posttoday

‘ฤดูฝน’ เพิ่มเสี่ยงต่อคนเป็นโรคเบาหวาน ดูแลเอาใจใส่ ‘เท้า’ ให้มากยิ่งขึ้น

07 กรกฎาคม 2561

ฤดูฝน เป็นฤดูกาลที่มีฝนตกตลอดทั้งเดือน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.จนถึงเดือน ต.ค.ของ ประเทศไทย

เรื่อง : โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

ฤดูฝน เป็นฤดูกาลที่มีฝนตกตลอดทั้งเดือน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.จนถึงเดือน ต.ค.ของ ประเทศไทย

หน้าฝนช่วยขจัดสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองภายในอากาศด้วย ทำให้เชื้อโรคที่ถูกชะล้างจะมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนตกค้างตามที่ต่างๆ ได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอาจจะมองข้ามความสะอาดและไม่ค่อยระมัดระวังตัวเอง หากเป็นแผลที่เท้าจากการเดินลุยน้ำ ความอับชื้นที่เกิดขึ้นจากเชื้อโรคที่เท้า ส่งผลให้แผลหายช้าและหายยากมากขึ้น

ผู้ป่วยที่ละเลยเข้ารับการรักษา แผลที่เท้าเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญ อาจนำไปสู่การตัดขาในที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเส้นประสาทที่เท้ามักถูกทำลาย จึงมักไม่รู้สึกเจ็บปวดจากแผล เพราะเท้าชาไม่มีความรู้สึกเหมือนคนปกติ

ข้อมูลจากศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยข้อมูลว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย เนื่องจากเส้นประสาทปลายเสื่อม ผิวหนังบริเวณส่วนขาแห้งคัน เกิดการเกา มีแผลแตกและติดเชื้อได้ง่าย หรือเมื่อความรู้สึกที่เท้าลดลง ขณะเดินก็จะเกิดแผลได้ง่าย จะรู้ตัวอีกทีแผลก็ติดเชื้อลุกลามไปมาก ยากต่อการรักษาแล้วบางคนถึงกับต้องตัดขา

ยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานนานกว่า 25 ปี ขึ้นไปมีโอกาสต้องถูกตัดขาสูงถึงร้อยละ 11 จากการเกิดแผลที่เท้า

ปัจจัยที่นำไปสู่การตัดขาในผู้ป่วยเบาหวาน คือภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงเท้า ความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายไปยังบริเวณเท้า การติดเชื้อที่เท้า ภาวการณ์หายของแผลผิดปกติหรืออุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า

เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีฝนตกบ่อย และมีพื้นที่เปียกน้ำและชื้นแฉะทั้งบริเวณบ้านและด้านนอกบ้าน ผู้เป็นเบาหวานอาจเดินเหยียบน้ำโดยไม่ได้ระมัดระวัง บางครั้งเป็นน้ำขังที่สกปรกทำให้เล็บและเท้าเปรอะเปื้อนโดยไม่ได้ดูแลทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งดีพอ สิ่งสกปรกเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อและเป็นแผลบริเวณเล็บและเท้าได้

แนะ 6 เทคนิคดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีวิธีป้องกัน คือ 1.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ดีหรือปกติ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นกับผู้เป็นเบาหวาน เช่น โรคไต ประสาทตาเสื่อม เส้นประสาทรับความรู้สึกเสื่อม และควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ประมาณ 1 ชั่วโมง อีกทั้งควรงดการสูบบุหรี่ เพราะจะไปทำลายเส้นเลือด

2.สวมใส่รองเท้าสบายๆ ควรเลือกใช้รองเท้าที่มีรูปทรงลักษณะเช่นเดียวกับเท้า รองเท้าจะต้องนิ่ม ด้านบนทำด้วยหนัง ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป จนเกิดการเสียดสีเป็นแผล หรือทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

รองเท้าที่สวมใส่ควรช่วยให้น้ำหนักตัวกระจายลงทั่วๆ เท้าและในช่วงฤดูฝนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำลุยโคลน หากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบู๊ตหรือรองเท้าหุ้มส้นเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าเปียกน้ำ

3.ดูแลรักษาเท้าอย่างดีทุกวัน หมั่นตรวจเท้าดูบริเวณซอกนิ้วเท้า หลังเท้า และฝ่าเท้า เป็นประจำทุกวันว่ามีอาการปวดบวม มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสีหรือเม็ดพอง โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้าส้นเท้า หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

ตรวจว่ามีรอยแตกย่นหรือไม่ ถ้าผิวแห้งอาจทำให้คัน หากมีการเกาจะเกิดรอยแตกติดเชื้อได้ง่าย ให้ทาครีมบางๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ควรเดินเท้าเปล่าเพราะอาจเหยียบของมีคมได้ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลที่เท้า

4.สังเกตเชื้อราที่เล็บ ผู้เป็นเบาหวานมักเกิดเชื้อราที่เล็บได้ง่าย ดังนั้นควรตรวจดูสภาพเล็บอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเกิดเชื้อราขึ้นควรไปพบแพทย์หรือทำการรักษา

5.ล้างเท้า ทำความสะอาดเล็บและเท้าด้วยสบู่อ่อนๆ ธรรมดาและใช้ผ้าซับเท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้ง เพื่อป้องกันการอับชื้นหรือเชื้อรา

6.ตัดเล็บ ควรตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ และควรตัดเล็บเท้าลักษณะปลายตรงให้สั้นพอประมาณโดยไม่ตัดเข้ามุมเล็บเพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบได้ แต่หากมีเล็บขบควรปรึกษาแพทย์

ในส่วนของผู้เป็นเบาหวานที่เป็นผู้สูงอายุควรมีญาติหรือพยาบาลเฉพาะทางเป็นผู้ตัดเล็บให้ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีสายตามัวลง ทำให้ขาดความแม่นยำในการตัดเล็บด้วยตนเอง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดแผลที่เล็บและเท้า และเป็นสาเหตุของการสูญเสียอวัยวะส่วนนิ้วและเท้าได้