posttoday

ภัยธรรมชาติอันตราย ถึงเวลาฝึกหัดเอาตัวรอด

19 กรกฎาคม 2561

ครึ่งปีหลังมีแต่ข่าวภัยพิบัติ โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราดของกระแสน้ำที่โถมซัดสร้างรอยน้ำตา ทั้งเหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชั

ครึ่งปีหลังมีแต่ข่าวภัยพิบัติ โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราดของกระแสน้ำที่โถมซัดสร้างรอยน้ำตา ทั้งเหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง เรือล่มกลางอันดามัน และญี่ปุ่นเจอน้ำท่วมหนักคร่ากว่า 200 ชีวิต กลายเป็นวิกฤตทางความคิดระหว่างคนกับน้ำ อุบัติเป็นความกลัวและหวาดหวั่นต่อความรุนแรงและเฉียบพลัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกคนถึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ และเอาตัวรอดกับสิ่งที่ไม่อาจเอาชนะอย่างธรรมชาติ เพราะไม่มีใครรู้ว่า วันหนึ่งอาจเป็นคิวของเราต้องตกในสถานการณ์ลำบาก

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ภัยธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้เรียกว่า ความผิดปกติ แต่คือ “ความแปรปรวน” ของสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ได้ยาก

“ตั้งแต่ต้นปีเราอยู่ในสถานการณ์เปียกหรือภาวะลานินญา คือ มีฝนดี แต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วเรากลับเข้าไปสู่ปรากฏการณ์แล้ง ซึ่งทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดการแปรปรวน ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงสลับปกติเพราะได้รับอิทธิพลมาจากพายุในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งความแปรปรวนเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต”

ภัยธรรมชาติอันตราย ถึงเวลาฝึกหัดเอาตัวรอด ภาพ : ทัพเรือภาคที่ 3

สำหรับบทเรียนของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ดร.เสรี มองว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางของพื้นที่ เนื่องจากก่อนเกิดเหตุมีฝนตกต่อเนื่อง 2 วัน และเมื่อมีฝนตกมากกว่า 80 มิลลิเมตรจะเกิดน้ำหลาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติงานก่อนเกิดภัยมี 2 อย่าง คือ การเตรียมการป้องกัน และการเตรียมพร้อมรับภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขียนอยู่ในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2550 ที่ให้แต่จังหวัดประเมินพื้นที่เสี่ยงและเขียนแผนในการป้องกันและรับภัยให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ แต่ประเด็นคือ “เราทำกันหรือเปล่า”

เหตุการณ์เรือล่มกลางทะเลภูเก็ต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติได้เปิดข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ค. สภาพภูมิอากาศยังปกติคือ ลมมรสุมมีความแรงประมาณ 10 ไมล์ทะเล แต่ปรากฏว่าวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุเรือล่ม ลมมรสุมมีความแรงขึ้นเป็น 30 ไมล์ทะเล

“กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแล้วว่าจะมีคลื่นสูง แต่เป็นการประกาศปกติ ไม่ได้ประกาศแยกออกไปว่าจะมีลมมรสุมรุนแรงมากขึ้น 3 เท่า จึงไม่เกิดการตระหนักหรือแวดระวัง ในขณะเดียวกันคนเรือที่ออกเรือทุกวันก็ไม่คาดคิดว่า วันที่ 5 ก.ค. จะเจอกับความแปรปรวน ซึ่งผมคิดว่า ความตระหนักเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการอบรม”

