posttoday

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ เบรกชีวิตให้ช้าด้วยธรรม

15 กรกฎาคม 2561

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัย 49 ปี เล่าให้ฟังถึงชีวิตช่วงก่อนติดเบรก ชีวิตที่ผ่านมา ถ้าจะถามว่าทำอะไรผิดพลาดมาบ้าง คงบอกไม่ได้ทั้งหมด ชีวิตของคนย่อมผ่านวิกฤตชีวิตในแต่ละช่วงวัย เมื่อเผชิญปัญหา ตัดสินใจผิดบ้าง ถูกบ้าง ถือว่าเป็นบทเรียน ทำให้เรียนรู้และมีเส้นทางชีวิตมาถึงจุดนี้

“มองชีวิตที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะไม่รู้จักตัวตนของตัวเอง ไม่เคยตั้งเป้าหมายของชีวิต ใช้ชีวิตเลียนแบบและทำตามคนอื่น ไม่มีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต พยายามแสวงหาความต้องการตอบสนองความสุขภายนอกให้กับตัวเองตลอดเวลา แต่ก็ไม่พบความสุขที่แท้จริงให้กับตัวเอง ทำให้ตั้งคำถามให้กับตัวเองตลอดเวลาว่า ชีวิตเราต้องการอะไร ทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่ามากกว่านี้” ดร.กมลาศ เล่า

ดร.กมลาศ เล่าว่า เมื่อก่อนเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีอัตตาตัวตน อารมณ์ร้อน คิดไว ทำไว ไม่รู้จัก การรอคอย ใช้ชีวิตเร่งรีบตลอดเวลา จนกระทั่งตัดสินใจหลายเรื่องในชีวิตผิดพลาด เพราะความใจร้อนและใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหามากกว่าการใช้เหตุผล หากหลังจากได้รู้จักธรรมะ ชีวิตก็เปลี่ยนไป ได้ตั้งสติ ได้เรียนรู้ปฏิบัติ คงต้องกล่าวว่ามิติแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเหลือเชื่อ

“เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตลงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รู้สึกเป็นทุกข์มาก จากความทุกข์ใหญ่หลวงครั้งนั้น ทำให้หันมาศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ได้มีโอกาสอ่านธรรมนิยาม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ของ รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม และอ่านหนังสือแนวทางปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ทำให้มีจิตศรัทธา เข้าใจกฎแห่งกรรม การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้น”

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ เบรกชีวิตให้ช้าด้วยธรรม

จุดเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมของ ดร.กมลาศ คือ การได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี จากที่มีความศรัทธาหลวงพ่อจรัญฐิตธมฺโม อยู่ก่อน ก็ทำให้คลายความทุกข์ พบว่าการปฏิบัติธรรมทำให้ทุกข์น้อยลง ยังทำให้ได้พบกัลยาณมิตรดีๆ ที่สนใจการปฏิบัติธรรม เหนี่ยวนำให้เข้าถึงธรรม น้อมใจให้ใกล้ธรรม

“ตอนนั้นได้มีโอกาสพบพระวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่ง หลวงพ่อวีระนนท์ วีรนนฺโท เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช ท่านเป็นครูกรรมฐาน ที่สอนกรรมฐานอย่างจริงจัง และมีโอกาสสร้างกุศลกิจที่วัดนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงหนังสือธรรมะ การเข้าร่วมงานบุญต่างๆ สร้างพระ สร้างโบสถ์ จัดค่ายพุทธบุตร จัดโครงการปฏิบัติธรรม ทำให้เราได้เรียนรู้คนและเรียนรู้ธรรมะ ฝึกฝนจิตเราไปในตัว ถือว่าชีวิตเริ่มต้นอยู่ในวิถีธรรมที่วัดป่าเจริญราช”

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดร.กมลาศ เล่าว่า ชีวิตช้าลง ชีวิตยึดติดน้อยลง รู้จักตัวเองมากขึ้น จากคนอารมณ์ร้อน ก็รู้จักรอคอย รู้จักว่าสิ่งใดที่ควรจะ “เร่ง” เรื่องไหนที่ควรจะ “รอ” รู้จักคำว่า “พอ” รู้จักทบทวนตัวเอง ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดชัดเจนขึ้น รู้ตระหนักว่าควรปรับปรุงตัวอย่างไร จิตไม่หวั่นไหว ไม่ถูกกระทบง่ายเหมือนก่อน มีความเข้าใจตัวเอง มีความเข้าใจผู้อื่นไม่ตัดสินใจผู้อื่น หันมาพิจารณาตัวเองมากขึ้น เรียนรู้การเป็นผู้ให้และผู้รับ เรียนรู้การฝึกฝนใจ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ไม่ค่อยทุกข์กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จิตใจก็เข้มแข็งขึ้น ใคร่ครวญเรื่องราวในชีวิตได้ดีขึ้น มีความสนใจพัฒนาจิตใจตัวเองมากขึ้น

“นี่คือชีวิตหลังได้ผ่านกระบวนฝึกฝนทางธรรม การเข้าใจธรรมะคือกุญแจสำคัญ ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน”

