก็ต้องทำ แต่เราก็ไม่อยากให้ภรรยาอยู่กับตัวเลขบัญชีขาดทุนไปทั้งชีวิต ผูกกับตัวเลขตลอดเวลาชีวิตก็ไม่เหลืออะไรสุดท้ายตัวเลขนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้านำตัวเลขนั้นไปทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วยมันก็มีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ”

สามีเป็นที่พึ่งทางใจได้เป็นอย่างดี

ศรัณย์+ณัฐชญา ไมตรีเวช ทำธุรกิจแบบสายกลางพอดีๆ

ฝ่ายคุณหมอภรรยา กล่าวว่า เธอเป็นผู้หญิงทำงานที่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้ แต่สามีนั้นถือเป็นที่พึ่งทางใจเวลามีเรื่องไม่สบายใจต่างๆ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

“เมื่อได้คุยได้ปรึกษากับสามี เขาจะมีคำแนะนำที่ทำให้เธอสบายใจ ทุเลาความเครียดออกไปได้มาก เขาจะมีเมตตาธรรมอยู่มาก วิธีคิดมุมมองไม่เอาเปรียบใคร เขาจะสอนให้ไม่โกง ไม่เอาเปรียบ อย่าเห็นแก่ตัว แต่แนะนำให้เราทำงานโดยไม่ผิดศีลห้า ทำงานให้พอดี เดินสายกลาง จะส่งผลดีในระยะยาวได้ทำงานด้วยหัวใจที่เปี่ยมสุข อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง เอาความสุขความถูกต้องเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะยั่งยืนในระยะยาว”

คุณหมอ กล่าวว่า มองภาพตัวเองในอนาคตภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ จะทำงานให้ดีมีคุณภาพและสามารถใช้หนี้ที่เอามาทำธุรกิจหมด และคลินิกดำเนินการด้วยตัวเองได้และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาดูแล จนธุรกิจดำเนินไปได้เอง เธอก็จะค่อยๆ วางมือและจะไปช่วยสามีทำงานเพื่อมูลนิธิ “บูรณะพุทธ” เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแก่คนรุ่นใหม่ที่ขาดโอกาส ทำสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กชาวเขาต่างๆ

“บ้านรถ เงินทอง ได้แค่ชาตินี้ แต่ความดีบุญกรรมต่างๆ จะตามไปถึงชาติหน้า เราจึงสะสมเงินตามสมควร แล้วก็สะสมความดีสะสมบุญไปควบคู่กัน”

นอกจากทำคลินิกด้านผิวพรรณแล้ว เธอกับสามียังลงทุนร่วมกันเปิดสำนักพิมพ์ชื่อ How far เพื่อพิมพ์หนังสือธรรมะและการ์ตูนธรรมะเพื่อเผยแพร่ธรรมะให้กับเด็กๆ และเยาวชน ในรูปแบบที่ทันสมัยเข้ากับเหตุการณ์ เพราะชื่อว่าธรรมะเป็นของดีใช้เป็นวัคซีนใจให้เด็กๆ เอาไว้ใช้ดำเนินชีวิต

ทั้งเธอและสามีเชื่อว่าการสอนธรรมะควรสอนกันแต่เด็กๆ เพราะไม้อ่อนดัดง่าย อย่ารอให้โตแล้วค่อยสอนซึ่งอาจจะสายเกินไป