ภัยธรรมชาติอันตราย ถึงเวลาฝึกหัดเอาตัวรอด ภาพ : เอพี

ดร.เสรี ให้ข้อมูลด้วยว่า โดยทั่วไปคนเรือจะมีแนวปฏิบัติ คือ การออกเรือทุกครั้งความสูงของคลื่นต้องไม่มากกว่าร้อยละ 30 ของความยาวเรือ เช่น เรือยาว 20 เมตร จะรับคลื่นได้ไม่เกิน 6 เมตร แต่ความสูงของคลื่นที่กรมอุตุวิทยาประกาศเรียกว่า ค่าเฉลี่ย ซึ่งในความเป็นจริงคลื่นจะมีความสูงสูงสุดมากกว่าค่าเฉลี่ย 1.5-2 เท่า ทำให้คนเรือไม่ทราบหรือไม่ตระหนักพอ ส่งผลให้ประเมินประสิทธิภาพของเรือผิดพลาดและก่อให้เกิดความสูญเสียในที่สุด

เหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่นก็เป็นอีกเรื่องที่กำลังติดตาม เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก คือ จากภัยธรรมชาติซึ่งเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีไต้ฝุ่นพระพิรุณขึ้นฝั่งญี่ปุ่นในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งพายุลูกนี้ได้ทำให้เกิดความชื้นสูง ในขณะเดียวกันช่วงวันที่ 5-7 ก.ค. ได้เกิดแนวปะทะอากาศระหว่างอากาศเย็นและอากาศร้อนพาดผ่านตอนใต้ของญี่ปุ่นพอดี เมื่อไปรวมกับความชื้นที่มีอยู่จึงทำให้เกิดฝนตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ตามมา

สาเหตุที่ 2 ดร.เสรี ได้อ้างอิงตามข้อมูลว่า ในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีการสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นมากในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และผู้ที่มาอาศัยนั้นไม่ใช่คนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ได้เรียนรู้และตระหนักถึงเรื่องระบบเตือนภัยหรือการอพยพหนีภัยดีนัก

ภัยธรรมชาติอันตราย ถึงเวลาฝึกหัดเอาตัวรอด ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ

“ผมคิดว่าตอนนี้เป็นเรื่องจำเป็นแล้ว ที่นักท่องเที่ยวต้องใส่ใจประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะเป็นประกาศแบบวงกว้าง แต่ถ้าเราต้องการทราบข้อมูลที่แคบลงสามารถเสิร์ชข้อมูลสภาพอากาศในอินเทอร์เน็ตได้เลย ในตอนนี้ข้อมูลด้านสภาพอากาศมีมากเหลือเกิน เราจึงไม่ต้องรอฟังจากประกาศเพียงอย่างเดียวแต่ยังสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ บทเรียนที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของรัฐ คือ รัฐต้องประเมินพื้นที่และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ” ดร.เสรี กล่าว

ด้านหน่วยงานด้านความปลอดภัยอย่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เป็นอีกหน่วยงานที่ได้ถอดบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง จนนำไปสู่การร่างหลักสูตรสอนในโรงเรียน เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้การรับมือกับภัยพิบัติ การเอาตัวรอด และการรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ล่าสุด หลังจากระดมความคิดเห็นกับหลายภาคส่วนได้คลอดร่างคู่มือต้นแบบ 7 หลักสูตร ประกอบด้วย หนึ่ง หลักสูตรเรียนรู้การเอาตัวรอดจากการเดินเท้าทั้งบนฟุตปาท ทางเดิน หรือแม้กระทั่งการข้ามถนน สอง หลักสูตรเรียนรู้และรับมือกับโรคจิตเวชทั้งภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียดที่พบบ่อยขึ้นในเด็ก สาม หลักสูตรการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

สี่ หลักสูตรเรียนรู้ภาวะหัวใจขาดเลือด ห้า หลักสูตรการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัยและเหตุอุทกภัยในทุกกรณี หก หลักสูตรการทำซีพีอาร์ (CPR) หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น และเจ็ด หลักสูตรการใช้งานเครื่อง AED เบื้องต้น ซึ่งขณะนี้เนื้อหาทั้งหมดได้ทำเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละวัยและแต่ละชั้นเรียน

