posttoday

เช็กจิตให้ดี ชีวีเป็นสุข

12 กรกฎาคม 2561

เรื่องราวความเครียดเป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่ความคิดจิตใจและความผ่องแผ้วของอารมณ์ความรู้สึก

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ จากภาพยนตร์ Saving Mr.Banks

เรื่องราวความเครียดเป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่ความคิดจิตใจและความผ่องแผ้วของอารมณ์ความรู้สึก สำคัญไม่แพ้ปัจจัยเรื่องความแข็งแรงทางร่างกาย สูงวัยแค่ไหนก็ได้ถ้าจิตและกายไปด้วยกันได้ หมายถึงมีสมรรถนะเต็มเปี่ยมและสามารถส่งพลังซึ่งกันและกันได้ ก็รับรองว่าชีวียืนยาวและเป็นสุขอย่างแท้จริง

รายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน กว่า 70% เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษา ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นผู้สูงอายุสูงถึง 29% คำถามที่เจาะลึกลงไป ก็คือ เราจะระแวดระวังบุคลากรสูงวัยหรือทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าของเราอย่างไร

7 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

1.ไม่ร่าเริง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

2.เบื่อหน่าย ทำอะไรก็ไม่สนุก (เรื่องที่เคยท้าทาย ก็มองเป็นน่าเบื่อ ไร้อารมณ์)

3.คิดว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การขยับเขยื้อนร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและทำได้ยาก ไม่อยากทำ ไม่คิดที่จะทำ

4.ไม่อยากพบหรือพูดคุยสนทนากับใคร

5.ไม่สามารถคิดพิจารณาหรือตัดสินใจในเรื่องใดๆ ได้ แม้เรื่องนั้นๆ จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

6.ขาดความอยากรู้อยากเห็น ไม่กระตือรือร้นต่อสิ่งใดๆ ไม่อยากรับรู้รับทราบสิ่งอันใดในชีวิตทั้งสิ้น

7.นั่งเหม่อลอย ใจลอย ปล่อยปละละเลยการดูแลตัวเอง บางคนนุ่งชุดนอนชุดเดียวเป็นเวลา 7 วัน

ใช้ 7 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าเป็นเกณฑ์ในการเฝ้าระวังอาการหรือความผิดปกติของตัวเอง หรือในกรณีที่เป็นญาติลูกหลานก็เฝ้าระวังผู้สูงวัยในบ้านด้วยการเช็กลิสต์ 7 สัญญาณเตือนดังกล่าว ถ้าพบอาการตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่ามีอาการของโรคซึมเศร้า ควรหาที่ปรึกษาหรือพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยแก้ไขปัญหาต่อไป

กรณีไม่พบสัญญาณเตือนถึง 4 ข้อก็ตาม แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจ ขอให้ติดตามอาการและเช็กเป็นระยะๆ หมั่นสังเกตตัวเองหรือหมั่นสังเกตผู้สูงวัยในบ้านบ่อยๆ ใช้หลักว่ารู้ก่อนรักษาก่อนดีที่สุด ที่สำคัญถ้าพบสัญญาณเตือน ก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง หมั่นพูดคุยเอาใจใส่ และอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียวตามลำพัง

บทความนี้ขอแถมให้กับหลักดูแลสุขภาวะทางกาย จิตและสังคมตามแนวพุทธธรรม เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงวัยได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆ เพื่อดูแลสุขภาพองค์รวมที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจแข็งแกร่งและอายุยืน

พระไพศาล วิสาโล แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สภาวะจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้อื่นมีผลต่อร่างกาย การรักษาที่เน้นเยียวยาแต่อวัยวะร่างกายเฉพาะส่วน โดยไม่สนใจปัจจัยด้านจิตและสังคมนั้น ย่อมเยียวยาโรคไม่หายขาด หรือแม้หายก็กลับจะเป็นซ้ำ

“ใครอยากปลอดโรคทั้งกายและใจ ขอให้ยึดหลักศรัทธาและสุขภาวะทางจิตที่ควบคู่ไปด้วย ความศรัทธาในศาสนา ทำให้คนสวดมนต์ เข้าวัด และประกอบกิจกรรมทางศาสนามากขึ้น ส่งผลให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย” พระไพศาล เล่า

งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่ง พบว่า ผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจที่มีความศรัทธาในศาสนาและทำกิจกรรมทางศาสนาควบคู่ไปกับการรักษาอาการป่วยไข้ทางร่างกาย มีอัตราการรอดชีวิตหลังผ่าตัดสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไปกว่า 2 ใน 3

นอกจากนี้ ก็ขอให้ความสำคัญกับมิตรภาพและสุขภาวะทางสังคม ความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นช่วยส่งเสริมร่างกายให้แข็งแรง

มีงานวิจัยที่สนับสนุนในเรื่องนี้ โดยเป็นงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ผู้วิจัยแบ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมออกเป็น 2 กลุ่ม ได้รับการรักษาเหมือนกันทุกประการ ต่างที่กลุ่มแรกมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และคอยช่วยเหลือกันตามโอกาส ทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ 90 นาที ต่อเนื่องนาน 1 ปี ขณะที่กลุ่มหลังไม่มีการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม

ผลปรากฏว่าอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มแรกมีสูงกว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่สองถึง 2 เท่า นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ผู้ป่วยในกลุ่มที่สองเสียชีวิตทุกคน

ถ้าอยากมีชีวิตยืนยาวก็ต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้รอบด้าน ทั้งกายใจและสุขภาวะทางสังคม รับรองว่าป้องกันโรคภัยได้ทุกรูปแบบ จิตใจดีชีวีเป็นสุข แถมยั่งยืนอีกต่างหาก