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ เบรกชีวิตให้ช้าด้วยธรรม

สิ่งที่อยากแบ่งปันในมุมของชีวิตที่เปลี่ยนไป ดร.กมลาศ เล่าว่า ธรรมะคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่งดงามของแต่ละคน มีเส้นทางและการให้ความหมายที่แตกต่างกัน ข้อสำคัญคือ เรารู้จักความต้องการของตัวเอง เราฝึกทบทวนและตั้งคำถามให้บ่อยๆ ถึงความสุขในการใช้ชีวิตของเราว่าเป็นอย่างไร เป้าหมายชีวิตของเราเป็นอย่างไร เราเกิดมาเพื่ออะไร และทำประโยชน์เพื่อตนเอง เพื่อผู้อื่น และเพื่อสังคมอย่างไร

“อยากแบ่งปันว่า ถ้าเราลดพึ่งพาวัตถุภายนอกให้น้อยลง เราจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าชีวิตติดกับเงื่อนไขภายนอกมาก ก็จะมุ่งแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการแบบไม่มีสิ้นสุด อยากได้รถ อยากได้บ้าน อยากได้ตำแหน่ง ก็มักมองเป้าหมายที่ปลายทาง แต่ลืมฝึกให้ตัวเองพอใจกับสิ่งเรียบง่าย สุขจากสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปแสวงหาข้างนอก”

ชีวิตที่ช้าลงสำหรับ ดร.กมลาศ ยังหมายถึง การแบ่งเวลา การใช้ชีวิตให้สมดุล แบ่งเวลาทำงาน แบ่งเวลาพักผ่อน แบ่งเวลาในการศึกษาธรรมะ เช่น ไปทำบุญที่วัด ไปยังสถานที่ท่องเที่ยว โดยส่วนตัวชอบทั้งภูเขาและทะเล ถือเป็นการใช้ชีวิตให้มีความสุขแบบเรียบง่ายตามสไตล์ของตัวเอง สำหรับผู้สนใจแนวคิดเรื่องหลักธรรมในชีวิตประจำวัน ก็ขอแบ่งปันง่ายๆ ว่า สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข คือ การฝึกอยู่กับตัวเอง ฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบัน ฝึกคิดแต่เรื่องดีๆ ฝึกการคิดบวก คิดดี มองดีในทุกสถานการณ์

“ขอให้มองว่าทุกสิ่งในโลกนี้เป็นเรื่องธรรมดา ฝึกมองโลกตามความเป็นจริง ฝึกยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อฝึกคิดแบบนี้บ่อยๆ จิตใจจะสบาย ผ่องใสขึ้น พยายามไม่หมกมุ่นกับปัญหา แต่พยายามมองว่าทุกปัญหา คือ โอกาสที่ทำให้เราได้ฝึกปัญญา”

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ เบรกชีวิตให้ช้าด้วยธรรม

ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ใช่ชีวิตที่คนอื่นมองจากภายนอกว่า เราเป็นอย่างไร แต่ชีวิตที่เรียบง่าย คือชีวิตที่เราเป็นในสิ่งที่เราตระหนักรู้ เป็นชีวิตที่เราต้องการอย่างแท้จริง จะเป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องผ่านการฝึกฝนจิตของตัวเอง คือ ฝึกการรู้สึกตัวขณะทำงานหรือทำกิจกรรมในแต่ละวัน การฝึกจิตให้เบิกบานมีความสุขในใจ ถ้าสามารถฝึกความรู้สึกให้จิตยิ้มตลอดเวลา จะช่วยให้จิตแจ่มใส เตรียมพร้อมที่จะเผชิญปัญหาทุกสถานการณ์ได้ดีขึ้น

ดร.กมลาศ เล่าว่า โดยส่วนตัวแล้ว ถือว่าการทำงาน การใช้ชีวิต และการปฏิบัติธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แยกส่วนกัน พัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กัน ปัจจุบันอาชีพและการทำงานเกิดจากอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม ทำให้เดินมาถึงจุดนี้ การได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม ทำให้เข้าใจตัวเองว่า เป้าหมายชีวิตของตนเองคืออะไร และเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองค้นหาความหมายของชีวิตมาตลอดคืออะไร มีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น

ปัจจุบัน ดร.กมลาศ เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีบทบาทหน้าที่เป็นอาจารย์และนักวิจัย สอนวิชาเกี่ยวกับจิตวิทยาและระเบียบวิธีวิจัย การทำงานที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต เนื่องจากที่นี่เป็นสถาบันที่สอนทั้งวิชาชีวิตทางโลกและวิชาทางธรรมสำหรับพระสงฆ์และฆราวาส มหาวิทยาลัยแห่งนี้ทำให้ได้สร้างกุศลทุกวัน

“มีบทบาทเป็นทั้งอาจารย์และเป็นศิษย์ไปพร้อมๆ กัน เพราะในการทำงาน ทำให้มีโอกาสได้พบกัลยาณมิตรที่ดี คือ ครูบาอาจารย์ พระอาจารย์ ทั้งสายปฏิบัติและสายวิชาการ ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตมากยิ่งขึ้น การมีโอกาสเจอกัลยาณมิตรที่ดีทั้งทางโลกและทางธรรม ช่วยให้เรียนรู้ประสบการณ์ดีๆ มาช่วยเติมเต็มชีวิตของเรา”

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ เบรกชีวิตให้ช้าด้วยธรรม

สุดท้ายอยากฝากว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสั่งสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น แต่ยังทรงสอนเรื่องความสุข สอนเรื่องนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง. นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อมีหลักก็ปฏิบัติตามหลักทาน ศีล ภาวนา ทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้ อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และเพื่อความสุขที่แท้จริง