posttoday

โรงเรียนผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบโจทย์สังคมยุคนี้

11 กรกฎาคม 2561

หลายปีมานี้คำว่า “ผู้สูงอายุคุณภาพ” เป็นคำที่สังคมไทยมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากประเทศไทยมีการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

หลายปีมานี้คำว่า “ผู้สูงอายุคุณภาพ” เป็นคำที่สังคมไทยมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากประเทศไทยมีการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและสัดส่วนต่อประชากร หลายหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ จึงพยายามที่จะช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขและมีคุณค่าโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของสังคมและลูกหลาน

รร.ผู้สูงอายุ มธ.การตอบรับเกินคาด

สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเวลานี้อย่างน่าสนใจ โดยได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หรือโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมในทุกมิติของผู้สูงวัย โดยเปิดรับสมัครผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

เพิ่งเปิดอบรมไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นักเรียนมีทั้งหมด 2 รุ่น รุ่นแรกมี 57 คน เปิดเรียนวันที่ 11 มิ.ย. ณ ห้องอบรมสัมมนา ชั้น 2 สำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มธ.ศูนย์รังสิต ระยะเวลาการอบรม 25 วัน (11 มิ.ย.-3 ก.ย.) เรียนเฉพาะวันจันทร์และพฤหัสบดี ส่วนรุ่นที่ 2 เปิดวันที่ 13 มิ.ย. ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มธ.ท่าพระจันทร์ อบรม 25 วัน (13 มิ.ย.-7 ก.ย.) เรียนเฉพาะวันพุธและศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.

การเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุครั้งนี้ผู้สมัครเรียนมากกว่า 300 คน แต่สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์สามารถรับได้เท่าจำนวนที่กล่าวมา ทำให้ผู้สมัครที่เหลือคงต้องรอรอบหลัง ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนว่าจะเปิดได้อีกเมื่อไร เพราะการจัดโครงการใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แม้ผู้สมัครจะเสียค่าสมัคร 2,000บาท/คน (ค่าเอกสาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม อาหารกลางวัน การศึกษาดูงาน และวุฒิบัตร) ก็ตาม

โรงเรียนผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบโจทย์สังคมยุคนี้

หลักสูตร เน้นต้องรู้ ควรรู้และอยากรู้

เมื่อพลิกไปดูเนื้อหาการอบรมถือว่าครอบคลุมไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในสังคมเมือง แต่ผู้สูงอายุในชนบทก็สามารถนำไปแอพพลายได้ เรียน 25 วัน รวมทั้งสิ้น 106 ชั่วโมง ประกอบด้วย 3 ชุดการเรียน 3 มิติ

ชุดการเรียนรู้ที่ 1 เป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุ “ต้องรู้” ได้แก่ เรื่องสุขภาพ ซึ่งทุกคนก็จะได้เรียนวิชาต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพองค์รวมและการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้สูงอายุ โรคที่พึงระวังสำหรับผู้สูงอายุ โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ยาสมุนไพรไทยเพื่อผู้สูงอายุ และการฝึกกายภาพบำบัดเพื่อสุขภาพที่ดี

ชุดการเรียนรู้ที่ 2 เรื่องที่ผู้สูงอายุ “ควรรู้” จำนวน 21 ชั่วโมง สังคม เศรษฐกิจ การเงิน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วยวิชา เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น เกี่ยวกับการเขียนพินัยกรรม (พินัยกรรมมรดก/พินัยกรรมชีวิต) เศรษฐกิจพอเพียง การวางแผนด้านการเงิน สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ พระพุทธศาสนาและมิติศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาจิต การบำเพ็ญประโยชน์ (จิตอาสา) และเรียนประวัติศาสตร์

ชุดการเรียนรู้ที่ 3 สิ่งที่ผู้สูงอายุ “อยากรู้” มี 48 ชั่วโมง โดยมีกิจกรรมนันทนาการ 18 ชั่วโมง มีตาราง 9 ช่อง รำวง ลีลาศ ส่งเสริมอาชีพ 30 ชั่วโมง มีเรียนทำกระเป๋า การจักสาน การเกษตร เช่น ปลูกผักออร์แกนิก ทำเมนูอาหาร รวมถึงการศึกษาดูงาน และทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรม

โรงเรียนผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบโจทย์สังคมยุคนี้

เนื้อหาตรงใจบรรยากาศการเรียนเยี่ยม

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า ไม่คิดมาก่อนว่าการเปิดอบรมหลักสูตรครั้งนี้จะได้รับการตอบรับดีเกินคาดจากผู้สูงวัย มีคนสมัครมาเยอะ ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ เข้าใจว่าการที่คนสนใจอยากมาเรียนเพราะเชื่อมั่นในความเป็นธรรมศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นค่อนข้างครอบคลุมการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ มีทั้งเรื่องสุขภาพ การเงิน กฎหมาย จิตใจ จิตอาสา บันเทิง อาชีพ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ที่สำคัญอาจารย์ผู้ให้การอบรมล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ มีทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และข้างนอก  

“ทุกคนที่มาเรียนไม่ว่าที่ศูนย์รังสิต หรือท่าพระจันทร์ ล้วนแล้วแต่แฮปปี้ มีความสุข ยิ้มแย้ม สดใส ได้พบปะเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มีหลากหลายอายุ แต่พอมาเรียนด้วยกันชีวิตมีชีวาขึ้นมาทันที กลับไปบ้านลูกหลานถามมีความสุขไหม ตอบเป็นเสียงเดียวกันมีความสุข สนุกไม่เครียด บางคนถึงกับมาบอกว่าทำไมเปิดช้าจัง น่าจะเปิดตั้งนานแล้ว

ขณะบรรยากาศในห้องเรียนก็เป็นบรรยากาศที่มีแต่ความสนุกตามแบบฉบับผู้สูงวัย ไม่มีใครถือตัวถือตน บางท่านเป็นหม่อมราชวงศ์นะ แต่เป็นกันเอง ไม่ถือตัวเลย ทั้งผู้เรียนและอาจารย์สอน โดยอาจารย์จะเปิดโอกาสให้สอบถามเต็มที่ ใครมีเรื่องอะไรอยากถามถามได้เลย ซึ่งก็จะมีคนถามเยอะนะ ส่วนคนที่ไม่ได้ถามก็พลอยได้ความรู้ไปด้วย

ผมเองสอนเรื่องการเงิน หลายคนก็อยากรู้ว่าจะบริหารจัดการเงินอย่างไร บางคนถามถึงเรื่องการลงทุน แต่เราจะพยายามบอกว่าเงินที่เรามีควรเป็นเงินที่ใช้เพื่อการดูแลตัวเอง ถ้าเหลือยังไงค่อยให้ลูกหลาน แต่ไม่ใช่มีแล้วให้หรือจุนเจือลูกหลานหมด ต้องเก็บไว้ใช้สำหรับการดูแลตัวเองจะได้ไม่ลำบากลูกหลานที่ต้องมาดูแลเรา” ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ กล่าว

โรงเรียนผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบโจทย์สังคมยุคนี้

ดร.สันทณี เครือขอน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการสังคม สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ผู้สอนด้านกายภาพและการออกกำลังกาย กล่าวว่า ทุกวันที่เรียนก่อนเข้าสู่การเรียนวิชาต่างๆ เวลา 9 โมงไปจนถึง 10 โมง 1 ชั่วโมงอาจารย์จะสอนกายบริหารและการออกกำลังกายด้วยท่าต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติและนำไปทำที่บ้านได้  

“อย่างการเต้นลีลาศที่เพิ่งสอนไป ตา มือ เท้าต้องสัมพันธ์กัน การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 50 นาที/สัปดาห์ จะป้องกันการเสื่อมของสมองได้ บางคนเคยเต้นมาบ้างแต่บางคนไม่เคย พอได้ออกมาทำมันทำให้เขามีระบบสมองที่ดี เพราะการขยับแขนขยับขาให้สัมพันธ์กันนั้นอยู่ในการควบคุมของสมอง เต้นแล้วมีความสนุก ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร”

ดร.สันทณี กล่าวต่อว่า กล้าพูดได้เลยว่าทุกคนที่มาเรียนมีความสุขและประทับใจ บางคนได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น กฎหมายมรดก การเขียนพินัยกรรมเขียนอย่างไรไม่ให้ลูกทะเลาะกัน หลายคนไม่รู้หรือพินัยกรรมชีวิตก็จำเป็น เวลาเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลไม่อยากให้หมอทำกับอวัยวะส่วนไหนของตัวเองก็สามารถเขียนระบุไว้ในพินัยกรรมชีวิต ซึ่งการเขียนต้องถูกต้องไม่อย่างนั้นหมอไม่เชื่อ