ภัยธรรมชาติอันตราย ถึงเวลาฝึกหัดเอาตัวรอด ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ยังได้ถอดบทเรียนเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 47 ราย ระบุว่า หากกล่าวถึงการป้องกันเบื้องต้น ประชาชนทุกคนควรเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ รู้จักวิธีการร้องขอความช่วยเหลือ เช่น การโบกมือขึ้นลงเหนือศีรษะ ร้องตะโกน และรู้วิธีลอยตัวในน้ำ เช่น การฝึกลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ และที่สำคัญคือต้องมีสติไม่ตกใจ

ในด้านของผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำและต้องการเข้าให้ความช่วยเหลือ เบื้องต้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นสำคัญก่อน โดยวิธีที่ถูกต้องคือ “ตะโกน โยน ยื่น” กล่าวคือ ตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ จากนั้นหาวัสดุลอยน้ำโยนให้เกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์หรือหาสิ่งของให้ผู้ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย ทั้งนี้ ต้องประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของน้ำโดยเฉพาะในทะเลที่มีคลื่นลมแรง

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวด้วยว่า ส่วนใหญ่เสื้อชูชีพที่ใช้ตามเรือท่องเที่ยวจะเป็นเสื้อพยุงตัว ไม่ใช่เสื้อชูชีพแท้ที่ออกแบบไว้ให้นอนหงายตลอดเวลา โดยเสื้อชูชีพจะพยุงตัวผู้ตกน้ำได้นาน 3-6 ชั่วโมง หรือหากมีคุณภาพดีจะลอยตัวได้นานเป็นวัน ขณะเดียวกันผู้ตกน้ำต้องพยายามลอยตามน้ำให้ได้ ตะโกนให้คนช่วย หรือเป่านกหวีดที่ติดมากับชูชีพ และอย่าพยายามว่ายเข้าฝั่งเพราะจะทำให้หมดแรง

“ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด หากช่วยเหลือผู้ประสบเหตุขึ้นมาได้แล้วให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้กดนวดหัวใจช่วยฟื้นคืนชีพ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เองหรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ภัยธรรมชาติอันตราย ถึงเวลาฝึกหัดเอาตัวรอด รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ 

ด้าน ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้กล่าวถึงการดูแลมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวว่า อพท.ได้ยึดถือและปฏิบัติตาม “เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก” (GSTC-Global Sustainable Tourism Criteria) แบ่งเป็น 4 หมวด หนึ่งในนั้นคือ หมวดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งในหมวดนี้มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว และเรื่องการจัดการสภาวะวิกฤตและเหตุฉุกเฉินร่วมอยู่

“หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวต้องไปประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างระบบการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว โดยจะดูแลทั้งด้านการป้องกัน การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ และการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่พิเศษสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทันสถานการณ์ ทำให้ลดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต”

เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อพท.ได้ร่วมมือกับ สพฉ. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่พิเศษและเริ่มดำเนินการไปแล้ว ยกตัวอย่าง กิจกรรมการกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่พิเศษเลย และการฝึกอบรมกู้ภัยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาภายใต้ชื่อ “EMS ชาวเกาะ” ในวันที่ 25-26 ก.ค. 2561 ณ เกาะช้าง จ.ตราด โดยจะเชิญหน่วยงานด้านความปลอดภัยตามเกาะต่างๆ ทั่วประเทศไทยมาประชุมและทำเวิร์กช็อปร่วมกัน ว่าด้วยเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

“ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยวมีความรับผิดชอบ ไกด์มีความรับผิดชอบ และตัวนักท่องเที่ยวเองมีความรับผิดชอบ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและหลีกเลี่ยงความสูญเสียหรือความเสียหายได้” รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวทิ้งท้าย

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเวลาไล่เลี่ยกัน อาจกล่าวได้มนุษย์กำลังอยู่ท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเล่นงานอย่างแสนสาหัส และคงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องฝึกหัดการเอาตัวรอด ทั้งขึ้นเขา ลงน้ำ หรือเข้าถ้ำ อย่างน้อยก็ทำให้ตัวเองมีชีวิตรอด และอาจช่วยให้อีกหลายคนรอดชีวิต