posttoday

เจตน์ เพชรกนกพราว อยากให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัย

14 กรกฎาคม 2561

“หยก” เจตน์ เพชรกนกพราว คนรุ่นใหม่วัยแค่ 25 ปี แต่รักในการทำงานเพื่อสังคมมานานหลายปี

โดย วรธาร ทัดแก้ว

“หยก” เจตน์ เพชรกนกพราว คนรุ่นใหม่วัยแค่ 25 ปี แต่รักในการทำงานเพื่อสังคมมานานหลายปี ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยกระทั่งเรียนจบ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีก็ยังทำงานในองค์กรที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคม

ปัจจุบันเป็นผู้จัดการสวนชีววิถี (Growing Diversity Park) หรือ GD Park อันเป็นสวนที่ตั้งขึ้นเป็นสำนักงานของมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BIOTHAI) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร การติดตามบทบาทบรรษัท และการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น โดยเขาเพิ่งเริ่มงานมาได้ประมาณ 1 เดือนเศษๆ เท่านั้น

“สวนชีววิถีเพิ่งตั้งมาไม่นาน มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ เป็นที่ตั้งของมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ตัวสวนประกอบด้วยสำนักงาน บุคลากรด้านต่างๆ ห้องประชุม ห้องฝึกอบรม มีพิพิธภัณฑ์เพื่อโชว์ความหลากหลายของพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้านที่หากินยาก ด้านนอกมีบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีแปลงผักเล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากเราต้องการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคงให้ประชาชนได้เข้าถึง

เจตน์ เพชรกนกพราว อยากให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัย

มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ห้องน้ำและทางลาด มีร้าน GD Shop&Cafe’ มีเมนูเครื่องดื่มสุขภาพที่คัดสรรอย่างดีและเน้นเรื่องราวแหล่งที่มาของวัตถุดิบ อาทิ เมล็ดกาแฟ นมสดออร์แกนิก ส้ม มะนาวปลอดสารเคมี น้ำผึ้งแท้จากชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ มีครัวทราย (Sand Kitchen) สำหรับเด็กๆ ได้เล่นสนุกสนาน

หน้าที่ผมคือทำให้สวนชีววิถีแห่งนี้สื่อสารความเป็นมูลนิธิชีววิถีออกมาให้ประชาชนได้รู้จักมากที่สุด ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของมูลนิธิที่ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม อย่างเช่นโครงการกินเปลี่ยนโลกที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้ โดยเรามีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอยู่ทั่วประเทศ”

เจตน์ กล่าวต่อว่า สวนชีววิถีถือเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้การเกษตรและอาหาร มีหลักสูตรให้ผู้สนใจเข้าร่วมมากมาย เช่น การทำดินปลูกสำหรับเกษตรในเมือง การคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ การปลูกผักพื้นบ้านสำหรับบริโภคในพื้นที่จำกัด การเรียนรู้วัตถุดิบที่มาของอาหาร การทำเวิร์กช็อปต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้มูลนิธิต้องการสร้างทางเลือกระบบการบริโภคอาหารให้เป็นระบบที่ยั่งยืนปลอดภัยกับผู้บริโภค

เจตน์ เพชรกนกพราว อยากให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัย

นี่คือหน้าที่การงานของเจตน์ในปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนชีวิตไปก่อนหน้านี้ จะรู้เลยว่าทำไมเขาถึงเลือกมาทำงานกับมูลนิธิชีววิถี ทั้งที่เมื่อพูดถึงความรู้ที่เรียนจบมา (จบเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล) สามารถทำงานอื่นที่ตรงกับสายงานหรือรับราชการได้สบาย แต่เขากลับเลือกมูลนิธิชีววิถี

“ที่เลือกชีววิถี เพราะผมทำงานจิตอาสามาตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย ตั้งชมรมจิตอาสาก็เป็นประธานชมรมและเป็นผู้ประสานงานทุกอย่างเวลาทำโครงการต่างๆ ไม่ว่าโครงการของมหาวิทยาลัย โครงการที่พวกเราทำกันเอง หรือร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น โครงการครูบ้านนอก เป็นครูอาสาสอนน้องๆ ชาวเขา พร้อมนำเอาของไปแจกก็ไปกันทุกปี ผมชอบที่จะทำและมีความสุขดี

ทว่า พอเรียนจบมุมมองในการทำจิตอาสาเปลี่ยนไปจากที่เคยทำ ผมมองว่าการเอาของไปแจกไม่ได้เกิดความยั่งยืน เรียนจบจึงขอคุณแม่ไปเป็นอาสาสมัครที่ จ.เชียงใหม่ ประมาณ 1 ปี ที่แรกไปอยู่สวนพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้การพึ่งพาตนเองในเรื่องปัจจัยสี่ของพี่โจน จันใด เรียนรู้การสร้างบ้าน การผลิตอาหารที่ปลอดภัย จากนั้นไปเป็นครูอาสาที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ พร้อมกับช่วยเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็น
ปกาเกอะญอทำโฮมสเตย์”

เจตน์ เพชรกนกพราว อยากให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัย

เจตน์เป็นคนที่มุ่งมั่นและตั้งใจสมชื่อ หลังได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากการเป็นอาสาสมัคร 1 ปี ก็เดินทางกลับบ้าน คิดถึงการทำงานตามสเต็ปของชีวิต แต่มุมมองในการทำงานของเขาน่าสนใจคือ ไม่อยากทำงานเพื่อมุ่งหวังเงินสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างเดียว แต่งานที่ทำนั้นควรต้องเป็นงานที่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสังคม

“การไปเป็นอาสาสมัครทำเกี่ยวกับการเกษตร ผมเห็นว่าเรื่องอาหารเป็นปัญหาใหญ่มากในสังคม เราไม่รู้หรอกว่าอาหารที่เรากินทุกวันมีการปนเปื้อนสารเคมี นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเลือกมูลนิธิชีววิถี เพราะมูลนิธินี้พยายามที่จะสร้างทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งให้ผู้บริโภคได้ตระหนักรู้ว่าอาหารที่คุณกินมันมีสารเคมีนะ

เพราะฉะนั้นคุณสามารถเลือกกินอาหารที่ไม่มีสารเคมีจากเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ หรือคุณสามารถปลูกผักปลอดสารพิษเองได้ อย่าลืมว่าทุกวันนี้คนเป็นมะเร็งเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากอาหาร” เจตน์ เล่าถึงการร่วมงานกับมูลนิธิชีววิถี