“ทั้งหมดมีสอนและทุกคนอยากรู้ นอกจากนี้เรายังมีวิชาจิตอาสาเพื่อสังคมด้วย คือ ผู้สูงอายุมีจิตใจอยากช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว เราก็ให้เขาแบ่งกลุ่มไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมกัน อยากทำอะไรคุยกันเองในกลุ่มว่าจะทำอะไรแล้วก็มาแชร์กัน บางกลุ่มรณรงค์การลดขยะ บางกลุ่มซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาล บางกลุ่มไปทำกิจกรรมและมอบของใช้ให้กับบ้านพักคนชรา บางกลุ่มให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่ยากจน เป็นต้น”

โรงเรียนผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบโจทย์สังคมยุคนี้

ความรู้สึกจากใจผู้เรียน

ไพบูลย์ คุนผลิน อายุ 64 ปี รองผู้อำนวยการ บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย (วินาศภัย) ควงภรรยามาเรียนด้วยกันโดยลูกๆ อยากให้มาเรียนด้วย เปิดเผยว่า ตอนที่มาสมัครเรียนก็ไม่รู้ว่าบรรยากาศการเรียนเป็นแบบไหน แต่พอเรียนวันแรกก็ได้เพื่อนใหม่ เห็นวิชาที่เปิดสอนก็ชอบเลย พอเรียนไปเรื่อยๆ ได้ความรู้มากมายที่ไม่เคยรู้และไม่เคยสนใจมาก่อน เช่น เรื่องพินัยกรรมชีวิต ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีและเราสามารถเขียนขึ้นมาเองได้ หรือการวางแผนด้านการเงิน โภชนาการ เป็นต้น

“ผมอยู่พหลโยธินขับรถมาแต่เช้ากับภรรยา มาเรียนด้วยกัน วันแรกก็ประทับใจ ตอนเช้าอาจารย์พาออกกำลังกาย ยืดเส้น ยืดสาย บริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น แขน ขา ไหล่ ศีรษะ เมื่อก่อนเอามือแตะปลายเท้าลำบากมาก ทุกวันนี้สบายเลย อาจารย์สอนเป็นกันเอง ทุกคนที่มาเรียนอัธยาศัยดี สิ่งที่เรียนแล้วนำไปปฏิบัติได้เลย คือ การรับประทานอาหาร เมื่อก่อนอยากกินอะไรจัดเลย แต่พอมาเรียนทำให้เรามีสติในการกินมาก ถึงอยากแต่ก็ต้องรู้จักอด เช่น ขาหมูที่ชอบกินก็เพลาๆ ลง”

ไพบูลย์ฝากไปยังผู้สูงวัยทั้งหลายว่าอย่าประมาทในชีวิต ควรต้องเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพได้แล้ว อีกหน่อยประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ถ้าถึงวันนั้นไม่เตรียมตัวพวกเราอาจจะเป็นภาระให้กับประเทศ สังคมและลูกหลาน เพราะฉะนั้นถ้าเปิดรุ่นต่อไปอยากให้มาเรียนจะได้นำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิต

ชนิดา เกตุเอม อายุ 66 ปี นักบัญชีและนายกสมาคมสำนักงานบัญชีและกฎหมาย  เผยว่าชีวิตทุกวันนี้ก็มีพร้อมทุกอย่างไม่ได้เดือดร้อน แต่ที่มาเรียนเพื่ออยากมาฟังประสบการณ์เรื่องราวต่างๆ ของผู้สูงอายุคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำงานแล้วว่าอยู่หรือใช้ชีวิตอย่างไร เพราะปัจจุบันตัวเองยังทำงานอยู่แต่ว่าต่อไปเมื่อถึงเวลาก็คงต้องหยุดพักเหมือนกัน

“ประทับใจที่โครงการนี้ตอบโจทย์ผู้สูงวัยได้ดีมาก ได้ความรู้มากมาย เช่น การออกกำลังกาย เรื่องการใช้ยา เรื่องสุขภาพมันสามารถเติมเต็มชีวิตผู้สูงวัยได้ ที่สำคัญได้นำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อเพื่อนๆ จนหลายคนอยากมาเรียนด้วย บางคนถึงกับบ่นทำไมไม่ชวนไปเรียนด้วยกันแต่แรก”

ปิดท้ายด้วย แววดาว มหัธนสกุล อายุ 73 ปี เจ้าของธุรกิจร้านเหล็ก กล่าวว่า ประทับใจหลายอย่างโดยเฉพาะการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่เปิดให้แต่ละกลุ่มไปทำ รู้สึกดีที่ได้ทำและมีความสุข โดยกลุ่มของตัวเองที่มีสมาชิก 13 คน จะรวบรวมเงินไปทำบุญให้กับโรงพยาบาลศิริราชในการสร้างตึกของโรงพยาบาลในวันที่ 11 ก.ค.นี้